วิกฤติ ‘ข้อมูลล้น’ เปิดช่อง ‘แรนซัมแวร์’ โจมตีองค์กร

วิกฤติ ‘ข้อมูลล้น’ เปิดช่อง ‘แรนซัมแวร์’ โจมตีองค์กร

องค์กรจำนวน 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยมีประสบการณ์จากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ ขณะนี้ธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการปกป้องข้อมูล

ผลสำรวจดัชนี “การปกป้องข้อมูลทั่วโลก” ของ “เดลล์ เทคโนโลยีส์” ประจำปี 2564 (2021 Global Data Protection Index หรือ GDPI) เผยว่า องค์กรธุรกิจต่างกำลังเผชิญกับความท้าทายด้านการปกป้องข้อมูลที่เกิดจากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเกิดใหม่อย่างแอพพลิเคชันที่ทำงานบนคลาวด์ คอนเทนเนอร์ และเอไอ

สอดคล้องตามผลสำรวจล่าสุดจากไอดีซีที่ระบุว่า มีองค์กรจำนวน 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยมีประสบการณ์จากการโจมตีด้วยแรนซัมแวร์ หรือช่วงโหว่ที่ปิดกั้นการเข้าถึงระบบงานหรือข้อมูลภายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา กล่าวได้ว่าองค์กรต้องรับมือกับภัยคุกคามที่มีจำนวนเพิ่มขึ้น และดูเหมือนว่าจะเป็นปัญหาที่ยากจะหลีกเลี่ยง

โดยหลังจากนี้ แรนซัมแวร์และการโจมตีทางไซเบอร์รูปแบบอื่นๆ ยังคงพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องก้าวให้เร็วให้ทันภัยคุกคามเหล่านี้ด้วยการใช้นวัตกรรม

‘เวิร์คฟรอมโฮม’ เพิ่มความเสี่ยง

นพดล ปัญญาธิปัตย์ กรรมการผู้จัดการประจำประเทศไทย เดลล์ เทคโนโลยีส์ กล่าวว่า ยุคที่ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีจำนวนมากขึ้น ธุรกิจองค์กรก็ยิ่งมีเดิมพันที่สูงขึ้น ขณะเดียวกันความซับซ้อนในการบริหารจัดการก็เพิ่มมากขึ้นกว่าที่ผ่านมา

ปัจจุบัน สองในสามของธุรกิจผู้ตอบแบบสำรวจจากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นมีความกังวลว่า มาตรการด้านการปกป้องข้อมูลขององค์กรเท่าที่มีอยู่อาจจะไม่เพียงพอต่อการรับมือกับภัยคุกคามจากมัลแวร์และแรนซัมแวร์ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ต้องเวิร์คฟรอมโฮมซึ่งได้เพิ่มความเสี่ยงด้านภัยคุกคามและการสูญเสียข้อมูล

ผลการศึกษาเผยให้เห็นว่า องค์กรจำนวนมากกำลังต้องต่อสู้กับการเติบโตของข้อมูลอย่างต่อเนื่องและความซับซ้อนด้านการปกป้องข้อมูลที่เพิ่มมากขึ้น องค์กรทั่วโลกกำลังบริหารจัดการปริมาณข้อมูลที่เพิ่มจาก 5 ปีก่อนถึงกว่า 10 เท่า จากปริมาณข้อมูล 1.45 เพตะไบต์ ในปี 2559 เพิ่มเป็น 14.6 เพตะไบต์ในปี 2564

นอกจากนี้ 82% ทั่วโลก และ 72% ในเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น มีความกังวลว่าโซลูชั่นด้านการปกป้องข้อมูลที่มีอยู่ในองค์กรจะไม่สามารถรับมือกับความท้าทายด้านธุรกิจทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้

โดยพบว่าจากความกังวลเหล่านี้ 33% ขององค์กรทั่วโลก และ 38% ในเอเชียแปซิฟิก มีการรายงานถึงการสูญหายของข้อมูลในปีที่ผ่านมา และ 45% ขององค์กรทั่วโลก กับ 42% ในเอเชียแปซิฟิก เคยมีประสบการณ์เรื่องการดาวน์ไทม์ของระบบแบบที่ไม่ได้วางแผนล่วงหน้า

'ข้อมูลหาย' สูญเงินเพิ่ม 4 เท่า

ผลการศึกษาชี้ว่า องค์กร 62% ทั่วโลก และ 68% จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น กังวลว่ามาตรการด้านการปกป้องข้อมูลที่มีอยู่อาจไม่เพียงพอต่อการรับมือกับการโจมตีจากมัลแวร์และแรนซัมแวร์ ขณะที่ 74% ทั่วโลก และ 72% จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เห็นพ้องต้องกันว่าอัตราการขยายตัวของพนักงานที่ทำงานจากที่บ้านเพิ่มขึ้น ทำให้เกิดความเสี่ยงที่ข้อมูลจะสูญหายจากภัยคุกคามทั้งมัลแวร์และแรนซัมแวร์มากขึ้น

ที่น่าสนใจ 67% ทั่วโลก และ 67% จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ไม่มั่นใจว่าจะสามารถกู้คืนข้อมูลสำคัญทางธุรกิจทั้งหมดได้ ในกรณีที่เกิดการโจมตีทางไซเบอร์อย่างรุนแรง หรือข้อมูลสูญหาย มีองค์กร 63% ทั่วโลก และ 64% จากเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น เชื่อว่าเทคโนโลยีเกิดใหม่ เช่นแอพพลิเคชั่นที่ทำงานบนคลาวด์ คอนเทนเนอร์ เอไอ และแมชีนเลิร์นนิ่ง จะทำให้เกิดความเสี่ยงด้านการปกป้องข้อมูล

โดยการขาดโซลูชั่นด้านการปกป้องข้อมูลสำหรับเทคโนโลยีใหม่เป็นหนึ่งในสามของความท้าทายหลักด้านการปกป้องข้อมูลสำหรับองค์กร

สำหรับค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยของการสูญหายของข้อมูลภายใน 12 เดือนที่ผ่านมาพบว่าสูงขึ้นถึง 4 เท่า โดยเฉพาะสำหรับองค์กรที่ใช้โซลูชั่นด้านการปกป้องข้อมูลจากผู้จำหน่ายหลายราย เมื่อเทียบกับองค์กรที่ใช้แนวทางจากผู้จำหน่ายเพียงรายเดียวที่มอบการปกป้องข้อมูลได้อย่างสมบูรณ์และยืดหยุ่นมากกว่า

ข้อมูลโดยเอ็นทีที เผยว่า ตรวจพบเหตุการณ์คุกคามจากแรนซัมแวร์เพิ่มขึ้น 50 %ในปี 2563 และการคุกคามอื่นๆ ที่เพิ่มเกือบ 100% ในปี 2564

สำหรับเดลล์ ได้ขยายฐานการให้บริการด้านการปกป้องข้อมูลและสายผลิตภัณฑ์ด้านโซลูชั่นที่ให้ความยืดหยุ่นในการรับมือกับการโจมตีทางไซเบอร์ ด้วยซอฟต์แวร์และบริการใหม่ต่อเนื่อง