"ซีดีเทค" ส่งนวัตกรรมบำบัดน้ำ หนุน "เน็ต ซีโร่" ภาคอุตฯ

"ซีดีเทค" ส่งนวัตกรรมบำบัดน้ำ หนุน "เน็ต ซีโร่" ภาคอุตฯ

สถานการณ์ในปัจจุบันการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ทั่วโลกมีเพียง10-15% เท่านั้น ประเทศต่างๆจึงออกนโยบาย เป้าหมายเพิ่มอัตราการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้อุตสาหกรรมบำบัดน้ำโตอย่างก้าวกระโดด "ZDTech" จึงนำเสนอ เทคโนโลยีที่ทำให้ต้นทุนการบำบัดน้ำถูกลง และลดการใช้สารเคมี

ตอบโจทย์ความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการโรงงานที่กำลังมุ่งสู่ Net Zero ด้วยเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า Electro-Water-Separation Technology ในการบำบัดน้ำเสียที่จะทำให้ “น้ำทิ้งเป็นศูนย์” โดยน้ำทุกหยดในกิจกรรมโรงงานสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ 100% อย่างปลอดภัย

เปลี่ยนน้ำทิ้งเป็นศูนย์

ยศสิริ หล่อพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีดีเทค จำกัด เล็งเห็นความต้องการระบบบำบัดน้ำที่มีประสิทธิภาพสูงในตลาด เนื่องจากการกำจัดสารละลายหรือสิ่งตกค้างในน้ำด้วยวิธีอื่นๆ อาจจะต้องใช้เคมีในการตกตะกอน ใช้วัสดุสิ้นเปลืองหรือต้องลงทุนระบบใหญ่ ทำให้เกิดภาระด้านต้นทุน ขณะเดียวกันบ่อยครั้งน้ำที่บำบัดไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน

ซีดีเทคจึงคิดค้นระบบที่สามารถช่วยลดขั้นตอนการบำบัด กำจัดโลหะหนักและสารปนเปื้อน พร้อมทั้งยังฆ่าเชื้อโรคได้ในขั้นตอนเดียว ตอบโจทย์ลูกค้าด้านการบริหารต้นทุน และการลงทุน ผ่านการทดสอบหลายครั้งจากตัวอย่างน้ำเสียหลายรูปแบบของโรงงานหลายแห่ง

เทคโนโลยี Electro-Water-Separation Technology เป็นระบบบำบัดน้ำเสียด้วยไฟฟ้า ใช้ขั้วโลหะนำไฟฟ้าเพื่อแยกโมเลกุลน้ำ ก่อให้เกิดปฏิกิริยากับสารละลายและสิ่งสกปรกต่างๆ ในน้ำ จนเกิดการตกตะกอนของสิ่งเจือปนเหล่านี้ในทันที ตะกอนเหล่านี้สามารถถูกกำจัดออกได้โดยง่าย โดยการกรองหยาบและปราศจากเชื้อโรค ทำให้สามารถนำน้ำมาใช้ใหม่ได้

ระบบดังกล่าวช่วยลดขั้นตอนและต้นทุนในการบำบัด และส่งเสริมการบำบัดน้ำเพื่อนำมาใช้ใหม่โดยมีน้ำทิ้งเป็นศูนย์ ใช้บำบัดน้ำได้หลากหลายอุตสาหกรรมซึ่งรวมถึงน้ำทิ้งที่ปนเปื้อนสารโลหะหนัก เช่น น้ำเสียจากอาคารพาณิชย์ การพิมพ์ฟอกย้อม น้ำล้างเหล็ก อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม และการบำบัดน้ำบาดาลและน้ำธรรมชาติ เพื่อใช้ในครัวเรือน เป็นต้น

ทั้งนี้ เทคโนโลยีบำบัดน้ำมีความสำคัญ และความต้องการของตลาดเป็นอย่างมาก โดยทั่วไปมีระบบการบำบัดอยู่หลายประเภท แต่ละประเภทมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เช่น ระบบจุลินทรีย์มีค่าใช้จ่ายต่อหน่วยค่อนข้างต่ำ แต่ไม่สามารถใช้บำบัดน้ำเสียบางประเภทได้ รวมทั้งอาจใช้พื้นที่มาก และต้องอาศัยความชำนาญในการจัดการ เพราะโดยปกติแล้วต้นทุนการบำบัดน้ำเสียบางประเภท โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใช้เคมีโลหะหนักปนเปื้อนค่อนข้างมีราคาแพง อย่างค่าสารเคมีบำบัด ซึ่งยังไม่รวมค่าปรับหากคุณภาพน้ำเกินค่ามาตรฐาน

ดังนั้น นวัตกรรมบำบัดน้ำของบริษัทฯ แยกตะกอนด้วยไฟฟ้าคือการทำให้สิ่งเจือปนที่อยู่ในน้ำ ซึ่งรวมถึงหินปูน โลหะหนักต่างๆ ทำให้จัดการได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนในการบำบัด ช่วยให้ผู้ผลิตบำบัดน้ำได้ตามมาตรฐาน และยังจูงใจให้ผู้ประกอบการลงทุนเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่

ลดต้นทุน-การใช้เคมี

ภาพรวมการแข่งขันในอุตสาหกรรมบำบัดน้ำ เธอมองว่า ตลาดของเทคโนโลยีการบำบัดค่อนข้างกระจายตัว ไม่มีผู้นำที่ชัดเจน ในแต่ละอุตสาหกรรมมีความต้องการเทคโนโลยีต่างกันตามประเภทน้ำเสีย แต่การใช้ไฟฟ้าในการบำบัดซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่จึงได้รับความสนใจมากขึ้น

“บิซิเนสโมเดลและที่มาของรายได้มาจากการจำหน่ายระบบบำบัดฯ ผ่านผู้รับเหมาหรือผู้ใช้โดยตรง รวมทั้งการให้บริการโดยคิดค่าใช้จ่ายตามปริมาณน้ำเสียในรูปแบบ Build-Own-Operate: BOO”

ทั้งนี้ ความท้าทายทั้งในมุมของการพัฒนานวัตกรรม และการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ยศสิริ มองว่า ธุรกิจนวัตกรรมทางวิศวกรรมต้องใช้เงินทุนสูง เพื่อสร้างต้นแบบและการพัฒนาระบบเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโรงงานอุตสาหกรรม ความเชื่อถือและ track record จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ในระยะแรกจะต้องอาศัยเวลาในการลองผิดลองถูก และเฟ้นหากลุ่มลูกค้าที่เหมาะสมกับนวัตกรรม ทำให้การพัฒนาระบบและนวัตกรรมอาจจะไม่ตรงจุดและใช้ทรัพยากรอย่างมากในช่วงแรก ดังนั้นสิ่งสำคัญจึงอยู่ที่ความอดทนและการบริหารจัดการทางด้านการเงิน

รุกขยายตลาดผ่านโปรไฟล์

สิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสเกล และทำให้ธุรกิจยั่งยืน คือ การสร้างการอ้างอิง เพื่อให้เกิดการใช้จริงและการต่อยอดในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่ง จะช่วยให้ลูกค้ามีความมั่นใจในเทคโนโลยีมากขึ้น รวมทั้งการหาเครือข่ายของนักลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อช่วยในการขยายธุรกิจการให้บริการบำบัดน้ำเสีย

สำหรับแผนการในอนาคตนั้น ในระยะสั้นจะเน้นขยายตลาดในกลุ่มธุรกิจที่บริษัทมีโปรไฟล์อยู่แล้วให้เติบโตมากขึ้น อีกทั้งบริษัทกำลังสร้างแนวทางการดำเนินงานและการขับเคลื่อนโครงการสำคัญในอุตสาหกรรมชุบเหล็ก คาดว่าในอนาคตจะขยายสู่กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งมีความตั้งใจที่จะขยายตลาดสู่ต่างประเทศอีกด้วย

ขณะเดียวกันจากการที่บริษัทได้เข้าร่วมโครงการ Angel Fund Thailand 2021 โดยกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ร่วมกับ บริษัท เดลต้า อิเลคทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และได้รับทุนสนับสนุน จะนำไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีให้ตอบสนองการใช้งานได้ดีขึ้น เพราะมองว่าการพัฒนาในเรื่องของการจัดการด้านการบริหารจัดการข้อมูลแบบเรียลไทม์ และการสั่งงานผ่านเทคโนโลยีไอโอที จะช่วยให้ข้อมูลแก่บริษัทในการปรับปรุงการทำงานของเทคโนโลยีได้เป็นอย่างดี