'น้ำเสียดื่มได้' วงจร ‘สิงคโปร์’ รักษ์โลก

'น้ำเสียดื่มได้' วงจร ‘สิงคโปร์’ รักษ์โลก

ภายใต้ภาวะขาดแคลนทรัพยากรธรรมชาติ ประเทศเล็กๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างสิงคโปร์กลับพัฒนาก้าวหน้ากว่าเพื่อนร่วมภูมิภาค แม้แต่เรื่องของการใช้น้ำก็ไปไกลกว่าที่อื่น

แทบไม่น่าเชื่อว่า ปั๊มน้ำยักษ์ฝังอยู่ใต้ดินลึก ณ โรงงานแห่งหนึ่งในสิงคโปร์จะช่วยเปลี่ยนน้ำเสียเป็นสะอาดถึงขนาดมนุษย์ดื่มได้ พร้อมๆ กับช่วยลดมลพิษในทะเล 

เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศเกาะเล็กๆ แห่งนี้มีทรัพยากรน้ำจากธรรมชาติเพียงน้อยนิด จำต้องพึ่งพาน้ำจากเพื่อนบ้านมาเลเซียมาอย่างยาวนาน แต่เพื่อเพิ่มการพึ่งพาตนเอง รัฐบาลสิงคโปร์พัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียทันสมัยที่ต้องใช้เครือข่ายอุโมงค์และโรงบำบัดไฮเทค

ขณะนี้น้ำเสียผ่านการบำบัดแล้วสามารถตอบสนองความต้องการน้ำของสิงคโปร์ได้ถึง 40% คาดว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็น 55% ภายในปี 2603

แม้น้ำเหล่านี้ส่วนใหญ่ใช้ไปเพื่อวัตถุประสงค์ด้านอุตสาหกรรม แต่บางส่วนก็ป้อนให้กับอ่างเก็บน้ำเพื่อจัดทำน้ำดื่มในประเทศที่มีประชากร 5.7 ล้านคน และระบบนี้ยังช่วยลดการปล่อยมลพิษลงทะเลเนื่องจากน้ำผ่านการบำบัดแล้วที่ถูกปล่อยทิ้งลงทะเลมีปริมาณเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ช่างตรงข้ามกับประเทศส่วนใหญ่ สหประชาชาติประเมินว่า 80% ของน้ำเสียทั่วโลกไหลลงสู่ระบบนิเวศโดยปราศจากการบำบัดหรือนำไปใช้ซ้ำ

“สิงคโปร์ไม่มีทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่ก็มีจำกัด นี่คือเหตุผลว่าทำไมเราจึงมักหาทางสำรวจทรัพยากรน้ำและขยายแห่งน้ำสำรองอยู่เสมอ” โลว์ เป้ย จิน หัวหน้าวิศวกรแผนกปรับปรุงน้ำ คณะกรรมาการสาธารณูปโภคกล่าวกับสำนักข่าวเอเอฟพี ระบุ ยุทธศาสตร์หนึ่งคือ “เก็บน้ำทุกหยด แล้วนำมาใช้ใหม่ไม่จบไม่สิ้น”

การนำน้ำบำบัดแล้วมาใช้ซ้ำเป็นการเพิ่มเติมจากยุทธศาสตร์หลักในการจัดหาน้ำของประเทศ นั่นคือการนำเข้าน้ำ ใช้อ่างเก็บน้ำ และนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด

หัวใจของระบบรีไซเคิลน้ำอยู่ที่โรงหมุนเวียนน้ำชางงีที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง ตั้งอยู่ชายฝั่งตะวันออกของประเทศ หลายส่วนของโรงงานตั้งอยู่ใต้ดินเพราะสิงคโปร์หาที่ดินยาก บางแห่งลึกเท่าตึก 25 ชั้น รับน้ำเสียจากอุโมงค์ขนาดใหญ่มหึมายาว 48 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อกับท่อระบายน้ำ

ในอาคารหลังหนึ่งมีการติดตั้งระบบระบายอากาศเพื่อให้อากาศสดชื่น แต่กลิ่นเหม็นยังคงอบอวล

โรงงานแห่งนี้ประกอบด้วยท่อเหล็ก ท่อพลาสติก ถัง ระบบกรองน้ำ และเครื่องจักรอื่นๆ จำนวนมาก สามารถบำบัดน้ำเสียได้มากถึงวันละ 900 ล้านลิตร มากพอเติมสระว่ายน้ำขนาดแข่งโอลิมปิกตลอด 24 ชั่วโมงได้นาน 1 ปี

น้ำเสียเมื่อเข้ามาถึงโรงงานจะต้องผ่านกระบวนการกรองเบื้องต้น จากนั้นปั๊มพลังแรงส่งน้ำเข้าไปยังโรงงานเหนือพื้นดินเพื่อบำบัดขั้นต่อไปทำให้น้ำสะอาดยิ่งขึ้นไปอีก สิ่งสกปรกอย่างเชื้อแบคทีเรียและไวรัสถูกขจัดออกไปด้วยกระบวนการกรองขั้นสูง แล้วฆ่าเชื้อด้วยรังสีอัลตราไวโอเล็ต

ผลผลิตสุดท้ายที่ชื่อว่า “เอ็นอีวอเตอร์” ส่วนใหญ่นำไปใช้ในโรงงานผลิตไมโครชิพ ซึ่งมีอยู่มากมายในสิงคโปร์และต้องการน้ำคุณภาพสูง นอกจากนี้เอ็นอีวอเตอร์ยังใช้สำหรับระบบทำความเย็นในอาคาร รวมถึงช่วยเพิ่มปริมาณน้ำดื่มสำรอง ระหว่างฤดูแล้งน้ำเหล่านี้จะถูกส่งไปเติมอ่างเก็บน้ำที่มนุษย์สร้างขึ้นหลายแห่ง เมื่อผ่านการบำบัดเพิ่มเติมแล้วก็ส่งเข้าสู่ระบบประปาให้ประชาชน

ขณะนี้สิงคโปร์กำลังขยายระบบรีไซเคิล เตรียมเพิ่มอุโมงค์ใต้ดินพิเศษและโรงงานหมุนเวียนน้ำใหญ่อีกหนึ่งแห่ง รองรับส่วนตะวันตกของเกาะที่จะแล้วเสร็จภายในปี 2568 โดยต้องใช้งบประมาณปรับปรุงระบบบำบัดน้ำ 1 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์

ปัจจัยสำคัญอันหนึ่งที่สิงคโปร์ต้องพึ่งตัวเองในเรื่องนี้คือการเคยมีเรื่องบาดหมางกับแหล่งน้ำหลักอย่างมาเลเซียมาแล้วเมื่อครั้งอดีต

ความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนบ้านสองประเทศดุเดือดมาตั้งแต่มาเลเซียขับสิงคโปร์ออกจากสหพันรัฐมลายาในปี 2508 ทั้งๆ ที่เพิ่งรวมตัวกันมาได้ไม่นาน และมีข้อพิพาทเรื่องน้ำกันบ่อยครั้ง

สเตฟาน เวิร์ตซ อาจารย์ด้านวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยางของสิงคโปร์ ย้ำถึงความสำคัญที่ประเทศอื่นต้องบำบัดน้ำเสียให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วต้องเจอผลกระทบระยะยาว

“น้ำบนโลกนี้มีจำกัด ถ้าเราทำให้น้ำจืดบนโลกนี้ปนเปื้อน วันใดวันหนึ่งอาจไปถึงจุดที่การบำบัดน้ำต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงมหาศาล” นักวิชาการรายนี้กล่าวอย่างกังวลถึงอนาคต