"ไอบีเอ็ม" ประกาศพัฒนา "ทักษะดิจิทัล 30 ล้านคนทั่วโลก" รวม "ไทย" ภายในปี 2573

"ไอบีเอ็ม" ประกาศพัฒนา "ทักษะดิจิทัล 30 ล้านคนทั่วโลก" รวม "ไทย" ภายในปี 2573

ไอบีเอ็ม ประกาศความมุ่งมั่นและแผนสำคัญระดับโลกในการ "สร้างทักษะดิจิทัล" ที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคตให้คน 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 พร้อมประกาศ "โรดแมพ" ที่ชัดเจนในการร่วมมือกับ "พันธมิตรภาคการศึกษา และภาคอุตสาหกรรม" รายใหม่กว่า 170 ราย

ไอบีเอ็ม ประกาศความมุ่งมั่นและแผนสำคัญระดับโลกในการสร้างทักษะใหม่ หรือ ทักษะดิจิทัล ที่จำเป็นสำหรับงานในอนาคตให้คน 30 ล้านคนทั่วโลกภายในปี 2573 พร้อมประกาศโรดแมพที่ชัดเจนในการร่วมมือกับพันธมิตรภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมรายใหม่กว่า170 ราย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว

โดยไอบีเอ็มจะใช้ประโยชน์จากโครงการและแพลตฟอร์มด้านการพัฒนาคนสู่สายอาชีพที่มีอยู่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงการเรียนการสอนและตำแหน่งงานด้านเทคนิคที่กำลังเป็นที่ต้องการในตอนนี้

“ทาเลนท์มีอยู่ทุกที่ แต่ว่าโอกาสทางการศึกษาไม่ได้มีอยู่ในทุกที่”

อาร์วินด์ กฤษณะ ซีอีโอ ของไอบีเอ็ม กล่าว พร้อมทั้งระบุว่า  “และนี่เป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงต้องเดินหน้าอย่างจริงจังและในสเกลที่ใหญ่ ในการขยายโอกาสการเข้าถึงทักษะดิจิทัลและการจ้างงาน เพื่อให้กลุ่มคนในวงกว้างสามารถได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจดิจิทัล ไม่ว่าคนเหล่านั้นจะเป็นใครและมีพื้นเพอย่างไร วันนี้ไอบีเอ็มมุ่งมั่นที่จะมอบทักษะใหม่ๆ ให้คน 30 ล้านคนภายในปี 2573 เพื่อเปิดโอกาสให้กับทุกคน ลดช่องว่างด้านทักษะที่กำลังเพิ่มขึ้น และมอบเครื่องมือที่จำเป็นให้กับคนทำงานรุ่นใหม่ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นของพวกเขาและของสังคมเรา”

ความยากลำบากในการหาคนที่มีทักษะเหมาะสมกับงานคือปัญหาที่นายจ้างทั่วโลกกำลังเผชิญ และสิ่งนี้กำลังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ จากข้อมูลของ World Economic Forum (WEF) การปิดช่องว่างด้านทักษะทั่วโลก จะสามารถเพิ่ม GDP โลกได้ 11.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2571 โดย WEF ระบุว่าภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันในด้านการศึกษาและฝึกอบรม เพื่อให้ก้าวทันความต้องการของตลาด ความเปลี่ยนแปลงทางประชากร และความก้าวล้ำของเทคโนโลยีที่เดินหน้าไม่หยุดยั้ง

\"ไอบีเอ็ม\" ประกาศพัฒนา \"ทักษะดิจิทัล 30 ล้านคนทั่วโลก\" รวม \"ไทย\" ภายในปี 2573

เปิดโครงการปลุกทักษะสำหรับทุกคน

โครงการด้านการศึกษาของไอบีเอ็มมีความเฉพาะตัวและมีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีรูปแบบที่หลากหลายและปรับได้ตามความเหมาะสม ซึ่งเป็นการสะท้อนความเข้าใจของไอบีเอ็มที่มองว่าแนวทางแบบ one size fits all หรือการใช้แนวทางเดียวกับทุกคน ไม่ใช่แนวทางการศึกษาที่มีประสิทธิภาพ

โครงการของไอบีเอ็มครอบคลุมตั้งแต่การศึกษาด้านเทคนิคสำหรับเยาวชนในโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ไปจนถึงการฝึกงานและการฝึกทักษะในสถานที่ทำงาน ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของไอบีเอ็ม รวมถึงการเปิดหลักสูตรออนไลน์ที่สามารถปรับให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ และเข้าเรียนได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ไอบีเอ็มวางแผนที่จะมอบการศึกษาแก่คน 30 ล้านคนผ่านโครงการต่างๆ ที่มีความครอบคลุม รวมถึงผ่านความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานหลักของภาครัฐ (และหน่วยงานด้านการจ้างงาน)

นอกจากนี้ยังขยายความร่วมมือไปยังองค์กรเอกชน โดยเฉพาะองค์กรที่มุ่งเน้นคนกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนที่ด้อยโอกาส กลุ่มสตรี และกลุ่มทหารผ่านศึก โดยไอบีเอ็มได้ผลักดันอย่างต่อเนื่องให้ภาคเอกชนทั่วโลกเปิดกว้างและขยายโอกาสให้กับคนกลุ่มน้อยและกลุ่มคนที่ขาดโอกาส

ผนึกกำลังภาครัฐไทย-ภาคการศึกษา

ในประเทศไทย ไอบีเอ็มจะเดินหน้าต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนพันธกิจของประเทศในการสร้างการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเชิงบูรณาการ ผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เพื่อให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ โดยผ่านความร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการในโครงการ P-TECH ที่ใช้เวลาเรียน 5 ปี ปัจจุบันได้มีความร่วมมือกับสถานศึกษาอาชีวศึกษาแล้ว 4 แห่ง ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาธนบุรี วิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี วิทยาลัยพณิชยการอินทราชัย และวิทยาลัยเทคนิคนครราชสีมา โดยนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนในหลากหลายมิติจากพันธมิตรในภาคอุตสาหกรรม

ครอบคลุมการให้คำปรึกษาแนะนำ การดูงาน และการฝึกงานเชิงทักษะแบบได้รับค่าตอบแทน รวมถึงวิชาเรียนต่างๆ ที่ได้รับการออกแบบมาเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและการเติบโตของผู้เรียน ทั้งในมุมวิชาการและมุมวิชาชีพ

ปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า ไอบีเอ็ม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมของเรา อันประกอบด้วยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำงานร่วมกันภายใต้ความพยายามในการช่วยลดปัญหาการขาดแคลนบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) และวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ (STEM) ของประเทศ พร้อมยกระดับความเป็นเลิศทางวิชาการ และเตรียมความพร้อมให้กับผู้เรียนด้วยชุดทักษะที่จะเป็นที่ต้องการอนาคต

 “เรามุ่งมั่นที่จะสานต่อความร่วมมือกับพันธมิตรทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคการศึกษา เพื่อช่วยสร้างคนทำงานที่มีทักษะและพร้อมสนับสนุนก้าวย่างเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ”

\"ไอบีเอ็ม\" ประกาศพัฒนา \"ทักษะดิจิทัล 30 ล้านคนทั่วโลก\" รวม \"ไทย\" ภายในปี 2573