สรุป '3 เทรนด์' สำคัญขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 'ดาต้า' จากกูรูชั้นนำ

สรุป '3 เทรนด์' สำคัญขับเคลื่อนธุรกิจด้วย 'ดาต้า' จากกูรูชั้นนำ

"ไลน์ ประเทศไทย" ดึงกูรูชั้นนำ เจาะลึกการจัดการดาต้าที่สำคัญสำหรับนักการตลาด องค์กรธุรกิจ ผู้ประกอบการ พร้อมการนำไปใช้ต่อยอด เผย 3 เทรนด์สำคัญ ปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัล นำดาต้าเสริมศักยภาพการแข่งขัน ดันธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

สำหรับกูรูท่านแรก พชร อารยะการกุล ซีอีโอ Bluebik Group ได้บรรยายเจาะลึกถึงการใช้ดาต้าสำหรับธุรกิจปัจจุบันว่า ดาต้า ถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ โดยได้มีการนำดาต้าเข้ามาใช้งานเพื่อธุรกิจในหลายระดับ ไม่ว่าจะเพื่อรู้เท่าทันสถานการณ์ทางธุรกิจที่เกิดขึ้น เพื่อวิเคราะห์สาเหตุของสถานการณ์ เพื่อคาดการณ์ทิศทางตลาดหรือธุรกิจในอนาคต จนไปถึงเพื่อพัฒนาแนวทางหรือกลยุทธ์ทางธุรกิจต่อไป โดยสรุป 3 เทรนด์สำคัญสำหรับการใช้งานดาต้าเพื่อยกระดับปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) ในปัจจุบัน ได้แก่

1.Machine Learning เครื่องมือจัดการดาต้ายุคใหม่ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพียงเพื่อเก็บข้อมูลเชิงสถิติเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยประมวลผลได้ใกล้เคียงหรือดีกว่ามนุษย์ในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้องค์กรสามารถจัดเก็บ จำแนก พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำ นำมาซึ่งการคาดการณ์พฤติกรรมของลูกค้า สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อเตรียมการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เช่น การช่วยจัดจำแนกกลุ่มข้อมูล (Cluster Analytic) หรือหาองค์ประกอบหลัก

Factor Analytic สำหรับข้อมูลที่มากมายมหาศาล ช่วยลดความซับซ้อนของข้อมูลเพื่อให้องค์กรนำไปใช้งานต่อได้ โดยเฉพาะข้อมูลที่มีความซับซ้อนในการจัดเก็บและวิเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็น เสียง รูปภาพ วิดีโอ ข้อความต่างๆ บนโลกออนไลน์ เช่น รีวิวและคอมเมนต์ ตัวอย่างองค์กรที่นำ Machine Learning มาใช้ได้ดี เช่น Amazon ใช้ระบบ LDA มารวบรวมและจำแนกรีวิวบนโลกออนไลน์ออกมาเป็นหัวข้อหลักๆ ให้จัดการต่อได้ง่ายขึ้น

หรือบริษัทด้านการเงินและประกันในจีนอย่าง PINGAN ที่นำข้อมูลจากวิดีโอคอลมาวิเคราะห์ด้วย AI ขับเคลื่อนธุรกิจจนประสบความสำเร็จ รวมไปถึงกลุ่มธุรกิจธนาคารต่างๆ ที่มีการใช้ระบบยืนยันตัวตนด้วยใบหน้าหรือลายนิ้วมือ เป็นต้น

2.พัฒนา AI เป็นหัวใจหลักวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ เมื่อพัฒนา Machine Learning ไปสู่ AI การวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูลที่ได้จึงมีความละเอียดและแม่นยำมากขึ้น การใช้เทคโนโลยีอย่าง AI จึงกลายมาเป็นหัวใจหลักในการดึงและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อตัดสินใจ สร้างการเติบโตให้ธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว ปัจจุบัน กลุ่มธุรกิจองค์กรมักลงทุนในการบริหารจัดการดาต้าเพื่อการตลาดและการขาย โดยมุ่งเน้นไปที่การทำ Personalization แต่สิ่งที่ยังเป็น

อุปสรรคสำหรับองค์กรส่วนใหญ่คือการได้มาซึ่งข้อมูล ซึ่งก็สามารถทำได้โดยการร่วมมือกับนักพัฒนาโซลูชั่นต่างๆ เพื่อเชื่อมต่อ API หรือการสร้างกิจกรรมยังกลุ่มเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลโดยความสมัครใจ เป็นต้น นอกจากนี้ นักการตลาดยุคใหม่ควรเรียนรู้หลักการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อออกแบบกิจกรรมหรือแคมเปญแบบ Personalized ให้สอดคล้องกัน

รวมถึงนำเสนอสินค้าและบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละบุคคลได้อย่างถูกที่ ถูกเวลา ถูกช่องทาง ตัวอย่างเช่น Netflix มีการใช้ AI เพื่อนำเสนอคอนเทนต์แนะนำให้กับผู้ใช้แต่ละคนแตกต่างกัน พร้อมใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูลแบบ NRT (Near Real-Time Analytic) ประมวลผลโดยละเอียดว่าคนดูแต่ละคนดูคอนเทนต์ถึงฉากไหน นานเท่าไร เพื่อนำมาวิเคราะห์ความชอบและพฤติกรรมของแต่ละบุคคลต่อไป เป็นต้น

3.ปรับโครงสร้างองค์กรใหม่ให้คล่องตัว การปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่การขับเคลื่อนด้วยดาต้าในยุคดิจิทัล ไม่ใช่เพียงแค่การนำ AI หรือเทคโนโลยีมาใช้ แต่องค์กรต้องปรับโครงสร้างการทำงานให้มีความยืดหยุ่นและคล่องตัวมากขึ้น ตั้งแต่แนวคิดไปจนถึงรูปแบบการทำงานของทุกแผนกทั้งองค์กร มีการแชร์ข้อมูลร่วมกัน ทำงานแบบ Cross-Function เพื่อผนวกและวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกันได้อย่างรวดเร็ว

และออกแบบหรือเลือกใช้เทคโนโลยีมาจัดการดาต้าได้อย่างเหมาะสม ยิ่งข้อมูลหรือดาต้าเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงและอัพเดทอยู่ตลอดเวลา การปรับมุมมอง โครงสร้างและแนวการทำงานในองค์กร ให้สื่อสาร เข้าใจและเดินหน้าไปในทางเดียวกันอย่างรวดเร็วจึงเป็นสิ่งสำคัญในการรับมือการบริหารดาต้าเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจองค์กรด้วย Data-driven ในยุคนี้

นอกจากนี้ การสร้าง Digital Touchpoint ที่ช่วยเสริมประสบการณ์ลูกค้า ในขณะเดียวกันก็สามารถเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำมาต่อยอดทางธุรกิจได้ และจากสถานการณ์โควิด ทำให้ลูกค้าอยู่บนออนไลน์เป็นส่วนมาก ธุรกิจสามารถเก็บข้อมูลต่างๆ ได้ง่ายมากขึ้น ธุรกิจควรต้องสร้าง Customer Data Platform (CDP) ของตัวเองเพื่อรวบรวมข้อมูลมาไว้ในที่เดียว โดยใช้ AI และ Machine Learning เป็นตัวช่วยในการวิเคราะห์ จัดการข้อมูล และแบ่งกลุ่มลูกค้า ด้วยกลยุทธ์ Hyper-personalization อย่างไรก็ตาม การเก็บและจัดการข้อมูลจำนวนมากได้ดีนั้น จำเป็นต้องมีการสร้างระบบหลังบ้าน หรือ Public Cloud ในการเก็บข้อมูลที่มีความเสถียร มีความยืดหยุ่นปรับเปลี่ยนสเกลได้ และที่สำคัญสามารถหยิบข้อมูลมาใช้งานง่าย

ศรีสุภาคย์ อารีวณิชกุล ผู้อำนวยการธุรกิจองค์กร LINE ประเทศไทย กล่าวว่า ดาต้าเทคโนโลยี เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของทุกคน ทุกธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการแชทคุยกับเพื่อน การสั่งอาหารออนไลน์ การช้อปปิ้งออนไลน์ การรับข้อมูลข่าวสาร การทำงานหรือเรียนผ่านระบบออนไลน์ และอื่นๆ อีกมากมาย ดาต้าจึงเป็นกุญแจสำคัญของกลุ่มธุรกิจองค์กร เพื่อที่จะเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า ต่อยอดไปสู่การเลือกใช้โซลูชั่นเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจได้อย่างแท้จริง