'ยานยนต์ไฟฟ้า' ความหวังใหม่ของคนไทย

'ยานยนต์ไฟฟ้า' ความหวังใหม่ของคนไทย

วงการน้ำมันโลกกำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัวเร็วขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่รถยนต์ไฟฟ้ามีกระแสตอบรับอย่างมาก ตลอดจนรัฐบาลหลายประเทศขานรับมาตรการสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน และพลังงานไฟฟ้าเร่งเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามกระแสรักษ์โลก

162787654523

โดยช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา มีหลายประเทศเริ่มเปลี่ยนผ่านจากรถยนต์สันดาปภายในมาสู่พลังงานไฟฟ้า อาทิเช่น ประเทศจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และยุโรป ซึ่งการปรับตัวของยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า สะท้อนถึงความต้องการใช้น้ำมันในปี 2573 คาดลดลงร้อยละ70 ขณะที่องค์การพลังงานระหว่างประเทศหรือ IEA ประเมินว่าในปี 2573 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในจีน จะมีมากถึง ร้อยละ 40 จากยอดขายทั้งหมด เช่นดียวกับ อินเดียและตลาดเกิดใหม่อื่นๆ ที่มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า ร้อยละ 20

ขณะที่ยุโรปตั้งเป้าปี 2573 จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30 ล้านคัน เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือคาร์บอนไดออกไซด์ และหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า
สำหรับในประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้วางเป้าว่าภายในปี 2573 จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตรถยนต์ 2.5 ล้านคัน และปี 2583 ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าจะมากกว่ารถยนต์แบบเดิม เช่นเดียวกับสถานีบริการน้ำมันจะหันไปสู่ธุรกิจให้บริการแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแทน ขณะที่ค่ายรถยนต์ทุกแห่งต่างหันเข้าสู่สนามการผลิตใหม่กันถ้วนหน้า เห็นได้จากการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ทั้งรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด (HEV) รถยนต์ไฟฟ้าปลั๊กอินไฮบริด (PHEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) โดยค่ายรถยนต์ทั้ง นิสสัน โตโยต้า มาสด้า ฮอนด้า มิตซูบิชิ ออดี้ เอ็มจี เมอร์เซเดส-เบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู ที่เห็นแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ชนิดนี้

162787661982

162787656494

กลับมามองที่ประเทศไทย บริษัทน้ำมันรายใหญ่หลายแห่ง อย่าง กลุ่ม ปตท. บมจ. บางจาก บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ก็เดินหน้าปรับตัวไปตามพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตขึ้นมาก สอดรับแผนพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC และโรดแมปการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ปี 2578 ซึ่งเป็นกลไกผลักดันให้อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้ามีทิศทางเติบโตขึ้น ซึ่งกลุ่มบริษัทน้ำมันหลายแห่งมองเห็นความสำคัญประเด็นเหล่านี้ และบางบริษัทใช้เป็นโมเดลธุรกิจกำหนดยุทธศาสตร์สู่ความสำเร็จ บมจ.ไออาร์พีซี ก็เช่นกัน ที่ผู้บริหารมองเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของกระแสยานยนต์ไฟฟ้า

จึงได้ปรับตัวเดินหน้าพัฒนานวัตกรรมวัสดุและพลังงานแห่งอนาคต และอยู่ในระหว่างการวิจัยและพัฒนาส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่เป็นหัวใจของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ EV อาทิ Battery Separator และ Li-Ion Electrode และได้ร่วมทุนกับบริษัท เจแปน โพลิโพรพิลีน คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือ JPP ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 50 ของบริษัท ไมเท็กซ์ โพลิเมอร์ (ประเทศไทย) จำกัด (Mytex Polymers (Thailand) Co. Ltd) เพื่อผลิตและจำหน่ายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ทางด้านกลุ่ม ปตท.ก็ประกาศปรับกลยุทธ์ทิศทางธุรกิจในกลุ่มให้สอดคล้องการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน

โดยธุรกิจไฟฟ้าที่มีบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC จะขยายการลงทุน ด้านพลังงานทดแทนและ New Energy ทั้งในประเทศและภูมิภาคอาเซียน โดยมีเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่ม เป็น 8,000 เมกะวัตต์ในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2573 นอกจากนั้น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR ยังจับมือกับ บริษัท EVLOMO Inc บริษัทอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจากสหรัฐอเมริกาเตรียมสร้างเครือข่ายสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ผ่านบริษัทลูกชื่อ บริษัท อีวีโลโม เทคโนโลยี จำกัด นำเครื่องชาร์จไฟความเร็วสูงเป็นพิเศษติดตั้งตามสถานีบริการน้ำมันของปตท. ในพื้นที่ EEC

162787660270
สำหรับบมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น ก็ไม่น้อยหน้าที่มีนโยบายส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด โดยเฉพาะ ในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งที่ผ่านมาได้ลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เช่น ร่วมลงทุนพัฒนาเหมืองแร่ลิเทียม ซึ่งเป็นต้นน้ำของการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ประเทศอาร์เจนตินา รวมทั้งมีแผนลงทุนโรงงานแบตเตอรี่ลิเทียมในพื้นที่ EEC อีกด้วย ตลอดจนได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA เพื่อติดตั้งจุดบริการ EV Charging Station ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก

162787665460

ขณะที่คณะกรรมการ นโยบายยานยนต์พลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดEV) มีนโยบายผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ได้ร้อยละ 100 ในปี 2578 จำนวนรวม 18.41 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง-รถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน รถบัส-รถบรรทุก 0.458 ล้านคัน โดยปี 2573 จะผลิตรถยนต์ EV ให้ได้ร้อยละ 30 หรือประมาณ 6.22 ล้านคัน แบ่งเป็นรถยนต์นั่ง-รถปิกอัพ 2.93 ล้านคัน รถจักรยานยนต์ 3.13 ล้านคัน รถบัส-รถบรรทุก 0.156 ล้านคัน ทั้งนี้ปี 2563 ประเทศไทยมีรถไฮบริด (HEV) ปลั๊ก-อินไฮบริด (PHEV) 186,272 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 179,034 คัน รถจักรยานยนต์ 7,236 คัน รถโดยสาร 1 คัน รถบรรทุก1 คัน และรถ BEV 5,685 คัน แบ่งเป็น รถยนต์ 2,202 คัน รถจักรยานยนต์ 3,128 คัน รถสามล้อ 235 คัน รถโดยสาร 120 คัน


อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจะแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยที่จะก้าวสู่ศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าแห่งอาเซียนได้ไม่ยาก เพราะไทยมีฐานอุตสาหกรรมสนับสนุนสำคัญที่สุดของภูมิภาคอาเซียน และมีบทบาทสำคัญใน Global Value Chain แม้จะมีคู่แข่งอย่างเวียดนามก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ยังมีจุดแข็งจากพื้นที่ EEC ที่พร้อมเป็นแม่เหล็กดึงดูดการลงทุน จากระบบโลจิสติกส์ที่ได้เปรียบเพราะตั้งอยู่ในพื้นที่ศูนย์กลางของอาเซียน แถมยังได้รับสิทธิประโยชน์ที่จูงใจอย่างมาก! ดังนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าจึงเป็นเปรียบเสมือนแรงผลักให้เศรษฐกิจไทยกลับมาคึกคักอีกครั้ง และอันเป็นความหวังของคนไทยด้วย

162787667065