'ไอบีเอ็ม' ชี้ได้เวลา'เทคโนโลยีขั้นสูง' กุญแจต่อกร 'โควิด-19'

'ไอบีเอ็ม' ชี้ได้เวลา'เทคโนโลยีขั้นสูง' กุญแจต่อกร 'โควิด-19'

ไอบีเอ็ม ชี้ เทคโนโลยีขั้นสูงที่ปัจจุบันก้าวล้ำและมีความพร้อมกว่าวิกฤตครั้งก่อนๆ มาก เชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็ว

เชื่อมระบบเทสต์โควิด-บริหารวัคซีน

ช่วงการแพร่ระบาด บุคลากรทางการแพทย์ คือ ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อมากที่สุด การลดการเดินทางหรือสัมผัสตรง คือหนึ่งในแนวทางสำคัญที่จะช่วยลดการแพร่กระจายไวรัส

ปฐมา เล่าถึงตัวอย่างน่าสนใจ กรณีศูนย์การแพทย์มหาวิทยาลัยไมนซ์ ประเทศเยอรมัน ที่ดูแลผู้ป่วยราว 350,000 คนต่อปี จากคลินิคประมาณ 60 แห่ง ศูนย์ฯ เล็งเห็นถึงความเสี่ยง ได้พัฒนาแอพบริหารจัดการการเทสต์โควิด ช่วยคนไข้ทำการนัดหมาย และดูผลการเทสต์ผ่านโมบายล์แอพ ผลถูกส่งไปห้องแล็บ พร้อมส่งไปยังแอพแจ้งเตือนการแพร่ระบาดอัตโนมัติ เพื่อเตือนประชาชนกลุ่มเสี่ยง และลดการแพร่ระบาดที่อาจเกิดขึ้นให้ได้เร็วที่สุด 

มีการนำเทคโนโลยี cloud satellite มาใช้ เพื่อให้การเชื่อมต่อระหว่างระบบเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ไปขยายใช้ในจุดหรือจังหวัดอื่นๆ ได้ทันทีที่ต้องการ สอดคล้องกับข้อบังคับด้านความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

ที่ผ่านมา “ไอบีเอ็ม” และ “โมเดอร์นา” ได้ร่วมพัฒนาระบบบริหารจัดการวัคซีน และหาแนวทางทำให้การแชร์ข้อมูลระหว่างรัฐ ผู้ให้บริการเฮลธ์แคร์ หน่วยงานด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และบุคคล มีความปลอดภัยและเป็นไปตามข้อกำหนดด้านความเป็นส่วนตัวข้อมูลมากขึ้น สามารถแทร็คและตรวจสอบเส้นทางการกระจายวัคซีนได้

สิ่งที่ต้องมองมากกว่าวัคซีนพาสปอร์ต

ปฐมา บอกว่า วันนี้ หลายประเทศเริ่มมองถึงการใช้วัคซีนพาสปอร์ตแบบดิจิทัลที่ปลอมแปลงได้ยาก และเริ่มใช้แล้วในอิสราเอล จีน บาห์เรน ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย

“แต่วันนี้ เราอาจต้องมองไกลไปถึงการใช้ ดิจิทัลเฮลธ์พาส (digital healthpass) ซึ่งต่างจากวัคซีนพาสปอร์ต เพราะเป็นทางเลือกที่เปิดให้บุคคลเก็บข้อมูลผลเทสต์ ข้อมูลฉีดวัคซีน หรือผลการตรวจโควิด (ที่เป็นลบ) โดยสมัครใจ บนดิจิทัลวอลเล็ตที่อยู่บนสมาร์ทโฟน บุคคลสามารถเลือกที่จะแชร์หรือไม่แชร์ข้อมูลก็ได้” 

ผู้ใช้ ดิจิทัลเฮลธ์พาส สามารถแชร์ “คิวอาร์โค้ด” ของตัวเองผ่านสมาร์ทโฟน ช่วยลดความเสี่ยงในการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่อยู่บนผลเทสต์ หรือใบรับรองการฉีดวัคซีนโดยรู้เท่าไม่ถึงการหรือโดยไม่ตั้งใจ หากต้องการขึ้นเครื่องบินหรือเข้างานอีเวนท์การแข่งกีฬาหรือคอนเสิร์ต เพียงแค่แชร์ “คิวอาร์โค้ด” จากสมาร์ทโฟนที่เครื่องอ่านก่อนเข้างาน 

ดิจิทัลเฮลธ์พาส ยังช่วยให้องค์กร ตรวจสอบข้อมูลสุขภาพพนักงาน ลูกค้า ผู้ที่มาติดต่อ หรือตรวจสอบว่าพนักงานมีเงื่อนไขทางสุขภาพและวัคซีนที่จำเป็นสำหรับงานนั้นๆ หรือไม่ โรงเรียนต่างๆ ก็สามารถใช้ดิจิทัลเฮลธ์พาสในการบันทึกข้อมูลวัคซีนของนักเรียนได้

ปัจจุบันนิวยอร์คเริ่มนำดิจิทัลเฮลธ์พาสมาใช้ภายใต้ชื่อ Excelsior Pass ให้ประชาชนใช้ตามความสมัครใจ เพื่อแสดงก่อนเข้าสนามกีฬา งานแต่งงาน คอนเสิร์ตใหญ่ๆ รวมถึงสถานที่ต่างๆ ในนิวยอร์ค แทนการแสดงเอกสาร ขณะที่สิงคโปร์ ได้มีการนำดิจิทัลเฮลธ์พาสของไอบีเอ็มเชื่อมกับระบบดิจิทัลเฮลท์พาสปอร์ตของแอคเครดิฟาย ที่เชื่อมโยงกับประเทศที่มีข้อตกลงการเดินทางร่วมกัน 

สิ่งสำคัญ คือ ความเป็นส่วนตัวของข้อมูล บุคคลต้องสามารถควบคุมการแชร์ข้อมูล หรือการอนุญาตให้แชร์ข้อมูลให้ผู้ที่ต้องการได้ เชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มเทคโนโลยีของสายการบินต่างๆ โดยไม่ติดปัญหาทางเทคนิคกับระบบหลังบ้าน หรือใช้ในกิจกรรมที่แตกต่างกันขององค์กรและหน่วยงานที่ประชาชนเข้าไปติดต่อในแต่ละวัน ไม่ว่าจะเป็นที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล หรือแม้แต่หน่วยงานราชการ ภายใต้ระบบที่มีความปลอดภัยของข้อมูลสูง เทคโนโลยีอย่างไฮบริดคลาวด์ บล็อกเชน และเอไอ จะเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงได้ 

"เทคโนโลยีขั้นสูงที่ปัจจุบันก้าวล้ำและมีความพร้อมกว่าวิกฤตครั้งก่อนๆ มาก เชื่อว่าองค์ประกอบเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันโดยเร็ว” ปฐมาว่า