'กานเวลา'ช็อคโกแลตสายพันธุ์ไทย

'กานเวลา'ช็อคโกแลตสายพันธุ์ไทย

'กานเวลา' โมเดลธุรกิจช็อคโกแลตครบวงจรสายพันธุ์ไทยจากเชียงใหม่ ส่งช็อคโกแลตสอดไส้ฝรั่งพริกเกลือ-ช็อคโกแลตบาร์คลองลอย คว้ารางวัลจากเวทีระดับโลก

     ไม่ธรรมดาเท่าไหร่นัก สำหรับการเกิดแรงบันดาลใจของนักธุรกิจหนุ่มชาวเชียงใหม่วัย 36 ปี อย่าง "ธนา คุณารักษ์วงศ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท กานเวลา ช๊อคโกแลต จำกัด ที่กำลังเป็นที่กล่าวขานในแวดวงของอุตสาหกรรมช็อคโกแลตไทย แม้ว่าจะใช้ระยะเวลาเดินทางมาสู่โลกช็อคโกแลตแบบครบวงจรเพียงไม่กี่ปี แต่หากมองถึงการบ่มเพาะองค์ความรู้แบบรอบด้านแล้ว เขายังเป็นสตาร์ทอัพที่มีอนาคตไกลอีกด้วย

“ธนา” ยังได้สร้างโลคอลแบรนด์น้องใหม่ ที่เข้ามาบุกเบิกธุรกิจ "คราฟท์ช็อคโกแลต" สายพันธุ์ไทยครบวงจร ตั้งแต่การปลูกต้นโกโก้ จนถึงการแปรรูปทำช็อคโกแลตบาร์, ช็อคโกแลตสอดไส้, ผงโกโก้ และเครื่องดื่มช็อคโกแลต โดยมีรางวัลการันตีจาก INTERNATIONNAL CHOCOLATE AWARDS ได้รับเหรียญทองแดง ประเภทช็อคโกแลตสอดไส้ รสฝรั่งพริกเกลือ และประเภทช็อคโกแลตบาร์  ดาร์กช็อคโกแลต 72% คลองลอย

161295959257

ธนา คุณารักษ์วงศ์              

“กานเวลา คราฟท์ช๊อคโกแลต” อาจจะเป็นคาเฟ่น้องใหม่ที่เปิดตัวมาในยุคที่ธุรกิจต่างๆ  ต้องประสบกับภาวะวิกฤติของโควิด-19 แต่ในมุมลึกกว่านั้น ได้ถูกวางเป็นโมเดลธุรกิจ ที่ “ธนา” ต้องการนำเสนอให้เห็นว่า อนาคตของอุตสาหกรรมช็อคโกแลตสายพันธุ์ไทยมีโอกาสแจ้งเกิด ภายใต้การสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้สามารถป้อนวัตถุดิบที่มีคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมช็อคโกแลต ซึ่งเท่ากับว่า จะเป็นแนวทางสำคัญให้ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำของอุตสาหกรรมช็อคโกแลตไทยเทียบชั้นระดับต่างประเทศได้

       “ธนา” เล่าว่า เขาเคยเป็นนักลงทุน โลดแล่นอยู่ในโลกการเงินมาเป็นเวลาหลายปี ชีวิตวนเวียนอยู่กับการทำงานในเมืองกรุงที่เร่งรีบใช้สมองสั่งการตลอด 24 ชั่วโมง และโชคดีที่มีโอกาสไปช่วยงาน ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ทำให้ตัวเขาได้อยู่ในคลังตำราทางวิชาการหลากหลายมิติ โชคดีที่ได้เปิดโลกกว้างในแวดวงของวิชาการ ได้เรียนรู้กรณีการศึกษาของธุรกิจต่างๆ แต่เขาตัดสินใจทิ้งอนาคตในเมืองกรุง กลับมาใช้ชีวิตกับครอบครัว และเลือกที่จะใช้ความรู้ของตัวเองที่พอมีอยู่พัฒนาภาคเกษตรในท้องถิ่น

161295974728

               สำหรับ “ธนา” ถือเป็นนักธุรกิจหน้าใหม่ในแวดวงอุตสาหกรรมช็อคโกแลตไทยที่ครบเครื่อง และยังสวมหมวกของเกษตรกรรุ่นใหม่ทุ่มเทในการค้นหาความรู้จากผู้ปลูกโกโก้ อย่างไร่ธนาทิพย์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จนปัจจุบันกลายเป็นพันธมิตรทางการค้าซึ่งกันและกัน หรือแม้แต่การลงพื้นที่ไปประเทศฟิลิปปินส์เข้าไปศึกษาการปลูกโกโก้ และกระบวนการผลิตช็อคโกแลตแบบครบวงจร จากนั้นนำเอาวิชาความรู้มาช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้ให้เติบโตไปด้วยกันอย่างเป็นธรรมด้วย “ระบบแฟร์เทรด”         

ในด้านของการลงทุน เขาเริ่มต้นจากคำว่า “แค่อยากทำสวนเล็กๆ” ด้วยการปลูกต้นโก้โก้ 10 ต้นภายในบ้านระหว่างนั้นก็อาศัยโซเชียลมีเดียเป็นตัวเชื่อมต่อไปยังเกษตรกรในประเทศ และต่างประเทศ ก่อนจะนำตัวเองไปท่องโลกกว้างหาความรู้ผสมผสานกับตำราทางวิชาการ และกลับมาลงมือในภาคปฏิบัติ ลองผิดลองถูกทิ้งช็อคโกแลตไปไม่รู้กี่กิโลกรัม จนกระทั่งได้กัลยาณมิตร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญของฟิลิปปินส์เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ทำให้เข้าถึงเทคนิคตั้งแต่กระบวนการเก็บผลโกโก้ กระบวนการหมัก และกระบวนผลิตคาร์ฟท์ช็อคโกแลตที่มีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง

161295965495

       การเปิดตัวของเขาทำให้ภาพของอุตสาหกรรมช็อกโกแลตไทยมีสีสันขึ้น วันนี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของ “กานเวลา คราฟท์ช๊อคโกแลต” ที่ได้สร้างการรับรู้ว่า ประเทศไทยผลิตช็อคโกแลตได้ เป็นแหล่งปลูกต้นโกโก้ที่ดีไม่น้อยหน้าต่างประเทศ เขามองว่า ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา เขาได้รับการหยิบยื่นผลโกโก้สดจากเกษตรกรในราคากิโลกรัมละ 10 บาท มาลองผิดลองถูก จนลงทุนหลักพันหาซื้อวัตถุดิบ และลงทุนหลักหมื่นซื้อเครื่องทำช็อกโลแลต มาวันนี้เขาลงทุนเกือบ 10 ล้านบาท ในมุมมองของคนที่อยู่ในอาชีพนักลงทุนมาก่อน จึงมั่นใจว่ายังมีช่องว่างที่จะเติบโตไปได้อีกมาก

               ขณะที่ทางด้านการตลาด “กานเวลา คราฟท์ช๊อคโกแลต” เติบโตจากการขายออนไลน์ในรูปแบบของการเปิดพรีออเดอร์ มียอดขายเข้ามาเดือนละนับหมื่นบาท จากนั้นจึงลงทุนเปิดร้านบนที่ดินของครอบครัว เมื่อเดือน พ.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยมีน้องสาวซึ่งมีทักษะด้านศิลปะมาเป็นตัวขับเคลื่อนในการรังสรรค์ผลิตภันฑ์ช็อคโกแลตต่างๆ ถือเป็นแหล่งรวบรวมทั้งขนม เครื่องดื่ม และผลิตภัณฑ์จากช็อคโกแลตแบบครบวงจร ในราคาที่คนไทยจับต้องได้ตั้งแต่ 50-280 บาท

หากมองถึงธุรกิจสตาร์ทอัพของ “กานเวลา คราฟท์ช๊อคโกแลต” มีการสร้างคาเรคเตอร์ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้วัตถุดิบในประเทศ ส่งเสริมเกษตรกร กลายเป็นความครบวงจรที่มีอนาคตไกล และมีรางวัลการันตีช็อคโกแลตสายพันธ์ไทยในเวทีระดับโลก แต่ “ธนา” ไม่ยึดติดกับรางวัล แต่ถือว่าเป็นการเดินมาถูกทาง และอยากจะแข่งกับตัวเองมากกว่า โดยมีเป้าหมาย หากเกษตรกรผู้ปลูกโกโก้อยู่ได้เราก็อยู่ได้ แต่การเดินสายกลางที่ไม่หวังกำไรมากเกินไป เลือกที่จะแบ่งปัน เลือกที่จะเดินไปพร้อมกันนั้นมีความยั่งยืนกว่า

      161295967783  

ธนาเป็นคนที่เวลาจะทำอะไรแล้วต้องรู้ลึกรู้จริง เขาศึกษาการปลูกโกโก้จากเกษตรที่คลองลอย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ทำให้รู้ว่ายังมีหนทางที่จะยกระดับโกโก้ให้มีมูลค่าเพิ่มได้ เกษตรกรผู้ปลูกต้องลืมตาอ้าปากได้ ระหว่างที่พัฒนาคู่ขนานกัน วันนี้เขายอมซื้อในราคากิโลกรัมละ 30 บาท สูงกว่าราคาปกติ 1 เท่าตัว หรือหากว่านำเข้าจากต่างประเทศจะถูกกว่าหลายเท่าตัว แต่เขายอมปิดตา 1 ข้าง เพื่อช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกโกโก้พยุงตัวให้ยืนต่อไปได้  โดยหวังว่า เมื่อกระแสปั่นราคาจากต้นพันธุ์โกโก้นิ่ง ผลผลิตออกสู่ตลาดจนล้น กลไลทางการตลาดของโกโก้จะเกิดขึ้น   

      ต่อไปในอนาคต “ธนา”มองว่า คนไทยจะมีองค์ความรู้จากการปลูกต้นโกโก้มากยิ่งขึ้น ขณะที่เขาจัดเตรียมพื้นที่ในอำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ปลูกต้นโกโก้ นับ 1,000 ตัน สายพันธุ์ชุมพร และสายพันธุ์จากต่างประเทศที่ใช้เทคนิคการเสียบกิ่งแทนการเพาะเมล็ด เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งไม่เพียงแต่นักท่องเที่ยวจะได้เข้ามาเที่ยวไร่โกโก้ ได้ชิมช็อคโกแลต เลือกซื้อผลิตภัณฑ์จากโกโก้แล้ว ยังจะได้เรียนรู้กระบวนการผลิตที่มองเห็นภาพของต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำชัดเจน ซึ่งไม่เพียงแต่ธุรกิจอยู่ได้แล้ว เกษตรกรไทยก็จะมีรายได้และมีคุณภาพชีวิตดียิ่งขึ้น.