สกสว.เปิดเวทีร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรม ก่อนเข้าสภา

สกสว.เปิดเวทีร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมวิจัยและนวัตกรรม ก่อนเข้าสภา

สกสว.เปิดเวทีพิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ก่อนเข้าสภา หวังปลดล็อคใช้ประโยชน์จากงานวิจัยมากขึ้น เปิดมิติและมุมมองใหม่ในการแก้ไขปัญหาจากข้อจำกัดและกฎระเบียบของภาครัฐที่ทำให้ผู้รับทุน นักวิจัยไม่สามารถนำผลงานวิจัยนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปใช้ประโยชน์ได้

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย นวัตกรรม (สกสว.) โดยโครงการการศึกษาและการเชื่อมโยงงานวิจัย กับภาคนโยบาย ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา จัดเวที สกสว. เรื่อง “พิเคราะห์ร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม” เพื่อสร้างความเข้าใจและให้ข้อมูลกับเจ้าหน้าที่สำนักวิชาการและเจ้าหน้าที่ประจำกรรมาธิการเพื่อใช้ในการเตรียมข้อมูลให้กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาเกี่ยวกับสาระและประเด็น ของร่างกฎหมายสำคัญที่รัฐบาลโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กำลังเสนอเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งจะเปิดมิติและมุมมองใหม่ในการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากข้อจำกัดและกฎระเบียบของภาครัฐที่ทำให้ผู้รับทุนและนักวิจัยไม่สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐไปใช้ประโยชน์ได้

161218672058

รศ.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการ สกสว. กล่าวอย่างเชื่อมั่นว่า ร่างพ.ร.บ.ฯ จะช่วยให้เกิดการนำผลงานวิจัย ไปใช้ประโยชน์มากขึ้น เวทีนี้นอกจากจะมีวิทยากรจากหน่วยงานหลักที่ร่วมผลักดันมาโดยตลอดและเข้าใจกฎหมายเป็น อย่างดีแล้ว ยังมีผู้แทนของหน่วยงานอุดมศึกษาร่วมให้ข้อมูลเขิงลึกและเชิงวิชาการ เพื่อผลักดันสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ “หลังจากเปิดประตูบานใหญ่ในการควบรวมกระทรวงและจัดระบบให้มีทิศทางที่ชัดเจน ความยืดหยุ่นในการทำงาน และส่งผลลัพธ์และผลกระทบให้กับประเทศ ประตูบานต่อไปที่สำคัญคือการช่วยให้มหาวิทยาลัยและผู้รับทุนสร้างศักยภาพในการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์มากขึ้น จึงเป็นโอกาสดีที่ภาคนโยบายจะได้เห็นภาพว่าจะมีการขับเคลื่อนประเทศอย่างไร และกำลังทำอะไรอยู่”

ด้านนายมาณิช อินทฉิม ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ สํานักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และนางสาวชลธิชา มีแสง ผู้อำนวยการสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาวุฒิสภา เปิดเผยว่า เวทีนี้จะเป็นแรงจูงใจให้นักวิจัยสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์เพื่อประกอบการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ร่วมกันของรัฐสภา

ส่วน เพียงเพ็ญ วงศ์นภาพรรณ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวระหว่างการเสวนาพิเคราะห์ร่างพ.ร.บ.ฯ ถึงกฎหมายส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมของประเทศสหรัฐอเมริกาว่า เกิดขึ้นเพื่อลดข้อจำกัดเรื่องความเป็นเจ้าของผลงานของหน่วยงานให้ทุน ทำให้นำไปใช้ประโยชน์ได้น้อยมาก ไม่เกิดสินค้าและบริการใหม่ ๆ ไม่เกิดการจ้างงานและเสียภาษี จึงต้องปลดล็อคเพื่อกระจายอำนาจการบริหารจัดการและอำนวยความสะดวกแก่มหาวิทยาลัยให้สามารถถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชนและอนุญาตให้ใช้สิทธิมากขึ้น ส่งเสริมระบบนิเวศให้เกิดการใช้ประโยชน์ นับเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ใช้กฎหมายนี้ โดยผู้รับทุนจะต้องส่งแผนการใช้ประโยชน์เพื่อให้ทราบว่าจะนำผลงานวิจัยไปทำอะไรต่อ ทั้งนี้ขอเสนอว่า สกสว. ควรทำงานร่วมกับผู้รับทุนและกำหนดว่าแผนจะต้องมีอะไรบ้าง แลกเปลี่ยนเรียนรู้ทำงานร่วมกับนักวิจัยและมหาวิทยาลัยที่ควรมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ขณะที่หน่วยงานให้ทุนควรพิจารณาข้อเสนอโครงการโดยคุยกับเอกชนตั้งแต่ต้นเพื่อลดค่าใช้จ่ายต้นน้ำของเอกชนและความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์ รวมทั้งการสร้างศักยภาพของบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในส่วนนี้ให้พูดภาษาเดียวกับเอกชน และออกนโยบายที่ชัดเจนในการแบ่งปันผลประโยชน์แก่นักวิจัยด้วย

161218673379

ด้าน วันดี สุชาติกุลวิทย์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวว่า การพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ นี้จะต้องเข้าใจกฎหมายอย่างดี ไม่ใช่เพียงแก้ไขถ้อยคำ กฎหมายเป็นเพียงจุดเริ่มต้น ไม่สามารถระบุได้ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เป็นการเปิดประตูหลังปลดล็อคและเกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ต้องดูว่าเมื่อบังคับใช้กฎหมายจริงแล้วจะเกิดผลอย่างไร ตนอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญกับการรับฟังความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ฯ และฝากหน่วยงานบริหารจัดการ เช่น สอวช. สกสว. จัดเตรียมบุคลากรให้พร้อมและมีระบบติดตามที่มีประสิทธิภาพ

 

161218678411

ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทะนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แบ่งระบบนิเวศเป็น 3 องค์ประกอบหลัก คือ ภาคเอกชนซึ่งมีความท้าทายสูงมากในการใช้งานวิจัยได้จริง หากส่งเสริมให้เกิดการร่วมลงทุน ความรู้สึกการเป็นเจ้าของจะสูงขึ้นจะช่วยคลายล็อคและเกิดพลังบวกมากขึ้น ขณะที่ภาคมหาวิทยาลัยมีความท้าทายจากจำนวนนักศึกษาที่กำลังลดลง ทำให้มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนตัวเอง ถนนทุกสายวิ่งสู่การสร้างนวัตกรรม จัดตั้งสตาร์ทอัพจากงานวิจัย งานที่จะสอดรับกับภาคเอกชนจะได้รับการตอบรับที่ดีขึ้น ส่วนภาครัฐเชื่อมั่นว่ามีประโยชน์อย่างแน่นอน เพราะเมื่อลงทุนงานวิจัยไปแล้ว ก็หวังให้งานวิจัยถูกนำไปใช้ในการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ กฎหมายนี้จะช่วยทำให้การเจรจาขอใช้สิทธิจนนำไปสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เป็นไปได้ง่ายขึ้นและนำมาสู่การสร้างรายได้ให้กลับมายังภาครัฐในภายหลัง

ยกตัวอย่างเช่นญี่ปุ่นหวังให้เอกชนมีความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้น ขยายการผลิตและจ้างงานมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเสียภาษีมากขึ้นกลับสู่คลัง หากทำได้เช่นนี้ประเทศไทยจะเห็นผลจากการนำผลงานวิจัยไปประโยชน์ได้จริง สิ่งสำคัญคือหน่วยบริหารจัดการงานวิจัยใมมหาวิทยาลัยจะต้องเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ดี อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีอยู่ 44 แห่งทั่วประเทศ เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างภาคเอกชนและมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นหน่วยงานผลิตงานวิจัย พร้อมจะเป็นกลไกสนับสนุนรองรับการประกาศใช้ พ.ร.บ.นี้อย่างเต็มที่

รศ.พีระ เจริญพร จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีไทยมีข้อจำกัดในการทำวิจัยและพัฒนา เพราะการลงทุนทำวิจัยมีความเสี่ยงสูง อีกประเด็นคือผลงานวิจัยสู่ตลาดไม่ได้เกิดจากงานเดียว ถ้ามีงานวิจัยหลายงานเข้าสู่ระบบตลาดจะเกิดการใช้ประโยชน์มากขึ้น หากไม่เกิดการใช้ประโยชน์ความรู้ก็จะหมดอายุ นอกจากนี้ความรู้ยังติดอยู่ในตัวคน การมีกติกาที่ชัดเจนจึงสร้างแรงจูงใจแก่นักวิจัยและมหาวิทยาลัยเพื่อผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ นักวิจัยรุ่นใหม่จะต้องพัฒนาและผลิตผลงานให้มากเพื่อให้เป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการ แต่อาจขาดทักษะบางอย่าง

ดังนั้นการเปิดโอกาสให้ทำงานกับภาคเอกชนจึงเปิดโลกทัศน์ให้กับนักวิจัยว่ายังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องทำนอกจากการตีพิมพ์ผลงาน รวมถึงการเปลี่ยนทัศนคติให้เอกชนเห็นความสำคัญของนวัตกรรมและสร้างความเชื่อมั่น การกำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จและค่าเป้าหมาย การสนับสนุนหน่วยงาน การมีส่วนร่วมของเอกชนตั้งแต่ต้นทางเพราะเชื่อมโยงกันทั้งระบบ ตลอดจนหน่วยงานที่เป็นสะพานเชื่อม ซึ่งล้วนแต่มีความสำคัญทั้งสิ้น