ไทยพร้อมรับ 'เทคโนโลยี' อนาคต ดันขีดแข่งขันดิจิทัลเพิ่ม

ไทยพร้อมรับ 'เทคโนโลยี' อนาคต ดันขีดแข่งขันดิจิทัลเพิ่ม

“ไอเอ็มดี” เผยขีดแข่งขันด้านดิจิทัลไทยเพิ่มขึ้นหนึ่งอันดับ รั้งอันดับที่ 39 จากปี 62 อยู่ในอันดับที่ 40 ด้วยสองเหตุผลหลัก "ปัจจัยด้านเทคโนโลยี" และ “ปัจจัยด้านความพร้อมรองรับอนาคต”ได้คะแนนดี

ปัจจัยหลักที่ดีขึ้นและช่วยยกอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย ได้แก่ ปัจจัยด้านเทคโนโลยี และปัจจัยด้านความพร้อมรองรับอนาคต โดยปี 2563 ดีขึ้นจากปีที่ 2562 อย่างก้าวกระโดดถึง 5 อันดับ ทั้ง 2 ปัจจัย โดยอยู่ในอันดับที่ 22 และอันดับที่ 45 ตามลำดับ สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย 

ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมผ่านกองทุนดีอี การผลักดันเมืองอัจฉริยะ (Smart City) การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5จี และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การเตรียมความพร้อม Disruptive Technology ให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศไทยรวมถึงการพัฒนาระบบคลาวด์กลางภาครัฐ (GDCC) เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลภาครัฐสู่การที่ทุกภาคส่วนสามารถนำข้อมูลภาครัฐไปใช้ประโยชน์ได้ในอนาคต และการผลักดันนโยบายและแผนด้านดิจิทัลในประเด็นต่างๆ 

"สำหรับปัจจัยหลักด้านองค์ความรู้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ซึ่งเป็นอันดับเดิมของปีที่ผ่านมา แต่ไม่ได้หมายความว่า ประเทศไทยไม่ได้พัฒนาด้านองค์ความรู้ แต่หมายถึง เราพัฒนา แต่เป็นแรงขับเคลื่อนที่คงตัว ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีที่ชี้เป้าให้ประเทศไทยจะได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาปัจจัยดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น" นายพุทธิพงษ์ กล่าว

เร่งผลักดันทุกปัจจัยหลัก

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวเสริมว่า ที่ผ่านมา ดีอีเอสให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุกปัจจัยหลักอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างแท้จริง และสะท้อนออกมาในผลจัดอันดับความสามารถการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศไทยให้ดีขึ้นในทุกปี

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ประเทศไทยต้องเร่งปรับปรุงจากผลการจัดอันอันดับความสามารถในการแข่งขันในครั้งนี้ อยู่ที่ปัจจัยย่อยด้านระดับและคุณภาพของการศึกษาและการฝึกอบรม (Training and education) ในหมวดของปัจจัยหลักด้านองค์ความรู้ ซึ่งปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 55 ลดลง 5 อันดับจากปี 2562

ขณะที่ ปัจจัยย่อยด้านความสามารถในการปรับตัวของภาคธุรกิจ (Business agility) ในหมวดของปัจจัยหลักด้านความพร้อมรองรับอนาคต (Future readiness) ซึ่งปี 2563 ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 44 ลดลง 14 อันดับจากปี 2562 แสดงให้เห็นว่า การผลักดันด้านคุณภาพการศึกษา การฝึกอบรม และการสร้างทักษะดิจิทัลของประเทศไทย และการเตรียมความพร้อมในการปรับตัวด้านดิจิทัลของภาคธุรกิจยังไม่เพียงพอ จึงเป็นประเด็นที่กระทรวงดีอีเอสต้องให้ความสำคัญ