‘กระเป๋าสานพัด’ สานของเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์

‘กระเป๋าสานพัด’ สานของเหลือใช้สู่ผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์

อีกหนึ่งแนวทางในการออกแบบอย่างยั่งยืน ผลงานจากดีไซเนอร์ไทย 'ทรงวุฒิ ทองทั่ว' เจ้าของไอเดียแปลงยีนส์เก่า เสื้อผ้ามือสองและขยะถุงปูนสู่เวทีแฟชั่นผ่านกระบวนความคิดสร้างสรรค์ภายใต้แบรนด์ RENIM Project

อีกหนึ่งแนวทางในการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) คือ การนำวัสดุที่หลงเหลือจากกระบวนการผลิต และการนำวัสดุจากผลิตภัณฑ์เก่ามาใช้งานซ้ำ แนวคิดนี้นอกจากจะช่วยลดปริมาณขยะที่ระบบอุตสาหกรรมแล้ว ยังช่วยลดปริมาณการใช้ทรัพยากรได้อย่างดีเยี่ยม และนี่คือหนึ่งแนวคิดสำคัญของงานออกแบบผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ RENIM Project โดย ทรงวุฒิ ทองทั่ว

159819996588

ในครั้งนี้ ทรงวุฒินำเทคนิคการสาน และลวดลายที่สวยงามของ “การสานพัดไม้ไผ่” งานหัตถกรรมพื้นบ้านอันทรงคุณค่าจากภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่นำมาใช้โบกเตาไฟของคนไทยในอดีต หรือบางครั้งก็นำมาโบกพัดร่างกายให้เย็นสบายคลายร้อนมาออกแบบเป็นกระเป๋าคอลเลคชัน F/W 20 “สานพัด” 

โดยนำผ้ายีนส์จากกางเกงยีนส์มือสองมาตัดเป็นเส้นคล้ายกับไม้ไผ่สาน นำไปเย็บโดยใช้เทคนิคการเย็บหูกางเกงยีนส์เพื่อให้เกิดเป็นเส้นผ้าสียีนส์ที่มีความแข็งแรงทนทาน และนำถุงปูนซีเมนต์เหลือใช้ที่รอการทำงายมาตัดเป็นเส้น และนำไปเย็บด้วยเทคนิคการเย็บหูกางเกงยีนส์เช่นกัน จากนั้นนำแถบเส้นผ้ายีนส์ และแถบเส้นปูนซีเมนต์มาสานให้เกิดลวดลายคล้ายพัดไม้ไผ่ พร้อมวางแพทเทิร์นการตัดผ้าสานให้เป็นกระเป๋ารูปทรงต่างๆ โดยนำถุงปูนซีเมนต์เหลือใช้มาเย็บเป็นซับในด้านในกระเป๋า จากการตัดเย็บพบว่า กระเป๋าหนึ่งใบใช้กางเกงยีนส์มือสอง 5 ตัว และถุงปูนซีเมนต์เหลือใช้ 5 ถุง

159820020973

นอกจากนี้ทรงวุฒิยังนำเศษหนังแท้ที่หลงเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมมาตกแต่งกระเป๋าให้มีความสวยงาม น่าใช้งานมากขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงเราสามารถลดปริมาณการใช้ทรัพยากรควบคู่ไปกับการลดปริมาณขยะได้อย่างมากมาย

 นอกเหนือไปจากกระเป๋าคอลเลคชัน “สานพัด” แล้ว ถุงปูนซีเมนต์ และผ้ายีนส์มือสองยังถูกนำมาออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์อีกมากมาย เช่น รองเท้าปูนซีเมนต์ WALT Slip-On หมวก Recrafted Patchwork Bucket Hat กระเป๋าสะพายหลัง LAX Backpack เป็นต้น ตอกย้ำหัวใจหลักของการสร้างแบรนด์รักษ์โลก RENIM Project

159820024430

อีกหนึ่งแนวคิดดี ๆ ของงานนักออกแบบไทยที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งมั่นออกแบบ และผลิตชิ้นงานเพื่อสื่อสารให้คนทั่วไปตระหนักถึงสิ่งของเหลือใช้ทั้งจากกระบวนการผลิตในระบบอุตสาหกรรม และการใช้งานของผู้บริโภค โดยการเพิ่มมูลค่า และคุณค่า พร้อมไปกับการลดปริมาณขยะให้กับโลกของเราอย่างสร้างสรรค์ <<