RISE ระดม 'ซีอีโอ-นวัตกร' ขึ้นเวทีไฮบริดมิตติ้ง 'CIS2020' 

RISE ระดม 'ซีอีโอ-นวัตกร' ขึ้นเวทีไฮบริดมิตติ้ง 'CIS2020' 

สถาบันเร่งสปีดฯ เปิดวิสัยทัศน์หนุนสร้างเครือข่ายผู้นำคุณภาพ ชี้ยุคนี้แค่เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องมีวิธีคิด-ทักษะ-เครื่องมือ ที่ทันต่อยุคโควิดภิวัฒน์ ดึง 'ซีอีโอ-นวัตกร' ระดับโลกร่วมแชร์กลยุทธ์ขับเคลื่อนนวัตกรรมองค์กรในงาน 'CIS2020' 

นายแพทย์ศุภชัย ปาจริยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อร่วมตั้งสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กรระดับภูมิภาค (RISE) กล่าวว่า จากงานค้นคว้าของ World Economic Forum พบว่า 35% ของทักษะที่สำคัญในปัจจุบันจะเปลี่ยนไปภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี วิธีหนึ่งที่จะทำให้เราสามารถอยู่รอดในโลกหลังโควิดได้ก็คือ “การเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพราะแม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกพังทลายลง แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนตัวเร่งปฏิกิริยาให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์มเมชัน ที่หลาย ๆ องค์กรพยายามผลักดันมานานหลายปีให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วในระยะเวลาเพียงไม่กี่เดือน โดยเฉพาะการทรานส์ฟอร์ม “คน” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ ที่ไม่ใช่แค่ทำให้องค์กรอยู่รอด แต่สามารถคิดหาโซลูชัน พลิกวิกฤตเป็นโอกาสใหม่ทางธุรกิจได้ในยุคนิวนอร์มอล

159798875510


ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกลยุทธ์ในการเร่งสปีดขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรที่กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม ได้แก่ 1. เน้นความสำคัญ “คน” ถ้าคนทำงานไม่มีมายด์เซ็ตและสกิลเซ็ต ยิ่งทำให้การช่วยพัฒนาองค์กร ตัวเอง และองค์กรอื่นเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งมายเซ็ตของ “ผู้นำองค์กร” ที่จะต้องเปลี่ยนชุดความคิดเดิม ไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีต เพราะโลกทุกวันนี้หมุนไวยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งมีความไม่แน่นอน ดังนั้น ต้องมีวิธีการที่จะมองแผนการดำเนินงานในระยะสั้น จากเดิมที่วางไว้ 5-10 ปี วันนี้เมื่อภารดาเปลี่ยนจึงต้องปรับแผนให้เหลือเพียงระยะ 6 เดือนถึง 2 ปี อีกทั้งต้องคิดให้น้อยลงและทำให้มากขึ้น หรืออาจนำเดต้าเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์และเก็บข้อมูลต่างๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจดำเนินการตามแผนนโยบาย ที่ไม่ใช่แค่การประชุมและระดมสมอง


2.“ทีมงาน” ที่ถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดผลสำเร็จ ซึ่งพนักงานทุกคนมีสิทธิ์ล้มเหลว ผิดพลาดได้ แต่ต้องเรียนรู้ว่าเกิดจากอะไร และไม่ทำซ้ำในเรื่องเดิม อีกทั้งระหว่างทางควรฉลองชัยชนะอย่างรวดเร็วเพื่อส่งเสริมทีมให้เข้าใจว่าทุกๆเส้นทางความสำเร็จมันสำคัญ เพราะสุดท้ายแล้วทุกความสำเร็จจะกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งวัฒนธรรมองค์กรที่จะต้องตั้งเป้า OKR (Objective & Key result) ให้แต่ละคน โดยเป้าหมายของทุกๆคนต้องสอดคล้องกันทั้งองค์กร เพื่อทำให้เกิดความเร็วภายในองค์กรซึ่งจะส่งผลให้วัฒนธรรมองค์กรเปลี่ยนตาม และสามารถทรานฟอร์มได้


และ 3.นวัตกรรม หรือเทคโนโลยี ที่มีการพัฒนาขึ้นเองภายในซึ่งจะต้องมีการทำเพิ่มเติม อย่างเช่นแทนที่จะทำการตลาดเอง อาจจะเปลี่ยนสู่การหาพาร์ทเนอร์ที่เป็นสตาร์ทอัพ มาช่วยลอนซ์ผลิตภัณฑ์เหล่านั้นออกสู่ตลาด หรือแม้กระทั่งนำสตาร์ทอัพมาทำงานร่วมกับองค์กรใหญ่ และผู้เชี่ยวชาญเพื่อให้ผลสำเร็จเกิดเร็วขึ้นยิ่งในช่วงสถานการณ์หลังยุคโควิด

พลิกมายด์เซ็ตรีสตาร์ทองค์กร
นายแพทย์ศุภชัย กล่าวเสริมว่า ในฐานะที่ไรส์เป็นสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร และเป็นคนกลางระหว่างสตาร์ทอัพกับผู้ประกอบการ มีภารกิจหลักที่จะผลักดันในเรื่องของการเพิ่ม 1% จีดีพีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งปัจจุบันมองว่าไม่เพียงพอเนื่องจากโควิด-19 อีกทั้งสภาพัฒน์ได้มีการแถลงตัวเลขจีดีพีไทย ประจำไตรมาส 2 ปี 2563 (มี.ค.-มิ.ย.) ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ผ่านมาจีดีพีติดลบ 12.2% เพราะฉะนั้นเราจึงมีแผนที่ปรับเป้าเพิ่มขึ้นจาก 1% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันในการผลักดันประเทศ แต่กระนั้นจะต้องรอดูผลการดำเนินงานปลายปีจึงจะสามารถวางแผนดำเนินการต่อไปได้


อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นไรส์ได้มีแผนการดำเนินงานในการผลักดันองค์กรต่างๆให้สามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยนำแผนประคองกิจการภายในองค์กร (Business Continuity Plan : BCP) เป็นเหมือนแผนการที่เตรียมไว้ เพื่อให้องค์กรพร้อมรับมือกับสภาวะฉุกเฉิน หรือเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่นไม่มีสะดุด เพราะวันนี้หากองค์กรไม่ปรับตัวอาจจะนำไปสู่การลดครอส ลดราคาสินค้า เนื่องจากทุกธุรกิจมีซัพพลายมากกว่าดีมานด์

159798879367


“ทั้งนี้ จากการทำงานเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่ผ่านมาไรส์เติบโตเยอะมาก ซึ่งปัจจุบันมีสำนักงานอยู่ 3 แห่งคือ ประเทศไทย สิงคโปร์ และมาเลเซีย ได้สร้างระบบนิเวศด้านนวัตกรรมองค์กรผ่านเครือข่ายทั่วโลก เป็นองค์กรชั้นนำกว่า 400 แห่งในเอเชีย สตาร์ทอัพกว่า 2 พันราย และคอมมูนิตี้ด้านนวัตกรรมอีก 40 ประเทศทั่วโลก ภายในเวลา 4 ปี ไรส์ได้สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เทียบเท่าการจ้างงานเพิ่มกว่าแสนตำแหน่งให้เอเชียตะวันออกเฉียงใต้”


ดังนั้น ไรส์จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมในช่วงโควิด-19 ที่จะสามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาสให้กับองค์กร จึงพัฒนา Innovation Continuity Plan หรือ ICP ขึ้นมา เพื่อเป็นแผนในการสร้างหรือพัฒนานวัตกรรมภายในองค์กรที่ใช้รับมือเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้การดำเนินงานปกติขององค์กรต้องหยุดชะงักลง ทำให้องค์กรสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อเนื่องได้เร็วที่สุดด้วยโซลูชั่นใหม่ คู่ขนานกับ Business Continuity Plan ขององค์กร พร้อมฝ่าวิกฤตการณ์โควิดด้วยนวัตกรรม

รุกจัดไฮบริด ปั้นองค์กรนวัตกรรม
นายแพทย์ศุภชัย กล่าวต่อไปว่า ไรส์ยังได้เดินหน้าจัดงาน “Corporate Innovation Summit 2020 LIVE” ระหว่างวันที่ 15 - 17 กันยายนนี้ (cis.riseaccel.com) ภายใต้ธีมงาน ‘The Celebration of Resilence’ ด้วยแนวคิดที่ว่า ‘นวัตกรรม คือ สัญลักษณ์ของมนุษย์ที่ไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับทุกวิกฤติ’ เพื่อนำเสนอเนื้อหาที่ออกแบบมาใหม่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนในองค์กรทางด้านนวัตกร ให้สามารถสร้างและพัฒนานวัตกรรมที่พลิกวิกฤตเป็นโอกาสใหม่ให้กับองค์กร สำหรับหลังยุคโควิด-19 โดยเฉพาะ


เนื่องจากโควิดเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญ เราจึงเปลี่ยนวิธีคิดในการจัดงาน on site เพื่อทำให้งานที่วางไว้รันต่อได้และไม่แตกต่างจากเดิมผ่านประสบการณ์ไฮบริด (Hybrid Experience) รองรับผู้บริหารกว่า 6,000 คนจากทั่วโลก ที่มีทั้งแพลตฟอร์มที่สามารถเข้าร่วมงานแบบออนไลน์เรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ผ่านเวิร์คชอปกว่า 100 หัวข้อที่เน้นการลงมือทำ รวมถึงทอล์คและช่วงเสวนาจากวิทยากรระดับโลกอาทิ แพตตี้ แมคคอร์ด (Patty McCord) หนึ่งในผู้สร้างวัฒนธรรมอันแข็งแกร่งของ เน็ตฟลิกซ์ (Netflix) บริการวิดีโอสตรีมมิ่งยักษ์ใหญ่จากสหรัฐอเมริกา

159798880991

หรือแม้กระทั่งผู้บริหารจากแอร์บีเอ็นบี (Airbnb) บริการจองที่พักแนวใหม่ที่ได้ทำการปรับตัวในวันที่ทุกคนหยุดเดินทาง ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ และกลยุทธ์การทำงาน แก้ปัญหาในสถานการณ์โควิด ที่สามารถลอนซ์แพลตฟอร์มใหม่เปิดเอ็กซ์พีเรียนซ์ออนไลน์พบปะผู้คนจากทั่วโลก พร้อมการร่วมเซสชั่นวิดีโอเชิงโต้ตอบกับผู้จัดเอ็กซ์พีเรียนซ์ที่มีความเชี่ยวชาญไม่เหมือนใครผ่านไลฟ์สดส่งตรงถึงบ้าน หลังจากปลดคนภายใน 2 อาทิตย์ และผู้นำทางความคิดทางด้านนวัตกรรมระดับโลกกว่า 200 ราย ที่จะมาแชร์ประสบการณ์และกลยุทธ์ วัฒนธรรมองค์กรเพื่อฝ่าสถานการณ์โลก


ทั้งนี้ยังปิดกว้างในส่วนออฟไลน์ที่เพื่อให้ผู้บริหารของไทย หรือผู้ที่ต้องการพบปะเพื่อทำความรู้จักและสร้างความร่วมมือใหม่ๆ ซึ่งจะส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจประเทศไทยต่อไปในอนาคตได้ ภายใต้ 5 หัวข้อ Corporate Innovation (นวัตกรรมองค์กร), Future of Work (การทำงานในอนาคต), Deep Technology (เทคโนโลยีขั้นสูง), Creative Innovation (นวัตกรรมสร้างสรรค์), and Social Innovation and Sustainability (นวัตกรรมเพื่อสังคมและความยั่งยืน) ซึ่งล้วนแต่เป็นความเคลื่อนไหวของโลกที่มีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนนวัตกรรมภายในองค์กรในยุคหลังโควิด-19 ทั้งสิ้น พร้อมพบกับสตาร์ทอัพจากทั่วโลกอีกกว่า 450 รายที่มานำเสนอเทคโนโลยีใหม่ ๆ เป็นโซลูชันให้กับองค์กร


กลุ่มเป้าหมายของงาน CIS2020 คือ
1.ผู้บริหาร ทั้งกลุ่มที่เป็นภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน เพราะเราเชื่อว่าการเปลี่ยนประเทศภาคเอกชนไม่สามารถทำได้ฝ่ายเดียวแต่ต้องอาศัยภาครัฐ อาศัยวิธีการคิดการทำงานร่วมกันที่จะสามารถส่งแรงกระเพื่อมมหาศาลได้ อีกทั้งในสภาวะวิกฤติแบบนี้ ผู้นำองค์กร คือ ตัวแปรที่สำคัญอย่างมากกับความอยู่รอดขององค์กรและพนักงาน สิ่งที่ต้องเริ่มทำตอนนี้คือ เริ่มคิดก่อน เริ่มลงมือทำก่อน หรือถ้าดีกว่านั้นคือพลิกวิกฤติเป็นโอกาส เริ่มกลับมายืนได้อีกครั้ง และมีกำลังพอที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นต่อเพราะสุดท้ายประเทศต้องเดินหน้าต่อไป

2.กลุ่มทาร์เล้นท์ที่มีศักยภาพที่องค์กรอยากจะส่งเสริมการทำงาน

3.ผู้ประกอบการ หรือธุรกิจครอบครัว รวมไปถึงเอสเอ็มอีที่จะนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้

159798891968


“ไฮไลท์คือเราอยากจะ celebration resilience เพราะเราไม่อยากให้คนกังวลถึงการเกิดขึ้นของวิถีใหม่อย่างนิวนอร์มอล และในเรื่องของเศรษฐกิจที่ติดลบ เพราะฉะนั้นมันถึงเวลาที่ทุกคนจะต้อง Bounce Back พร้อมที่จะทำให้กลับมาอย่างเข้มแข็ง ซึ่งทุกภาคส่วนจะเข้ามาช่วยกันที่ไม่ใช่แค่ทรานฟอร์มคนและองค์กร ด้วยองค์ความรู้ ทักษะ และเครื่องมือใหม่ๆ เท่านั้น แต่หวังผลักดันประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้กลายเป็นหนึ่งในย่านธุรกิจและนวัตกรรมของโลก เพราะฉะนั้นในงานนอกเหนือจากเรื่องพวกนี้ สุดท้ายสิ่งที่เราบอกตลอดคือ คนที่มางานจะมาเพื่อได้ 3 สิ่งกลับไปคือ 1.วิธีคิด (Mindsets) ที่จะทำให้องค์กรพร้อมที่จะเด้งกลับอย่างรวดเร็ว 2.ทักษะ (Skilsets) วิธีการใหม่ๆ เพราะไม่ใช่แค่งานที่มาฟังและได้แรงบันดาลใจแต่จะได้ลงมือทำเพื่อให้ได้สกิลใหม่ๆกลับไป 3.เครื่องมือ (Toolset) ที่จะส่งเสริมองค์กรนวัตกรรม พร้อมทั้งต้องมีระบบสนับสนุนให้สิ่งเหล่านี้มีผลในระยะยาว ทั้งหมดนี้จะเริ่มได้นั้นต้องเริ่มจากระดับซีอีโอ” นายแพทย์ศุภชัย กล่าว