ย้อนไทม์ไลน์ ‘ค่าเงินเยน’ ญี่ปุ่น เปิดประวัติการแทรกแซงสกุลเงินในรอบ 51 ปี

ย้อนไทม์ไลน์ ‘ค่าเงินเยน’ ญี่ปุ่น เปิดประวัติการแทรกแซงสกุลเงินในรอบ 51 ปี

เปิดไทม์ไลน์! ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น ถูก แทรกแซงสกุลเงิน ครั้งใหญ่ๆกว่า 13 ครั้งในเวลา 51 ปีที่ผ่านมา หลังค่าเงินเย็นทรุดตัวอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.245 เยนต่อดอลลาร์ และพุ่งขึ้นแข็งค่าเป็น 155.2 เยนต่อดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง หรือ BOJ กำลังเข้าแทรกแซง?

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ค่าเงินเยน” ของ ญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 29 เมษายน ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่าเป็นสัญญาณการ แทรกแซงสกุลเงิน จากทางการญี่ปุ่น เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนที่กำลังอ่อนค่าลง

หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.245 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย จากนั้นเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 159.5 เยนต่อดอลลาร์เป็น 155.2 เยนต่อดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้สาเหตุของการแข็งค่าของเงินเยนยังไม่ชัดเจน แต่บางส่วนมองว่าเป็นการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ)  ขายดอลลาร์และเข้าซื้อเยน

 

ก่อนหน้านี้ ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่ในเดือนต.ค. 2565 โดยใช้วงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.35 ล้านล้านเยนหรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 151.94 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี 

โดยในประวัติศาสตร์ของตลาดปริวรรตเงินตราญี่ปุ่นรัฐบาลมีการเข้าแทรกแซงครั้งใหญ่ๆ กว่า 13 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2516 เมื่อทางการเงินของญี่ปุ่นตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างอิสระเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินเยนเริ่มมีค่าผันผวนตามกลไกตลาด

 

ย้อนรอยการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตั้งแต่จุดเริ่มต้น

  • 2528 พลาซ่า แอคคอร์ด จุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่น

พลาซ่า แอคคอร์ด คือ ข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G5) ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528 ณ โรงแรมพลาซ่า นครนิวยอร์ก

โดยของข้อตกลงนี้ มุ่งแก้ไขปัญหาค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ส่งผลให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก G5 อื่นๆ

และแล้วพลาซ่าแอคคอร์ดส่งผลให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นตามมา

  • 2530 ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 จำนวน 6 ประเทศ ลงนามในความตกลงลูฟร์ (Louvre Accord) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสกุลเงินต่างๆ และหยุดยั้งการอ่อนค่าลงของดอลลาร์
  • 2531 BOJ ซื้อดอลลาร์สหรัฐและขายเงินเยน

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ ร่วงลงแตะ 120.45 เยน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อซื้อดอลลาร์และขายเงินเยน

  • 2534 - 2535 BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยน โดยขายดอลลาร์
  • 2536 ตลอดทั้งปี BOJ ขายเงินเยนเพื่อสกัดกั้นความแข็งค่า
  • 2537 -  2538 BOJ ร่วมกับสหรัฐ และยุโรป แทรกแซงตลาดเพื่อหนุนดอลลาร์

ญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐและยุโรป แทรกแซงตลาดเพื่อหนุนดอลลาร์ หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเทียบกับเงินเยน ทำให้สหรัฐเข้าแทรกแซงตลาดหลายครั้ง โดยมักร่วมมือกับธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรป เพื่อหนุนดอลลาร์

  • 2540 - 2541 BOJ ร่วมกับสหรัฐ ซื้อเงินเยน

วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง แตะเกือบ 148 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม 2541 ถึงแม้ว่าทางการสหรัฐจะร่วมมือกับ BOJ เข้าซื้อเยนก็ตาม

  • 2542 - 2543 BOJ เทขายเงินเยน 18 ครั้ง

BOJ เทขายเงินเยนอย่างน้อย 18 ครั้ง รวมถึงการขายผ่านธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) 1 ครั้ง และธนาคารกลางยุโรป (ECB) 1 ครั้ง เนื่องจากกังวลว่าความแข็งค่าของเงินเยนจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เงินเยนก็ยังคงแข็งค่าขึ้น

  • 2544 ทาง ECB และ Fed แทรกแซงแทน BOJ

BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อขายเงินเยน หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา ECB และเฟดสาขานิวยอร์กได้ดำเนินการแทรกแซงแทน BOJ

  • 2545 ทาง BOJ ขายเงินเยน โดยมีสหรัฐและ ECB สนับสนุน

BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อขายเงินเยน โดยมักได้รับการสนับสนุนจากเฟดและ ECB ถึงแม้ว่าเงินเยนจะยังคงแข็งค่าขึ้น

  • 2547 ญี่ปุ่นยุติการแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากที่ใช้เงินไปแล้ว 35 ล้านล้านเยน หรือกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือน
  • กันยายน 2553 BOJ ขายเงินเยนในรอบ 6 ปี

 ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยขายเงินเยน เพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยนหลังจากดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปีที่ อยู่ที่ 82.87 เยนต่อดอลลาร์

  • 2554  BOJ ร่วมกับ G7 แทรกแซงตลาดเพื่อหยุดยั้งความแข็งค่าของเงินเยน

กลุ่ม G7ร่วมมือกันแทรกแซงตลาดเพื่อหยุดยั้งความแข็งค่าของเงินเยน หลังจากเงินเยนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว

  • 2554 BOJ แทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยน

 ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งเจ้าหน้าที่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 

  • 10 มิถุนายน 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นและ BOJ ออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเยนอ่อนค่า

รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่าพวกเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงทะลุ 134 เยนต่อดอลลาร์

  • 7 กันยายน 2565  ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ โฆษกรัฐบาลระดับสูงของญี่ปุ่น ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ‘อย่างรวดเร็วในลักษณะด้านเดียว’ (One-Sided) หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงหลุด 143 ต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลอาจต้องการใช้ ‘ขั้นตอนที่จำเป็น’ หากการอ่อนค่าดังกล่าวยังดำเนินต่อไป นับเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
  • 22 กันยายน 2565 กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นแถลงว่าได้ทำการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยการซื้อเงินเยน จนส่งผลให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน เงินเยนของญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงต่อดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดในรอบ 24 ปี โดยลงไปเกือบ 146 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงอีก 0.75% ในวันก่อนหน้า
  • ตุลาคม 2565 ครั้งล่าสุดที่ BOJ  ใช้เงินกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยน

ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากกว่า 7 เยน ภายในวันเดียวในวันที่ 21 ต.ค. ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าเป็นผลมาจากการที่ทางการเข้าซื้อเยน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ชุนอิชิ ซูซูกิ ปฏิเสธที่จะยืนยันว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

และล่าสุดในปี 2567 ทาง BOJ และ กระทรวงการคลัง และ FSA ประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเงินเยนอ่อนค่า

เมื่อ 27 มีนาคม 2567 ธนาคารกลางญี่ปุ่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น ได้ประชุมกันหลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เทียบกับดอลลาร์และส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าแทรกแซง

 

อ้างอิง reuters