'ควอลิตี้ พลัส' สตาร์ทอัพสายดีพเทค กวาดรางวัลปูพรมแดงโกอินเตอร์

'ควอลิตี้ พลัส' สตาร์ทอัพสายดีพเทค กวาดรางวัลปูพรมแดงโกอินเตอร์

2 ปัจจัยขับเคลื่อนสตาร์ทอัพสายดีพเทค “Quality Plus” ปัจจัยแรกตั้งมั่นในพลังความรู้บนฐานงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ปัจจัยที่สอง เดินหน้าเข้าร่วมทุกโครงการประกวด-พิทชิ่ง ผลักดันชื่อบริษัทและแบรนด์ให้เป็นที่รับรู้และยอมรับในระดับอินเตอร์

Quality Plus เดิมให้บริการรับจ้างผลิตเครื่องสำอาง กระทั่ง 5-6 ปีที่ผ่านมามีผู้เล่นในตลาดเพิ่มขึ้นมาก จึงผันตัวเองมาเป็นผู้สร้างนวัตกรรมด้านสุขภาพและความงามเพื่อการส่งออก ส่วนธุรกิจรับจ้างผลิตก็ยังดำเนินการในลักษณะพาร์ทเนอร์ นอกจากผลิตแล้วยังดูแลการวิเคราะห์ทดสอบและส่งเสริมโปรดักส์ ยกตัวอย่าง เซรั่มบำรุงเส้นผมและหนังศีรษะ บริษัทเป็นผู้ผลิตและทำวิจัยให้เบ็ดเสร็จ ทั้งนี้ บริษัทมีสูตรผลิตภัณฑ์รวมกว่า 1,000 รายการ แต่ที่เป็นสารสกัดและดีพเทคมีประมาณ 20 สิทธิบัตรของไทย แล้วก็มีอีกส่วนหนึ่งที่เป็นสิทธิบัตรทำร่วมกับญี่ปุ่น

“ผมบอกเลยว่า ถ้าจะทำสตาร์ทอัพก็ต้องดันทุรังทำให้ถึงที่สุด อย่าให้การปฏิเสธต่างๆ มาลบล้างความศรัทธาของเรา ย้อนไปช่วงเริ่มต้นได้เสนอขอทุนจะทำโปรเจคสารสกัดมังคุดแล้วถูกปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าทำกันมากแล้ว แม้ว่าผมจะทำ “ดีพ ไบโอเทค” ที่สามารถต่อยอดสู่ธุรกิจยาได้ แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าธุรกิจสตาร์ทอัพจะไปไกลถึงอุตสาหกรรมยาได้สำเร็จ” วุฒิพงษ์ ผาณิตเศรษฐกร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ควอลิตี้ พลัส เอสเทติค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าว

แจ้งเกิดผ่านเวทีประกวด

บริษัทควอลิตี้พลัสฯ ทำธุรกิจรับจ้างผลิตให้กับแบรนด์เครื่องสำอางต่างๆ ต่อมาได้สร้างแบรนด์ของตนเองในชื่อแอคนอค (Acnoc) ผลิตยาแต้มสิวและเวชสำอางจากสารสกัดเปลือกมังคุด ซึ่งแตกต่างจากสารสกัดของผู้ผลิตรายอื่น โดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูงสกัดสารที่อยู่ระดับลึกลงไปออกมา ซึ่งเรียกว่า “แซนโทนบริสุทธิ์” และทำสูตรเจลนาโนลดการอักเสบของสิว

159758567574

วุฒิพงษ์ กล่าวว่า อีกหนึ่งกลไกที่ผลักดันให้บริษัทก้าวมาไกลถึงระดับนานาชาติคือ ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือทีเซลส์ ที่จัดโครงการประกวดต่างๆ เพื่อคัดเลือกสตาร์ทอัพด้าน life science ที่มีศักยภาพความเป็นไปได้ทางธุรกิจ แล้วให้ทุนสนับสนุนมูลค่า 5 แสนบาททำการทดสอบยืนยันประสิทธิภาพกับสถานวิจัยเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งยังพาไปประกวดและร่วมงานเอ็กซ์โปต่างประเทศ

“ผมร่วมงานกับทีเซลส์ครั้งแรกเมื่อปี 2560 ในงานประกวด SME Innovation Champion Product Awards ปรากฏว่า เจลแต้มสิวของแอคนอคคว้าชนะเลิศก็ถูกพาไปพิทชิ่งที่ฝรั่งเศส ก็มีผู้ประกอบการระดับมหาชนจากแคนาดาสนใจในสารสกัดของเรา ปีถัดมาก็เข้าประกวดอีกในโครงการ Bio Pitch & Partner จัดที่ Thailand Lab Expo ก็ได้ชนะเลิศแล้วก็ได้ไปออกบูธที่สิงคโปร์ ส่วนรอบ 3 ที่ทำงานกับทีเซลส์เป็นโครงการ STARTUP Thailand Grand Pitching Challenge 2561” 

ทีเซลส์เป็นองค์กรสนับสนุนผู้ประกอบการด้านสุขภาพและการแพทย์ให้เข้าถึงกระบวนการทดสอบ เพื่อให้ได้ผลมายืนยันว่า สารแซนโทนบริสุทธิ์จากเปลือกมังคุดเป็น Super High Value added ลดปัญหาสิวและการอักเสบได้จริง ปัจจุบันแอคนอคมีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 4-5 ตัวล้วนอยู่บนพื้นฐานงานวิจัยสารสกัดจากธรรมชาติ เช่น เปลือกมังคุด โดยใช้ของเหลือจากผลิตผลการเกษตรมาแปรสภาพเป็นสารสกัดบริสุทธิ์ 

159758558321


ล่าสุดคือ ผลิตภัณฑ์ แอคนอค ออลไฮบริด เอสเซนส์ ถือเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยจาก ม.เกษตรฯ และ ม.ธรรมศาสตร์ มาพัฒนาต่อยอดในอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ ทั้งเป็นทางออกของปัญหาเจลแต้มสิวถูกก๊อปปี้ ผลิตภัณฑ์ใหม่นี้ใช้เทคโนโลยีการสกัดสารขั้นสูง เพื่อให้ได้สารสำคัญที่ออกฤทธิ์ดีขึ้น

ก้าวต่อไปของบริษัทฯ ในส่วนที่เกี่ยวกับทีเซลส์นั้นในฐานะที่เคยเป็นผู้รับการส่งเสริม จึงได้ผันตัวเองมาเป็นผู้ให้การสนับสนุนผ่านแพลตฟอร์ม MELB ที่นำพาอุตสาหกรรมสุขภาพและความงามรวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ ข้ามข้อจำกัดในด้านเงินทุน รวมถึงช่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมขั้นสูง เทคโนโลยี นักวิจัยและนวัตกรรม ให้สามารถนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ใช้สร้างขึ้น ไปใช้ในเชิงเชิงพาณิชย์ได้ ตลอดจนช่วยเหลือผู้คนในสังคมที่มีความต้องการใช้ หรือขาดแคลนสิ่งต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ได้ร่วมแบ่งปันประสบการณ์ความรู้ให้กับสตาร์ทอัพด้วย 

159758564436

สตาร์ทอัพขยับสู่ผู้ผลิตยา

เป้าหมายต่อไปของวุฒิพงษ์คือ การต่อยอดเข้าสู่อุตสาหกรรมยาโดยโฟกัสไปที่ยาสำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่มีการฉายแสง โดยบิซิเนสแพลนตั้งเป้าปี 2565 จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ (ไอพีโอ) เนื่องด้วยขนาดธุรกิจทำให้มีข้อจำกัดด้านการเงินทุนที่จะเดินหน้าโครงการพัฒนายา  

"เส้นทางงานวิจัยทำให้เราชัดเจนในตัวสารสำคัญจากธรรมชาติ โดยมีผลการทดสอบยืนยันประจักษ์ชัดเจน ทั้งยังทำให้มีข้อมูลมากพอที่จะก้าวสู่โครงการที่ใหญ่ขึ้นก็คือการพัฒนายา ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย 2 โครงการ ได้แก่ ยาทาต้านอักเสบ ได้รับทุนอุดหนุน 38 ล้านบาทจากรัฐบาลผ่านกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ โดยร่วมกับมหาวิทยาลัย 2 แห่งดังกล่าว คือ ม.เกษตรฯ ดูแลการพัฒนาสารบริสุทธิ์ และ ม.ธรรมศาสตร์ดูแลการพัฒนาสูตรนำส่งยานาโน ซึ่งมีคุณสมบัติยึดเกาะผิวและสร้างเนื้อเยื่อได้ดีขึ้น 

159758570052

ล่าสุดโครงการมาถึงขั้นตอนการทดสอบสูตรต่างๆ ภายในหลอดทดลองเรียบร้อยแล้ว และเตรียมจะไปสู่ขั้นตอนสัตว์ทดลอง คาดว่าจะใช้เวลาดำเนินการอีกประมาณ 1 ปี เมื่อเสร็จแล้วก็จะระดมทุนอีกรอบสำหรับการทดสอบในคน ส่วนโครงการที่สองเป็นการพัฒนายามะเร็งร่วมกับมหาวิทยาลัยและทำการทดสอบในโรงพยาบาลที่ญี่ปุ่น ซึ่งมีความคืบหน้าอย่างมาก