บก.ปอศ.ชี้ไทยละเมิดซอฟต์แวร์พุ่ง

บก.ปอศ.ชี้ไทยละเมิดซอฟต์แวร์พุ่ง

เล็งลุยเข้มปราบปราม ตั้งเป้าลดอัตราการละเมิดฯ 3% ต่อปี

สำหรับปี 2563 เจ้าหน้าที่มีแผนเพิ่มการสื่อสารข้อมูลเรื่องความเสี่ยงจากการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิให้มากขึ้น ควบคู่ไปกับการบังคับใช้กฎหมาย เพื่อลดอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยให้ได้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ดี จากปี 2562 ถึงขณะนี้ มีผู้แจ้งเบาะแสการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในองค์กรธุรกิจเข้ามามากกว่า 100 ราย และเจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและสืบสวนเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการ

บก.ปอศ. ตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในประเทศไทยลดลงโดยเฉลี่ยมากกว่า 3% ต่อปี และลดลงเร็วสุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

ด้านนางสาวนุสรา กาญจนกูล รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า การส่งเสริมการใช้และปกป้องคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อย่างเหมาะสม รวมถึงการพัฒนาระบบทรัพย์สินทางปัญญาเป็นเรื่องสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีต่อการค้า การลงทุน และการสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุน

กรมฯ ได้ผลักดันการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายลิขสิทธิ์ให้มีความทันสมัย เพื่อให้ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นภาคีสนธิสัญญาว่าด้วยลิขสิทธิ์ขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WCT) ซึ่งเป็นสนธิสัญญาเกี่ยวกับการคุ้มครองลิขสิทธิ์บนสื่อดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงปรับปรุงบทบัญญัติเกี่ยวกับการยกเว้นความรับผิดของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต(ไอเอสพี) โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเจ้าของลิขสิทธิ์และผู้ให้บริการในการแจ้งเตือนและนำงานละเมิดลิขสิทธิ์ออกจากระบบ(Notice and Takedown) หวังว่าจะสามารถนำร่างพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ...เสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้ภายในปีนี้

นางสาววารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้จัดการประจำประเทศไทย พันธมิตรซอฟต์แวร์ (บีเอสเอ) กล่าวเสริมว่า กลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ในไทยยังมีการใช้งานซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ขณะเดียวกันพบแนวโน้มการใช้งานซอฟต์แวร์โดยไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นในบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก(เอสเอ็มอี)

บีเอสเอพบด้วยว่าองค์กรธุรกิจที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่ยังไม่มีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management : SAM) หรือมีการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไม่ดีพอเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล

นอกจากนี้ ขาดการบูรณาการเข้ากับกลยุทธ์ด้านการรักษาความปลอดภัยสารสนเทศ(Information Security) ซึ่งทำให้องค์กรเหล่านี้มีความเสี่ยงด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มีโอกาสที่ความลับทางการค้าและข้อมูลสำคัญรั่วไหล คู่ค้าหรือนักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น และอาจหันไปเลือกลงทุนกับองค์กรธุรกิจที่ใช้งานซอฟต์แวร์อย่างถูกต้องในประเทศอื่นในอาเซียนแทน

พร้อมระบุว่า ช่วง 10 ปีที่ผ่านมาสิ่งที่จำเป็นที่สุดที่จะทำให้อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ในไทยลดลงได้อย่างรวดเร็ว คือความร่วมมือจากผู้บริหารองค์กรในการกำกับดูแลการใช้งานซอฟต์แวร์ให้เป็นไปอย่างถูกต้อง การเพิ่มทักษะของเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศในเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในระดับสากล รวมถึงการนำเรื่องการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารองค์กร