‘รักษ์โลก-กล้าแสดงออก-มีอัตลักษณ์’ วิจัยชี้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่

‘รักษ์โลก-กล้าแสดงออก-มีอัตลักษณ์’ วิจัยชี้พฤติกรรมคนรุ่นใหม่

นักวิจัยการตลาดตกผลึกพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ เผยต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งกายและใจ เข้าใช้พื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น ให้น้ำหนักแบรนด์ที่ใส่ใจโลกและกล้าแสดงออก จับมือ วว.ส่งต่อผู้ประกอบการเร่งประยุกต์ใช้บริหารจัดการวางแผนทำตลาดตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย

‘หมดยุคตามใจฉัน’

พรรณิดา แก้วปทุมทิพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สปริงบอร์ดคอลซัลติ้ง จำกัด ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวิจัยตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ได้สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่และปัจจัยที่จะส่งผลต่อทิศทางการขับเคลื่อนแบรนด์ในงาน “แบรนด์ ดีเอ็นเอ 2020” โดยศูนย์การบรรจุหีบห่อไทย สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีประเทศไทย (วว.) ว่า แนวโน้มพฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าจับตาคือ 1.การมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจแบบองค์รวม โดยพิจารณาจากคุณค่าที่ได้รับและความสะดวก

158022312891

2.ความเป็นอยู่ที่เชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมภายนอก เนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้น เมืองหนาแน่นขึ้น พื้นที่ใช้สอยมีจำกัด ผู้บริโภคมีแนวโน้มจะอยู่อาศัยแบบพึ่งพากันหรือใช้พื้นที่ส่วนกลางมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องคำนึงถึงจุดนี้เพื่อปรับโมเดลธุรกิจให้เข้ากับสภาพการเปลี่ยนแปลงนี้ 3.เทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกสบาย 4.สิทธิของผู้บริโภค และความรับผิดชอบต่อสังคมของแบรนด์

5.ผู้บริโภครุ่นใหม่มีอัตลักษณ์และกล้าแสดงออก นิยามเรื่องเพศสภาพ เชื้อชาติจะเปลี่ยนไป จะไม่มีเขตกั้นแบ่งที่ชัดเจนอีกต่อไป 6.ให้คุณค่ากับสังคมมากกว่าคุณค่าทางเศรษฐกิจ มองหาสิ่งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แบรนด์ที่ใส่ใจโลกมากกว่าการแสวงหาผลกำไร และสุดท้าย 7.แสวงหาประสบการณ์ใหม่ๆ ในรูปแบบต่างๆ โดยไม่มีข้อจำกัดและเป็นรูปแบบเฉพาะเจาะจง

"ผู้ประกอบการที่รู้และเข้าใจแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคในเชิงลึก รู้จริง จะทำให้การผลิตสินค้าและบริการตรงต่อความต้องการที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลาได้มากยิ่งขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัยก็แตกต่างกันออกไป และที่สำคัญคือ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเป็น “ปลาฉลาดควบคู่ไปกับปลาไว” จะทำให้การรับมือในเชิงธุรกิจ และการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์นั้นเป็นไปในทิศทางที่ดี”

นวัตกรรมสร้างตราสินค้า

พรรณิดา อธิบายต่อไปว่า กระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับพัฒนานวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่ จึงต้องให้ความสำคัญกับความต้องการหรือปัญหาต่างๆ ของผู้บริโภคในเชิงลึกเป็นหลัก ด้วยการนำผู้ใช้มาเป็นจุดศูนย์กลางในการพัฒนา แล้วระดมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้ได้มาซึ่งนวัตกรรมที่จะตอบสนองความต้องการหรือแก้ไขปัญหาให้กับบริโภคเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดและโดนใจ

158022322177

“ขณะเดียวกัน หลักการตลาดเบื้องต้นและโมเดลการสร้างแบรนด์ จะต้องประกอบด้วย 1.กระบวนการในการทำตลาด STP คือ การแบ่งกลุ่มผู้บริโภค (Segmentation) เนื่องผู้บริโภคไม่ใช่กลุ่มคนที่เหมือนกัน มีความแตกต่างหลากหลายซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะทำให้สินค้าถูกใจคนทุกกลุ่ม เราจึงต้องเลือกว่าจะขายใคร แล้วรู้จักผู้บริโภคกลุ่มนั้นมากน้อยแค่ไหน เพื่อที่จะผลิตสินค้าได้ตรงตามความต้องการมากที่สุด หรืออาจจะทำให้พบช่องว่างทางการตลาดใหม่ๆ ที่ยังไม่มีรายใดผลิต"

2.การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย (Target) โดยจะต้องดูว่าผู้บริโภคเป้าหมายคือใคร อายุเท่าไร ฐานะทางการเงินระดับใด 3.ตำแหน่งทางการตลาด (Positioning) หมายถึงคุณลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ปรากฏชัดเจนในใจกลุ่มผู้บริโภคเป้าหมาย ซึ่งสามารถจดจำและแยกแยะสินค้าประเภทเดียวกันได้

ทอดสะพานมัดใจลูกค้า

ส่วนการสร้างแบรนด์ (Brand Building) ที่ไม่ใช่เพียงแค่ชื่อสินค้า โลโก้หรือโฆษณา แต่คือความรู้สึก ความประทับใจโดยรวมต่อสินค้ายี่ห้อนั้นๆ ที่ถูกสร้างขึ้นภายในจิตใจของผู้บริโภคทั้งจากประสบการณ์การใช้สินค้า ภาพลักษณ์ขององค์กร

ก่อนที่จะทำการสร้างแบรนด์ สิ่งสำคัญที่เจ้าของแบรนด์ต้องทราบคือ 1.กลุ่มเป้าหมาย 2.จุดแข็งและคุณประโยชน์ที่แตกต่างจากสินค้าอื่นๆ และเมื่อได้ข้อสรุปตรงจุดนี้จึงจะต่อยอดสู่หลักการสร้างแบรนด์นั่นคือ 1.การกำหนดทิศทางการตลาดของสินค้า 2.การสร้างความแตกต่างด้านความรู้สึกและอารมณ์ อย่างเช่นผลิตภัณฑ์แบรนด์ศรีจันทร์ ที่มีการทรานส์ฟอร์มเปลี่ยนมือสู่ผู้บริหารคนรุ่นใหม่ แต่ยังคงคอนเซ็ปต์ของความเป็นไทยอย่างชัดเจน ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่มีความร่วมสมัยเหมาะ แสดงให้เห็นถึงการปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น แต่ยังคงจุดแข็งความเป็นศรีจันทร์เอาไว้

158022317289

“การที่จะทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและสินค้าตอบโจทย์ผู้บริโภคได้อย่างแท้จริงนั้น จะต้องคำนึงถึงส่วนประกอบทางการตลาดหรือ Marketing Mix โดยปรับเปลี่ยนเป็น 4Cs ในมุมมองของผู้บริโภคยุคใหม่ได้แก่ คุณค่าที่ลูกค้าจะได้รับ ราคาที่ลูกค้าต้องจ่าย ความสะดวกในการซื้อของลูกค้า และการสื่อสารกับลูกค้า”

ทั้งหมดนี้จึงเป็นหัวใจของการตลาด ที่ไม่ใช่แค่การสร้างให้เกิดความพึงพอใจเท่านั้น แต่จะต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้บริโภค และการค้นหา Customer Insight ซึ่งนับเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ผู้ประกอบการบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าว เพื่อสร้างความสำเร็จที่แท้จริง ความยั่งยืนทางการตลาด และมีความโดดเด่นเหนือคู่แข่งได้