บัตรทอง 30 บาท กทม. ร้องปม”ส่งตัวผู้ป่วย”กว่า 3,000 สปสช.ตั้งกรรมการสอบสวนฯ

บัตรทอง 30 บาท กทม.  ร้องปม”ส่งตัวผู้ป่วย”กว่า 3,000 สปสช.ตั้งกรรมการสอบสวนฯ

บัตรทอง 30 บาท กทม.เกิดปัญหาต่อเนื่องเรื่อง“ใบส่งตัวผู้ป่วย” มียอดร้องเรียนกว่า 3,000 เรื่องปมเกี่ยวเนื่อง “ไม่ส่งตัว” สปสช.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯเสร็จภายใน 1 เดือน เดินหน้าหาคลินิก-หน่วยบริการใหม่ รองรับดูแลปฐมภูมิ

KEY

POINTS

  • ผู้ป่วยสิทธิบัตรทอง 30 บาท กทม. ร้องเรียนประเด็นเกี่ยวกับหน่วยบริการปฐมภูมิ คลินิกชุมชนอบอุ่น ไม่ออกใบส่งตัวผู้ป่วย กว่า 3,000 เรื่อง  
  • คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดพิเศษ หาความจริงปัญหาใบส่งตัวผู้ป่วย บัตรทอง 30 บาท กทม. เสร็จใน 1 เดือน
  • สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) เดินหน้าประสานกรุงเทพมหานคร หาคลินิก หน่วยบริการปฐมภูมิใหม่ รองรับผู้ป่วยบัตรทอง 30 บาท กทม. 

     

"บัตรทอง 30 บาท กทม." ยังวุ่นต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือนมี.ค.2567 ที่มีการปรับรูปแบบการจัดสรรเงินให้"คลินิกชุมชนอบอุ่น"ที่เรียกว่าโมเดล 5 ใหม่ (OP New Model 5)  ซึ่งในการรับบริการในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นหน่วยบริการปฐมภูมิ

และมีศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นแม่ข่าย กรณีเจ็บป่วยให้เริ่มต้นรักษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิก่อน หากเกินศักยภาพ คลินิกชุมชนอบอุ่นต้องส่งต่อโรงพยาบาลรับส่งต่อเพื่อรักษาต่อไป  ปรากฎว่ามีผู้ป่วยร้องเรียนประเด็นเกี่ยวเนื่องกับเรื่อง “ส่งต่อการรักษา”จำนวนมาก

บัตรทอง 30บาท กทม.ร้องส่งต่อผู้ป่วยกว่า 3,000

ข้อมูลการเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่าประชาชนได้รับผลกระทบจากการเข้ารับบริการอย่างต่อเนื่อง โดยเรื่องร้องเรียนตั้งแต่วันที่ 27 ก.พ. - 23 เม.ย. 2567 มีจำนวนแล้ว 3,771 เรื่อง โดยเป็นกรณี

  • การร้องเรียนคลินิกชุมชนอบอุ่นมากที่สุด 3,020 เรื่อง
  •  ร้องเรียนโรงพยาบาลรับส่งต่อ 462 เรื่อง
  • และร้องเรียนศูนย์บริการสาธารณสุข 289 เรื่อง

ประเด็นที่มีการร้องเรียนมากที่สุด คือ

  • การถูกปฏิเสธการส่งตัว 1,475 เรื่อง
  •  การกำหนดเงื่อนไขการออกใบส่งตัว 473 เรื่อง
  • ไม่ส่งตัวไปรับบริการในโรงพยาบาลเดิม 449 เรื่อง
  • การถูกโรงพยาบาลปฏิเสธการใช้สิทธิรับบริการแบบ OP Anywhere (ผู้ป่วยนอกไปรับบริการที่ไหนก็ได้) 334 เรื่อง
  • และการไม่ส่งต่อไปยังหน่วยบริการรับส่งต่อตามสิทธิ 272 เรื่อง

บัตรทอง 30บาท กทม.ตั้งคณะกรรมการสอบสวนฯ

ล่าสุด 30 เม.ย. 2567 นพ.จเด็จ  ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) กล่าวว่า ยังมีประชาชนร้องเรียนเข้ามาที่สปสช.วันละ 20-30 รายผ่านช่องทางสายด่วนสปสช. 1330 แต่ที่ยังไม่ร้องเรียนเข้ามามีอีกมาก เมื่อวันที่ 25 เม.ย.2567 จึงได้นำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข

บัตรทอง 30 บาท กทม.  ร้องปม”ส่งตัวผู้ป่วย”กว่า 3,000 สปสช.ตั้งกรรมการสอบสวนฯ

และแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดพิเศษ ซึ่งเป็นอำนาจตามกฎหมายของสปสช.ในการดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน จะเสนอเข้าคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บอร์ดสปสช.) และดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมาย   

ประเด็นข้อร้องเรียน อย่างเช่น  คลินิกไม่ส่งตัว เรียกคนที่เคยได้ใบส่งตัวกลับมา หรือร่นระยะเวลาการส่งตัวลง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้เข้าข่ายไม่อำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

ทั้งนี้ เรื่องร้องเรียนทั้งหมดจะนำเข้าสู่การพิจารณาได้สิ่งสำคัญต้องมีหลักฐาน ไม่ใช่บัตรสนเท่ห์

1.ผู้ร้อง ต้องมีตัวตนจริง เปิดเผยชื่อได้ ติดต่อได้ พร้อมมาเป็นพยานได้ แ

 2.ต้องมีชื่อคลินิก หรือหน่วยบริการที่ถูกร้องเรียนอย่างชัดเจน

“หากตรวจสอบแล้วพบว่าคลินิกผิดจริง ก็มีมาตรการตั้งแต่ว่ากล่าวตักเตือน ส่งเรื่องสภาวิชาชีพ จนสุดท้ายยกเลิกสัญญา”นพ.จเด็จกล่าว 

หาคลินิกใหม่รองรับ "บัตรทอง 30 บาท กทม."

นพ.จเด็จ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาสปสช.สื่อสารกับคลินิกมาตลอด เพราะงบประมาณได้โอนไปให้คลินิกแล้ว  การที่คลินิกบางแห่งกังวลเรื่องเงินว่าจะไม่พอในการไปตามจ่าย จึงไม่ยอมส่งต่อผู้ป่วย แบบนี้ทำไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อประชาชน  

เรื่องนี้สปสช.เตรียมประสานคลินิก หรือหน่วยบริการใหม่ๆมารองรับ เพราะประชาชนที่เจอปัญหาตอนนี้ แม้ไปคลินิกเดิมก็ไม่ได้รับความสะดวกอยู่แล้ว ย่อมไม่มีใครอยากไป และจะพยายามให้ไม่ไกลบ้านผู้ป่วย  โดยทั้งหมดอยู่ในเครือข่ายของศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.69 แห่ง  และได้หารือร่วมกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครแล้ว

ย้ำไม่มีใบส่งตัว เบิกเงินได้ 

นพ.จเด็จ ยืนยันว่า สนับสนุนให้ประชาชนรักษาใกล้บ้าน แต่ตั้งแต่ปี  2565 กรณีผู้ป่วยไม่มีใบส่งตัว ระบบของสปสช.มีการรองรับหากอาการจำเป็นต้องส่งตัว  โดยอย่าเอาใบส่งตัวผู้ป่วยเพื่อวัตถุประสงค์เรื่องเงินมาเป็นประเด็น ซึ่งที่ผ่านมามองว่าที่รพ.ต้องการใบส่งตัว อาจเพราะต้องการรู้ประวัติผู้ป่วย ทั้งนี้ ในอนาคตหากมีการเชื่อมข้อมูลประเด็นใบส่งตัวเพื่อทราบประวัติผู้ป่วยก็จะหมดไป