สวทช.เติมความรู้ 'IoT-Agile' ในงานมหกรรมเทคโนโลยีอีสาน

สวทช.เติมความรู้ 'IoT-Agile' ในงานมหกรรมเทคโนโลยีอีสาน

สวทช.ส่งนักเทคโนโลยีร่วมถ่ายทอดประสบการณ์ความรู้เรื่อง ระบบ IoT และหลักการอไจล์ ให้แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค คาดให้มีการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจหรือในโรงงานมากยิ่งขึ้นภายในงาน Northeast TECH 19 จัดโดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ให้การสนับสนุนสภาอุตสาหกรรมจังหวัดนครราชสีมา ในการเข้าร่วมจัดงานแสดงนิทรรศการและจัดสัมมนาภายในงาน "Northeast TECH 19 มหกรรมเทคโนโลยีอีสาน" ใน 4 หัวข้อสัมมนาเพื่อให้ความรู้ในเรื่องการนำเทคโนโลยีและหลักการจัดการต่างๆ แก่ผู้ประกอบการในภูมิภาค เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจหรือโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมนำทีมผู้ประกอบการร่วมออกบูธแสดงสินค้าแก่ผู้เข้าชมงานตลอดงาน (31 ต.ค. - 3 พ.ย. 62) คาดให้มีการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ในธุรกิจหรือในโรงงานมากยิ่งขึ้น หวังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภูมิภาค และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมให้เติบโตยิ่งขึ้น

157285957554

นางสาว วทันยา สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สวทช. กล่าวว่า สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยเขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) เข้าร่วมสนับสนุนงาน Northeast TECH 19 ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ สู่ผู้ประกอบการไทย การพัฒนาศักยภาพ ยกระดับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน มุ่งผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยแข็งแกร่ง และสามารถก้าวสู่บนเวทีเศรษฐกิจระดับโลก

งานครั้งนี้ สวทช. ได้สนับสนุนการจัดสัมมนาให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการโรงงาน อาจารย์มหาวิทยาลัย เจ้าของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทั้งในระดับผู้บริหาร หัวหน้างาน และพนักงาน จำนวน 4 หัวข้อด้วยกัน ได้แก่ "การบริหารจัดการคลังอะไหล่สำหรับงานซ่อมบำรุงเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีระบบ IoT" "การสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมและหลักการจัดการแบบ Agile ที่ประยุกต์ใช้งานกับโรงงานอุตสาหกรรม" "การพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีออโตเมชั่นและ Industrial Internet of Thing (IIoT)" และ "อาลีบาบา คลังสินค้าอัจฉริยะและความคุ้มค่าการลงทุน" พร้อมกันนี้ ยังนำผู้ประกอบการเทคโนโลยีด้านต่าง ๆ ร่วมออกบูธแสดงสินค้า และให้ความรู้แก่ผู้เข้าชมงาน เพื่อให้ผู้เข้าชมงานหรือผู้ประกอบการในภูมิภาคได้รับความรู้ที่ทันสมัย สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจเพื่อช่วยลดต้นทุนในองค์กร และมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปใช้ในธุรกิจหรือองค์กรมากยิ่งขึ้น เกิดการซื้อขายในงานเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตยิ่งขึ้น

 IoT บริหารจัดการคลังอะไหล่

157285960916

ด้านวิทยากรการบริหารจัดการคลังอะไหล่ฯ ด้วย IoT นาย ถิรายุ วิไลลักษณ์ ผู้เชี่ยวชาญ บริษัท ไอเอส ซอฟต์แวร์ จำกัด กล่าวว่า ในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีระบบ IoT มีบทบาทอย่างมากในภาคของการผลิตของโรงงาน เพราะใช้ติดตามและตรวจสอบสถานะการดำเนินการผลิตได้อย่างทันทีทันใด ส่งผลถึงการได้มาของข้อมูลในการตัดสินใจในระบบบริหารอย่างถูกต้องแม่นยำ และการใช้ทรัพยากรของโรงงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงลดต้นทุนโดยรวมของการผลิตในสิ่งที่ไม่จำเป็น โดย "คลังอะไหล่" เปรียบเสมือนเป็นคลังยา หากเราถือว่าเครื่องจักรคือคนไข้ เพราะไม่เพียงแต่มีหน้าที่จัดเก็บยาเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงคุณภาพและจำนวนเพียงพอกับความต้องการ เช่นเดียวกับเครื่องจักรในระบบอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้อะไหล่ที่มีคุณภาพ เพื่อให้เครื่องจักรสามารถเดินเครื่องได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพราะหากคลังอะไหล่เกิดความผิดพลาดทั้งจำนวนที่ต้องมีหรืออะไหล่ที่มีอยู่ไม่มีคุณภาพเพียงพอ แน่นอนว่า ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับเครื่องจักรโดยตรง และส่งผลกับระบบการผลิตที่ไม่สามารถผลิตสินค้าตามความต้องลูกค้า หรือผลิตสินค้าที่ด้อยคุณภาพออกมา ทำให้โรงงานต้องเสียค่าใช้จ่ายและความเสียหายในที่สุด


"เทคโนโลยีระบบ IoT จะเข้ามามีบทบาทต่อการบริหารจัดการ 'คลังอะไหล่' ซึ่งถือเป็นหน่วยงานสนับสนุนหลักให้กับหน่วยงานซ่อมบำรุง โดยมีหน้าที่ทำการสำรองจำนวนอะไหล่อย่างเหมาะสมตามความต้องการของหน่วยงานบำรุงรักษา ซึ่งต้องทำงานกันอย่างสอดคล้อง และต้องการการใช้ข้อมูลร่วมกัน เพราะฝ่ายคลังอะไหล่ต้องทราบถึงช่วงเวลาที่ฝ่ายซ่อมบำรุงต้องการอะไหล่ว่าเป็นช่วงไหน และจำนวนเท่าไหร่ เพื่อคลังอะไหล่จะสามารถวางแผนการนำอะไหล่เข้าอย่างเหมาะสม และไม่นำเข้าจนมากเกินความต้องการ เพราะจะส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในหน่วยงานซ่อมบำรุงสูงขึ้นโดยไม่มีความจำเป็น ในทางตรงกันข้ามหากคลังอะไหล่ไม่มีอะไหล่ตามที่ฝ่ายบำรุงรักษาต้องการ อาจจะส่งผลให้การซ่อมเครื่องจักรต้องหยุดชะงักลง ทำให้เวลาในการหยุดเครื่องยาวนาน สุดท้ายส่งผลอย่างยิ่งต่อระบบการผลิต"

Agile ประยุกต์ใช้งานกับโรงงานอุตสาหกรรม

157285965015

ขณะที่วิทยากรการสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจด้วยหลักการอไจล์ (Agile) นาย ฐสิฐญ์ ศรีปรางค์ ที่ปรึกษาโครงการ บริษัท เอ็กซ์ตร้า โซลูชั่น เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวว่า หลักการจัดการแบบ Agile คือการจัดการหรือวิธีการทำงานที่มุ่งเน้นการตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก เพื่อตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ตลอดเวลา ดังนั้น จึงต้องเริ่มจากการสื่อสารที่ดี รวดเร็ว ทั่วถึงตลอดทั้งกลุ่มที่รับผิดชอบในการผลิตเพื่อส่งมอบผลงานแต่ละครั้ง โดยให้ผู้ปฏิบัติงานโดยตรงที่ไม่จำเป็นต้องตามชั้นของสายงานมาทำงานร่วมกัน แสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มที่ มีการทำงานและทดสอบเพื่อให้ได้ผลงานทีละเล็ก ทีละน้อย แล้วนำผลงานไปทดลองใช้และส่งมอบทันที แล้วยอมรับการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นโดยรีบแก้ไขก่อนที่จะมีการทำงานต่อเนื่องไปมากมายกว่านั้น

ดังนั้น หลักการ Agile จึงเหมาะกับยุค Disruptive ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว รุนแรง ซึ่งจุดได้เปรียบในการนำหลักการจัดการแบบ Agile มาประยุกต์ใช้งานกับโรงงานอุตสาหกรรม คือ จะเป็นการแข่งขันที่รวดเร็วเช่นการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด ที่จะมามัวรอขั้นตอนต่าง ๆ หรือการพิจารณาตามสายงานทีละขั้นได้ จำเป็นต้องใช้ทีมเฉพาะกิจ หรือทีมหัวกะทิที่ไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งในการบริหารแต่ใช้ความสามารถทางตรงเฉพาะเรื่องนั้น ๆ มารุมกันทำ (Scrum) เพื่อทำให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วเหนือคู่แข่งหรือทันตลาด นอกจากนี้ ยังมีความสำคัญต่อกระบวนการแก้ปัญหาในสายการผลิต ที่ต้องทันต่อเหตุการณ์ก่อนที่จะรุกลามใหญ่โต หรือเสียหายไปมากกว่านั้น โดยใช้ทีม Agile ที่เลือกมาจากผู้เกี่ยวข้องทุกส่วนงาน


"โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่จะสร้างแพลตฟอร์มทางธุรกิจด้วยหลักการจัดการแบบ Agile จำเป็นต้องใช้การระดมสมองด้วยความคิดที่แตกต่างในทุกระดับและสายงาน อีกทั้งการจัดการกระบวนความคิดเหล่านั้นให้ออกมาเป็นต้นแบบเพื่อนำไปสู่การทดลองหรือการเริ่มต้นเข้ากระบวนการพัฒนาธุรกิจที่สมบูรณ์ อาจต้องมีความหลากหลาย มีการเรียนรู้ มีการผิดพลาดแล้วแก้ไขปรับปรุงนับครั้งไม่ถ้วน ดังนั้น กระบวนการสร้างแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่ ๆ ด้วยความรวดเร็ว จึงสามารถนำหลักการ Agile มาใช้ได้เป็นอย่างดี"