‘เฉลิมรัฐ-อรนุช’ แนะยุทธวิธีลงทุน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

‘เฉลิมรัฐ-อรนุช’ แนะยุทธวิธีลงทุน ‘สินทรัพย์ดิจิทัล’

“เฉลิมรัฐ นาควิเชียร” ซีอีโอ Z.com พร้อมด้วย “อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ผู้ร่วมก่อตั้ง เทคซอส มีเดีย มาร่วมเปิดไอเดียใหม่ๆ สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น หลักสูตร “Digital Transformation for CEO”

เข้มข้นมากขึ้นอย่างต่อเนื่องสำหรับการอบรมในหลักสูตร “Digital Transformation for CEO” รุ่นที่ 1 โดยความร่วมมือระหว่างหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ และบริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน)

ล่าสุด “เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ซีอีโอ Z.com พร้อมด้วย “อรนุช เลิศสุวรรณกิจ” ผู้ร่วมก่อตั้ง เทคซอส มีเดีย มาร่วมเปิดไอเดียใหม่ๆ สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล และการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น มาดูกันว่าโจทย์ท้าทายที่ภาคธุรกิจต้องเผชิญมีอะไรอยู่บ้าง...

ชิงโอกาสตั้งแต่ยุคเริ่มต้น

เฉลิมรัฐ นาควิเชียร ประธานเจ้าหน้าที่บริการ(ซีอีโอ) กลุ่มบริษัท Z.com กล่าวว่า วันนี้อินเทอร์เน็ตเข้ามาสร้างการเปลี่ยนแปลงในทุกธุรกิจ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นแกนกลาง

เขากล่าวว่า ขณะนี้ยังอยู่ในยุคของการเริ่มต้น ซึ่งหากคิดจะลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ไอซีโอ หรือ เอสทีโอ โอกาสยังคงเปิดกว้างอยู่ มิเช่นนั้นหากรอให้นานกว่านี้มีโอกาสที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันบนสงครามราคา

“หากคิดจะทำอะไร ผมขอแนะนำว่าควรทำตั้งแต่ในยุคเริ่มต้นของการพัฒนานวัตกรรม โดยโอกาสทางการตลาดที่เป็นไปได้มีทั้งกับบล็อกเชนซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานอินเทอร์เน็ตยุคที่สอง อีโคซิสเต็มของสกุลเงินดิจิทัล สินทรัพย์ดิจิทัล ไอซีโอ และเอสทีโอ ฯลฯ สำคัญคือการทำความเข้าใจ ด้านภาครัฐต้องมีบทบาทที่เน้นการส่งเสริมและสนับสนุน”

อย่างไรก็ตาม โอกาสย่อมมาพร้อมกับความเสี่ยง แต่ไม่ว่าเหตุการณ์ในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบใดอย่าเป็นเพียงผู้ชม ให้เป็นผู้พัฒนา ให้สู้ในยุคที่ยังสู้ได้

ปรับแนวคิด-ร่วมลงทุน

เขาอธิบายเพิ่มเติมถึงพ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลว่า สินทรัพย์ต่างๆ มีบทบาทที่ต่างกันออกไป อย่างสกุลเงินดิจิทัล(คริปโตเคอร์เรนซี) คือหน่วยเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ สินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ และสิทธิอื่นใด

ขณะที่ โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน(investment token) คือ หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในการร่วมทุน เช่น สิทธิในส่วนแบ่งรายได้ ผลกำไรจากการลงทุน รวมถึงการออกและเสนอขายผ่านกระบวนการไอซีโอ ขณะที่โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์(Utility token) คือหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างเพื่อกำหนดสิทธิในการได้รับสินค้าหรือบริการที่เฉพาะเจาะจง ออกและเสนอขายผ่านกระบวนการไอซีโอ

“โอกาสนั้นเปิดกว้าง ไม่ใช่แค่ภายในประเทศไทย แต่สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ทั่วโลก ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าต้องสามารถยืนยันตัวตนลูกค้าได้ รวมถึงไม่เป็นช่องทางสำหรับการฟอกเงิน”

สำหรับด้านความเสี่ยงที่ต้องทราบก่อนลงทุนประกอบด้วย ธุรกิจสาร์ทอัพมีโอกาสล้มเหลวสูง ผู้ประกอบการธุรกิจไม่มีใบอนุญาต ไม่มีการรับประกันความสำเร็จหรือผลตอบแทน ถูกหลอกให้ลงทุนโดยอ้างไอซีโอหรือคริปโตฯ อาจไม่มีสภาพคล่องเปลี่ยนมือยาก ราคาผันผวน เสี่ยงถูกแฮ็กหรือลืมรหัสผ่าน และสุดท้ายการลงทุนต่างประเทศไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายในไทย กล่าวได้ว่าสินทรัพย์ดิจิทัลมีความเสี่ยงสูง หากไม่เข้าใจอย่าลงทุน

นอกจากนี้ ด้วยเป็นสกุลเงินที่อยู่บนดิจิทัล ความเสี่ยงยังสามารถมาจากอาชญากรรมบนโลกไซเบอร์ได้เช่นกัน ดังนั้นที่สำคัญต้องมีระบบที่ปลอดภัยและความรู้ความเข้าใจในการเก็บรักษาสินทรัพย์ด้วย

สำหรับประเทศไทย ปัญหาและอุปสรรคที่ผ่านๆ มาพบว่าผู้กำกับดูแลยังคงนำกฎหมายฉบับเก่ามาบังคับใช้กับธุรกิจใหม่ ยังไม่มีการปรับแนวความคิด ทั้งกฎหมายมักออกมาตามหลังธุรกิจหรือเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น เรื่องนี้มีส่วนทำให้การพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทยล่าช้า ไม่ค่อยก้าวหน้า อีกทางหนึ่งขณะนี้คนไทยยังมีพฤติกรรมแบบเดิมๆ คือเป็นผู้ใช้งาน ทว่าที่ควรจะเป็นคือทุกคนต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดจากผู้ใช้อย่างเดียวไปเป็นผู้ลงทุนและพัฒนา

ตีโจทย์ก่อนทรานส์ฟอร์ม

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ผู้ร่วมก่อตั้ง เทคซอส มีเดีย กล่าวว่า การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลสิ่งที่ท้าทายที่สุดคือเรื่องของคนและการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร บางการศึกษาชี้ว่ากินสัดส่วนกว่า 70% ขณะที่ความท้าทายอื่นๆ ยังมีกระบวนการธุรกิจและเทคโนโลยี

อย่างไรก็ดี การคว้าโอกาสในนิวเอสเคิร์ฟ อันดับแรกๆ หากต้องการสร้างนวัตกรรมต้องทราบเป้าหมายที่จะทำ โดยอาจหมายถึงการนำดิจิทัลมาช่วยพัฒนาในบางส่วนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดระยะเวลา หรือลดต้นทุน

“เราต้องรู้ว่าโจทย์ที่เราต้องการแก้ปัญหาคืออะไร สิ่งที่จะส่งมอบคืออะไร รายละเอียดของโซลูชั่นนั้นๆ มีอะไรบ้าง ในทีมทรานส์ฟอร์เมชั่นอาจมีโจทย์นับ 10 ข้อ ดังนั้นจะต้องนำมาพิจารณาว่าอะไรที่สำคัญที่สุด และอะไรที่ต้องทำเป็นอันดับแรกๆ”

นอกจากนี้ ผู้บริหารต้องเปิดโอกาสให้ทีมงานได้ลองผิดลองถูก เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สานงานต่อ ที่จะแนะนำคือควรจะต้องเป็นแผนกที่แยกออกมาและขึ้นตรงกับซีอีโอโดยตรง เพราะหากซีเอฟโอเข้ามาเกี่ยวข้องมากไปตัวชี้วัดหรือเคพีไออาจเปลี่ยนซึ่งในความเป็นจริงต้องพิจารณาไปตามโครงการที่จัดทำ

ด้านเทคโนโลยีที่จะนำมาปรับใช้ หลักๆ มักเกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) ดาต้าอนาไลติกส์ บล็อกเชน และอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) หากไม่เชี่ยวชาญหรือไม่สามารถจัดทำด้วยตนเอง บางบริษัทจะเลือกไปลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ ขณะที่สิ่งที่ต้องพึงระวังอย่านำเป้าหมายไปผูกกับโจทย์ที่อาจสร้างผลกระทบถึงลูกค้า ให้เริ่มจากงานที่สามารถยอมรับความล้มเหลวได้

“การทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัลต้องเริ่มต้นที่มายเซ็ต เป้าหมายคือสิ่งที่สำคัญกว่าเทคโนโลยี อีกทางหนึ่งไม่จำเป็นต้องถึงกับต้องเป็นการปฏิรูปธุรกิจ แค่นำเครื่องมือทางดิจิทัลไปช่วยยกระดับการทำงาน แก้ปัญหา ปิดจุดอ่อนที่มี มากกว่านั้นไม่ใช่แค่หน้าที่ของแผนกไอที แต่เป็นทุกคนในองค์กรโดยซีอีโอต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง”