ข้อเทียมสัญชาติไทย จุดสตาร์ทสู่อุตฯเครื่องมือแพทย์

ข้อเทียมสัญชาติไทย จุดสตาร์ทสู่อุตฯเครื่องมือแพทย์

อนาคตอันใกล้นี้คนไทยจะได้ใช้ข้อเข่าเทียมที่ผลิตในประเทศ ผลงานพัฒนาร่วมระหว่างเอ็มเทคกับเอกชนญี่ปุ่น ระบุออกแบบเหมาะกับกายวิภาคคนเอเชียแถมยังรองรับการงอเข่าได้ถึง 150 องศา ตอบโจทย์พฤติกรรมคนไทยที่นิยมนั่งพื้น สวทช.เตรียมลงขันตั้งบริษัทร่วมทุนปีหน้า

แนวโน้มตลาดข้อเข่าเทียมมีมูลค่าเพิ่มขึ้นและถือเป็นตลาดใหญ่ที่มีศักยภาพในการลงทุน ปัจจัยหลักจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทยและทั่วโลก สังเกตได้ว่าในแต่ละปีมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมากกว่า 40,000 ข้อ เฉพาะในโรงพยาบาลรัฐประมาณ 20,000 ข้อ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1,000 ล้านบาท ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีการผ่าตัดปีละ 80,000 ข้อ

งานวิจัยข้อเข่าเทียมเป็นโจทย์ที่มีผลกระทบในวงกว้างระดับประเทศ หน่วยงานวิจัยหลายแห่งให้ความสนใจในการพัฒนา เช่นเดียวกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีในการศึกษาวิจัยกายวิภาคข้อเข่า การออกแบบและทดสอบข้อเข่าเทียม โดยได้รับการสนับสนุนเครื่องทดสอบการสึกหรอข้อเข่าเทียมมูลค่า 20 ล้านบาท จากองค์การพัฒนาพลังงานใหม่และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมจากประเทศญี่ปุ่น (NEDO) และหลังจากความร่วมมือในโครงการดังกล่าวสำเร็จ บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล จำกัด ได้เริ่มนำผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาขึ้นออกใช้จริงในเชิงคลินิกในประเทศญี่ปุ่น ในระยะเวลา 1 ปีทำการผ่าตัดในผู้ป่วยแล้วมากกว่า 200 คน ซึ่งประสิทธิผลของข้อเข่าเทียมหลังผ่าตัดเป็นที่ยอมรับจากศัลยแพทย์เป็นอย่างดี งานวิจัยดังกล่าวจะเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุโรคข้อเข่าเสื่อมดีขึ้น สามารถงอเข่าใช้ชีวิตประจำวันได้ใกล้เคียงปกติ และการผลักดันให้เกิดผลิตภัณฑ์ข้อเข่าเทียมดังกล่าวนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยไทยได้มีโอกาสใช้ในการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่า

จุดเด่นของโนว์ฮาวดังกล่าว คือข้อเข่าเทียมที่มีขนาดรูปทรงเหมาะสมกับกายวิภาคข้อเข่าคนเอเชีย รวมถึงอิริยาบถการใช้ชีวิตประจำวันของคนเอเชียนิยมนั่งพื้นซึ่งต่างจากชาวตะวันตก จึงออกแบบให้รองรับการงอเข่าได้ถึง 150 องศาแตกต่างข้อเข่าเทียมที่นำเข้าจากยุโรปและอเมริกา ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 30% การใช้งานไม่เหมาะกับผู้ป่วยไทย ส่งผลให้การผ่าตัดในบางคนไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้น ในปีหน้าจะมีการตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) บริษัท เทยิน นาคาซิม่า เมดิคอล และบริษัทเอกชนไทย เพื่อผลักดันให้เกิดบริษัทเครื่องมือแพทย์ขึ้นในประเทศ อีกทั้งจะเป็นแกนกลางในการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัทรับจ้างผลิตได้ เพราะต้องการผลักดันให้เกิดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในไทย โดยใช้โรงงานที่มีมาตรฐานมาเป็นผู้ผลิต ส่วนสัดส่วนการถือหุ้นนั้น ทางเทยินฯ 49% ฝ่ายไทย 51%

ประเสริฐ เฉลิมการนนท์ นักวิจัยจากห้องปฏิบัติการอุปกรณ์การแพทย์ เอ็มเทค กล่าวว่า เฟสแรกจะนำต้นแบบที่พัฒนาโดยบริษัทร่วมทุนยื่นขอขึ้นบัญชีนวัตกรรมไทยและมีการนำไปใช้จริงในเชิงพาณิชย์ ขณะเดียวกันก็เก็บข้อมูลจากแพทย์ผู้ใช้ด้วยเพื่อเตรียมพัฒนาเป็นโมเดล ถัดไปอีก 5-7 ปีข้างหน้าจะนำแพทย์ในหลายประเทศเข้ามาใช้เป็นเอเชียโมเดล สำหรับบริษัทไทยที่เข้ามาร่วมทุนนั้นซึ่งเป็นผู้นำเข้าข้อเข่าเทียมอยู่แล้ว ก็จะเป็นตัวแทนจำหน่ายในการทำตลาดผ่านเครือข่ายที่มีอยู่

“ธุรกิจนี้เกิดยากเพราะต้นทุนสูง ฉะนั้น ภาครัฐทั้ง 2 ประเทศต้องเข้ามาช่วยผลักดันเพื่อให้โปรเจคนี้เกิดขึ้นให้ได้ และจะเป็นโมเดลนำร่องของอุตสาหกรรมอุปกรณ์การแพทย์ในเอเชีย โดยพยายามทำให้เกิดระบบนิเวศของนวัตกรรมนี้เริ่มจากงานวิจัยพัฒนา ผลิต ผู้ซื้อ แพทย์ผู้ใช้ โดยในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่การออกแบบเพื่อสร้างการยอมรับในการใช้งานในอนาคต ด้านการผลิตต้องพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมภายในประเทศ ซึ่งปัจจัยที่ทำให้ได้รับการยอมรับคือ การเข้าร่วมกับบริษัทผู้ผลิตในญี่ปุ่นที่มีประสบการณ์ และคุณภาพสินค้าญี่ปุ่นเป็นที่ยอมรับของแพทย์ไทย น่าจะเป็นตัวช่วยให้ได้รับการยอมรับและเทคโนโลยีการผลิตมาถ่ายทดให้กับโรงงานรับจ้างผลิตที่มีมาตรฐานในไทย จึงจำเป็นต้องทำให้เกิดความมั่นใจก่อนที่ขยายตลาดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน" ประเสริฐ กล่าว