ไทยขึ้นหิ้งท็อปสมาร์ทซิตี้เอเชียแปซิฟิก

ไทยขึ้นหิ้งท็อปสมาร์ทซิตี้เอเชียแปซิฟิก

“ภูเก็ต-ขอนแก่น” คว้ารางวัลท็อปสมาร์ทซิตี้เอเชียแปซิฟิก “ไอดีซี” ชี้ไทยมีศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี นัยสำคัญหนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ดึงดูดนักลงทุน

นายจาริตร์ สิทธุ ผู้บริหารประจำไอดีซีประเทศไทย กล่าวว่า ไอดีซีประเทศไทยประกาศให้โครงการเมืองอัจฉริยะของจังหวัดขอนแก่นและภูเก็ตเป็นหนึ่งในผู้ได้รับรางวัลโครงการเมืองอัจฉริยะยอดเยี่ยมในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก(ยกเว้นญี่ปุ่น) รางวัล “IDC Smart City Asia Pacific (SCAPA)” ประจำปี 2561

โดยโครงการ “ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านสาธารณสุขและการบริการสังคมดีเด่น ส่วนโครงการ “ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม” ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการด้านการท่องเที่ยว ศิลปะ วัฒนธรรม หอสมุด และพื้นที่สาธารณะดีเด่น

เขากล่าวว่า โครงการของขอนแก่นและภูเก็ตเป็นหนึ่งใน 19 โครงการที่ได้รับรางวัลจาก 148 โครงการที่สมัครเข้ารับการคัดเลือก ทั้ง 2 จังหวัดมีความโดดเด่นในการนำเทคโนโลยี เช่น คลาวด์ อนาไลติกส์ ไอโอที โมบิลิตี้ และดาต้า มาใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้พัฒนาจังหวัดและความเป็นอยู่ของประชาชน ผ่านการสนับสนุนและมีส่วนร่วมจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคม

ทั้งนี้ ขอนแก่นสมาร์ทเฮลธ์ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.รถพยาบาลอัจฉริยะ(smart ambulance) ที่ใช้เทคโนโลยีการประชุมทางไกล(teleconference) ไอโอทีและโรโบติกส์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงานช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน และช่วยให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือเริ่มกระบวนรักษาฉุกเฉินได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมาถึงที่โรงพยาบาล 2.บริการด้านสุขภาพเชิงป้องกันที่ใช้ประโยชน์จากสายรัดข้อมืออัจฉริยะ(smart wristband) และระบบบ้านอัจฉริยะ(smart home) เพื่อตรวจสอบ จัดเก็บข้อมูลด้านสุขภาพ และให้คำแนะนำด้านสุขภาพกับประชาชน 3.อยู่ระหว่างการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนและการวิเคราะห์บิ๊กดาต้าเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มการแบ่งปันข้อมูลทางการแพทย์ที่บุคลากรด้านสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชนสามารถเข้าถึงได้

ส่วน ภูเก็ตสมาร์ททัวริซึม สร้างการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและปลอดภัย มี 5 องค์ประกอบ ได้แก่ 1.สมาร์ททัวริซึม ผ่านการให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายความเร็วสูงฟรีทั่วเมืองภูเก็ต การพัฒนาแอพพลิเคชั่น Phuket Smart City และบริการสายรัดข้อมืออัจฉริยะเพื่อความปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 2.ความปลอดภัยสาธารณะ ผ่านการติดตั้งกล้องวงจรปิดที่มีความสามารถในการวิเคราะห์รูปแบบต่างๆ เช่น ตรวจจับป้ายทะเบียน การจดจำใบหน้า และระบบติดตามเรือ 3.ระบบจัดการน้ำเสียที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีไอโอที 4.สมาร์ทกอฟเวิร์นเมนต์ แพลตฟอร์มข้อมูลของเมืองที่มีการอัพเดตเรียลไทม์เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของหน่วยงานภาครัฐ

“การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะกำลังเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเอเชียแปซิฟิก ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไทยเองได้แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ในการสร้างเมืองที่น่าอยู่มากขึ้น เชื่อว่าความสำเร็จนี้จะเป็นพื้นฐานของการสร้างระบบนิเวศที่สามารถดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ ส่งเสริมให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติเข้ามาทำงาน อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เมืองใกล้เคียงเริ่มสร้างแผนในพัฒนาเมืองอัจฉริยะต่อไปในอนาคต"