‘ฝรั่งเศสโมเดล’ ขยับสมาร์ทซิตี้-ย่านนวัตกรรมไทย

‘ฝรั่งเศสโมเดล’ ขยับสมาร์ทซิตี้-ย่านนวัตกรรมไทย

“พิเชฐ” สานต่อความสัมพันธ์ 2 ประเทศชวนนักลงทุนฝรั่งเศสลงพื้นที่อีอีซีและ 8 จังหวัดกลุ่มสมาร์ทซิตี้ ชูดิจิทัลพาร์ค 700 ไร่ที่ศรีราชาเป็นพื้นที่หัวหอกขับเคลื่อนระบบนิเวศดิจิทัลทั้งภาคธุรกิจการลงทุน ที่อยู่อาศัยและการเรียนรู้-ถ่ายทอดเทคโนโลยี

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย ฝ่ายการค้าและพาณิชย์ (บิสเนส ฟรานซ์) จัดงาน ไทย-ฟรานซ์ สมาร์ทซิตี้ ฟอรั่มปี 3 เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ระหว่าง 2 ประเทศ รวมถึงการพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาย่านนวัตกรรม


นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า เพื่อเป็นการสานต่อความสำเร็จหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางเยือนประเทศฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเชิญชวนภาคอุตสาหกรรมเข้ามาลงทุนในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยโครงการสมาร์ทซิตี้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการฝรั่งเศสให้ความสนใจ เข้ามาร่วมในการออกแบบ ปัจจุบันการพัฒนาสมาร์ทซิตี้ในประเทศไทยมีความก้าวหน้าพอสมควร โดยมีความร่วมมือทั้งจากภาครัฐและเอกชน อีกทั้งในส่วนของคณะกรรมการสมาร์ทซิตี้ได้มีการประชุมหลายครั้งและมีความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ยกตัวอย่าง กระทรวงดีอีได้ลงนามความร่วมมือกับบริษัทพัฒนาเมือง เพิ่มขึ้นใน 8 จังหวัด อาทิ ขอนแก่น, กรุงเทพฯ, สระบุรี, ระยอง, สงขลา, อุบลราชธานี, นครราชสีมา เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้


กระทรวงคมนาคม สนใจทำสมาร์ทซิตี้บริเวณบางซื่อ ขณะที่กระทรวงพลังงาน สนใจที่จะทำสมาร์ทกริด และล่าสุดคณะกรรมการอีอีซี ก็ได้มอบหมายให้กระทรวงดีอีเดินหน้าโครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ 700 ไร่ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ประกอบด้วย กิจกรรมหลายรูปแบบทั้งสมาร์ทลีฟวิ่ง สมาร์ทอิโคโนมี่ สมาร์ทโมบิลิตี้ และสมาร์ทเอ็นไวรอลเมนท์ ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่และได้เชิญฝรั่งเศสให้มาร่วมกับออกแบบด้วย นอกจากนี้ทางสหประชาชาติสนใจที่เข้ามาตั้งสำนักงานกิจการอวกาศในประเทศไทยด้วย


นอกจากนี้ ในการดำเนินกิจกรรมพัฒนาสมาร์ทซิตี้ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (เอ็นไอเอ) กล่าวว่า เอ็นไอเอมีความร่วมมือกับฝรั่งเศสมากว่า 3 ปีแล้ว ยกตัวอย่าง กิจกรรมที่สำคัญๆ เช่น ความร่วมมือกับบริษัท Dassault โดยเอ็นไอเอได้นำระบบและองค์ความรู้ด้าน 3D มาออกแบบผังเมืองของย่านนวัตกรรมทั้ง 15 ย่านทั่วประเทศ อีกทั้งได้ส่งต่อถึงหน่วยงานด้านผังเมืองในประเทศไทยให้ได้รับองค์ความรู้เหล่านั้น และนำไปต่อยอดการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังได้นำความรู้ด้านระบบ 3 มิติเข้าสู่การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย 3 แห่งคือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในจ.เชียงใหม่


ถัดมาได้ร่วมกับแอร์บัสกรุ๊ปพัฒนาด้านธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับท้องฟ้าและอวกาศ (Sky Ecomomy) เช่น นวัตกรรมด้านระบบดาวเทียม ธุรกิจการบินและอวกาศ ในอนาคตจะมีการจัดตั้งศูนย์พัฒนาด้านดังกล่าวในกรุงเทพมหานคร หรือ ศรีราชาซึ่งอยู่ในเขตอีอีซี ในเร็วๆ นี้ นอกจากนี้ยังร่วมกับบริษัท PARIS&CO ในการนำโมเดลด้านการพัฒนาสมาร์ทพีเพิล หรือคนอัจฉริยะสู่ถนนท่าแพ จ.เชียงใหม่ ที่จะมีการตั้งหน่วยงานส่งเสริมสตาร์ทอัพ การวิจัย การทำสมาร์ทวีซ่า ตลอดจนยังเป็นศูนย์ที่จะอำนวยความสะดวกสำหรับสตาร์ทอัพหรือผู้ดำเนินธุรกิจนวัตกรรมที่ต้องการขยายสู่ประเทศไทย


การร่วมกับเทศบาลนครปารีส โดยเอ็นไอเอได้ศึกษาดูงานจากเมืองดังกล่าว ในการส่งเสริม “มิกซ์ยูส” หรือการใช้ประโยชน์พื้นที่แบบผสมผสาน การเชื่อมต่อพื้นที่ทั้งเชิงกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม เพื่อทำให้พื้นที่เกิดการใช้งานได้ต่อเนื่องกัน และรองรับการเติบโตของเมืองในระยะยาว โดยจะนำโมเดลดังกล่าวไปปรับใช้ในย่านนวัตกรรม เช่น ย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไทกับบริเวณพื้นที่ถนนพระราม 4 ย่านนวัตกรรมโยธีกับพื้นที่ซอยรางน้ำ
ทั้งยังได้นำโมเดลการจัดตั้งศูนย์ Startup Nation มาสู่ประเทศไทย ซึ่งศูนย์ดังกล่าวจะเป็นแหล่งดึงดูดสตาร์ทอัพทั่วโลกให้เข้าสู่ประเทศ โดยมีนัยสำคัญคือ จะช่วยให้สตาร์ทอัพของไทยได้เรียนรู้โมเดลธุรกิจของต่างชาติ และเป็นการช่วยฝึกภาษาอังกฤษในด้านการติดต่อธุรกิจของสตาร์ทอัพไทย การนำโมเดล Station F ฮับสตาร์ทอัพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ของปารีส สู่การพัฒนาศูนย์บ่มเพาะสตาร์ทอัพในไทย โดยจะนำพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้ว หรือเมืองเก่ามารังสรรค์ให้เป็นศูนย์ส่งเสริมสตาร์ทอัพ ซึ่งปัจจุบันมีบางพื้นที่ได้เริ่มดำเนินการแล้ว เช่น อาคารในมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล้วยน้ำไท ที่พัฒนาให้เป็นศูนย์อำนวยความสะดวกด้าน Urban tech เป็นต้น


นายจิลส์ การาชง เอกอัครราชทูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย กล่าวว่า งานไทย-ฟรานซ์ สมาร์ทซิตี้ ฟอรั่ม ปี 3 เป็นการความร่วมมือกับเอ็นไอเอ ในการแชร์ประสบการณ์ระหว่างผู้ประกอบการ 2 ประเทศ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐบาลไทยที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาระบบนิเวศ ของการทำสมาร์ทซิตี้และย่านนวัตกรรม เนื่องจากทั้งไทยและฝรั่งเศส มีพื้นที่และจำนวนประชาชากรไม่แตกต่างกันมาก แต่บริบทของการทำงานแตกต่างกันในแต่ละพื้นที่ จึงต้องมีการแชร์ข้อมูลความต้องการของแต่ละพื้นที่ให้กับผู้ประกอบการฝรั่งเศสที่มีความรู้และเทคโนโลยี


“ที่ผ่านมามีผู้ประกอบการฝรั่งเศสสนใจโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา รวมทั้งการขยายฝูงบินของการบินไทย ซึ่งนอกจากแอร์บัสแล้วยังมีบริษัทฝรั่งเศสอีกหลายรายที่สนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย แต่ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า จะมีความร่วมมืออะไรบ้าง เพราะต้องเป็นการเจรจากันระหว่างผู้ประกอบการเอง ขณะที่สถานทูตพร้อมเป็นผู้ประสานความร่วมมือและให้การสนับสนุน” นายจิลส์ กล่าว