จ่อเคาะราคาคลื่น 1800 ใบละ 4.5 หมื่นล้านบาท

จ่อเคาะราคาคลื่น 1800 ใบละ 4.5 หมื่นล้านบาท

กสทช.พร้อมเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตช์ ล่วงหน้า 6 เดือน ก่อนคลื่นดีแทคจะหมดสัมปทาน ก.ย.ปี 61 ใบละ 15 เมก 4.5 หมื่นล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ข้อเสนอบมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่ต้องการให้กสทช.เปิดประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ในความเห็นส่วนตัวไม่ขัดข้อง และแม้จะไม่ได้ระบุแน่ชัดในถ้อยคำว่า จะมีการประมูลคลื่นล่วงหน้า ในพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ... ซึ่งขณะนี้ได้ให้สำนักงานกสทช.เตรียมพร้อมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ของดีแทค ที่จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม ปี 2561 จำนวน 45 เมกะเฮิรตซ์แล้ว

เบื้องต้นที่สำนักงานฯกสทช.กำหนดกรอบเวลาไว้ คลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ของดีแทคจะสิ้นสุดสัมปทานวันที่ 30 ก.ย. 2561 ซึ่งสำนักงานกสทช.มีแผนเปิดประมูลล่วงหน้าก่อน 6 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนเม.ย.ปี 2561 คาดว่าร่างเงื่อนไขหลักเกณฑ์ประมูลได้ จากนั้นใช้เวลา 60 วันประกาศฯ และคาดว่าจะเปิดประมูลเดือน มิ.ย.2561 หลังจากนั้น คาดว่าจะออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะประมูลได้ราวเดือน ส.ค.

ราคาใบอนุญาตขั้นต่ำของคลื่น 1800 นั้นความเห็นส่วนตัวต้องการให้ราคาไม่ต่ำกว่าราคาใบอนุญาตเดิมคือ 45,000 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาตในความถี่ 15 เมกะเฮิรตซ์

อย่างไรก็ดี ค่อนข้างมั่นใจว่าการประมูลในครั้งที่จะถึงนี้ ได้รับความนิยมจากผู้ประกอบการ เพราะอุตสาหกรรมยังต้องการคลื่นความถี่มาทำตลาด

โดยปัจจุบันภาพรวมใช้งานคลื่นความถี่ในไทยอยู่ที่ 400 เมกะเฮิรตซ์ แต่อุตสาหกรรมต้องการคลื่นความถี่อย่างต่ำ 700 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการ 4จี ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเลขหมายให้บริการ 103 ล้านเลขหมาย เหลือเป็นระบบ 2จี เพียงแค่ 7 แสนราย ที่เหลือเป็นระบบ 3จี และ4จีทั้งหมด

“การที่เราจะตั้งราคาคลื่น 1800 ไม่ให้น้อยกว่าค่าใบอนุญาตเดิม เพราะเราต้องการคุ้มครองผู้ที่ชนะประมูลครั้งที่แล้ว ไม่ให้คนที่ไม่ยอมประมูลไม่ยอมสู้ราคาแล้วมาชุบมือเปิบได้ราคาที่ต่ำกว่าเดิม ซึ่งราคา 1800 เมกะเฮิรตซ์ เราคิดบนพื้นฐานว่าต้องไม่ต่ำกว่าราคาเดิม บวกกับอัตราเงินเฟ้อตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ ซึ่งอาจจะ 3.5% บวกกับราคาสุดท้ายที่ผู้ชนะได้ไป จึงเป็นที่มาของราคาใบละ 45,000 ล้านบาทต่อใบอนุญาต” นายฐากร กล่าว

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์รอบที่แล้วในเดือนพ.ย. มี 2 ใบอนุญาต 2 ชุดความถี่ 1710-1725/1805-1820 เมกะเฮิรตซ์ และ 1725-1740/1820-1835 เมกะเฮิรตซ์ จำนวนใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ รวมเป็นเงินทั้งหมดที่ได้จากการประมูล 80,778 ล้านบาท ทั้งนี้ในชุดที่ 1 บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ผู้ชนะการประมูลจากราคาใบอนุญาตที่ประมูลได้ 39,792 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ผู้ชนะการประมูลชุดช่วงความถี่ที่ 2 จากราคาใบอนุญาตที่ประมูลได้ 40,986 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อเสนอดีแทคนั้น นายภารไดย ธีระธาดา รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร ดีแทค เคยระบุก่อนหน้านี้ว่า บริษัทมีจุดยืนอยู่ 4 ข้อเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ คือ 1. การประมูลคลื่นความถี่ล่วงหน้า (Early Auction) ดีแทคเสนอให้ประมูลคลื่นความถี่ก่อนที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง โดยให้ใบอนุญาตใหม่มีผลเริ่มต้นวันที่ใบอนุญาตหรือสัญญาสัมปทานเดิมสิ้นสุด เพื่อให้ผู้ใช้บริการเกิดความมั่นใจว่า จะสามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง ไม่เกิดความกังวลเรื่องซิมดับ ข้อ 2. ดีแทคสนับสนุนให้ระบุชัดเจนว่า ผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สามารถโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Spectrum Trading) ได้เหมือนหลักเกณฑ์สากล
3.กฎหมายควรกำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละคลื่น หรือเรียกว่าแผนจัดสรรคลื่นความถี่ (Spectrum Roadmap) ควรต้องประกาศใช้แผนดังกล่าวให้เร็วที่สุดภายหลังที่กฎหมายใหม่ประกาศใช้ เนื่องจากไทยยังมีความต้องการคลื่นความถี่อีกจำนวนมาก เพื่อรองรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ นอกเหนือจากคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ในการประมูลที่ผ่านมา

จากการศึกษาของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) พบว่า ความต้องการจำนวนคลื่นความถี่แต่ละประเทศการใช้งานจะเพิ่มเป็นจำนวน 1340 เมกะเฮิรตซ์ ถึง 1960 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 2563 ขณะที่วันนี้ประเทศไทยมีจำนวนคลื่นความถี่ในการใช้งานเพียง 320 เมกะเฮิรตซ์เท่านั้น จึงควรจัดทำแผนจัดสรรคลื่นความถี่ เพื่อเอาคลื่นความถี่มาประมูลให้มากขึ้น โดยควรกำหนดแผนล่วงหน้าอย่างน้อย 5 ปี เพื่อให้ประชาชนได้ทราบ และเพื่อให้ผู้ประกอบการวางแผนลงทุนได้มีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับพัฒนาการเทคโนโลยีและความต้องการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือ

และ ข้อ 4. คุณสมบัติผู้ดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ กสทช. สนับสนุนคุณสมบัติ ที่ต้องมาจากการสรรหาด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรม ไม่ให้กฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่มีส่วนได้เสีย หรือมีผลประโยชน์ทับซ้อนทั้งทางตรงและทางอ้อม กับผู้ประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคมเข้ามาเป็นคณะกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลได้และเกี่ยวข้องผลประโยชน์มหาศาลของชาติ