นักวิจัยมจธ. เผยผึ้งหลวงลดจำนวนลงกว่า 50%ใน1ปี

นักวิจัยมจธ. เผยผึ้งหลวงลดจำนวนลงกว่า 50%ใน1ปี

นักวิจัยมจธ. ระบุผลสำรวจผึ้งหลวงลดจำนวนลงกว่า 50%ใน1ปีหวั่นกระทบระบบนิเวศป่าตะนาวศรี

ดร.อรวรรณ ดวงภักดี อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวว่า งานวิจัยวงจรการอพยพของผึ้งหลวงบนต้นผึ้ง มีจุดเริ่มต้นจากการพยายามเข้าไปศึกษาเรียนรู้ชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ไปตั้งวิทยาเขตการศึกษาที่สวนผึ้ง จ.ราชบุรี พบว่าสวนผึ้งแห่งนี้ในอดีตมีบทบาทสำคัญในการส่งน้ำผึ้งเป็นเครื่องบรรณาการสู่เมืองหลวง ด้วยพื้นที่แห่งนี้อุดมสมบูรณ์ไปด้วยป่าไม้พรรณไม้ที่เป็นแหล่งอาหารของผึ้งหลวง ผึ้งขนาดใหญ่ที่สร้างรังขนาดใหญ่บนต้นผึ้ง ต้นไม้ใหญ่ลักษณะสูงเด่นเป็นพญาไม้ พวกผึ้งหลวงสามารถทำรังได้มากถึง 300รังบนต้นผึ้งหนึ่งต้น แต่ละรังสามารถเก็บน้ำผึ้งได้ 10-20 กิโลกรัม

แต่หลังจากวิจัยเรื่อง “การอพยพของผึ้งหลวงบนต้นผึ้ง” ตั้งแต่ปี 2555 ตลอดระยะเวลาการทำศึกษาวิจัยกว่า 1 ปี พบว่า ผึ้งหลวงบนต้นผึ้งในอำเภอสวนผึ้งลดน้อยลงมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ใน1 ปี

“เราค้นพบว่าในช่วงเวลาแค่ 1 ปี จำนวนของผึ้งที่ย้ายเข้าย้ายออกลดลงอย่างชัดเจนกว่าครึ่ง ในฤดูที่ผึ้งควรจะอพยพย้ายเข้ามาในเวลาเดิม แต่มันไม่เข้ามา ข้อมูลเหล่านี้บอกว่าแทนที่ช่วงเวลาที่เคยมีผึ้งอพยพเข้ามามันไม่มีหรือเลื่อนออกไป รูปแบบการอพยพเดิมมันเปลี่ยน นอกจากนี้ปริมาณของรังยังลดลงจาก 100 กว่ารัง เหลือไม่ถึง 10 รัง เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา”

ดร.อรวรรณ กล่าวว่า การลดลงดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายๆ ปัจจัยร่วมกันทั้งปริมาณของต้นผึ้งที่ถูกทำลายจนเหลือเพียง 22 ต้น ในสวนผึ้งซึ่งในจำนวนดังกล่าวมีต้นผึ้งเพียง 10 ต้นเท่านั้นมีผึ้งหลวงสามารถเข้ามาทำรังอาศัยอยู่ได้จริง เนื่องจากบางต้นอาจอยู่ในพื้นที่ที่ถูกรบกวนจากสารเคมีหรือมนุษย์ก็ส่งผลให้ผึ้งไม่เข้ามาทำรังได้เช่นกัน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากผึ้งหลวงมีการอพยพย้ายรังไปตามแหล่งอาหาร โดยจะย้ายรังจากที่หนึ่งซึ่งเริ่มมีอาหารลดลงไปสู่อีกที่หนึ่งซึ่งมีแหล่งอาหารอุดมสมบูรณ์กว่า โดยเฉพาะในฤดูกาลที่มีดอกไม้บานจำนวนมากเราก็จะมีโอกาสเห็นผึ้งได้มากขึ้น

การตัดไม้ทำลายป่า ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ที่อยู่อาศัยของผึ้งได้รับผลกระทบ การถูกรบกวนจากสารเคมีสิ่งแวดล้อมทีเปลี่ยนไป ลักษณะการเก็บน้ำผึ้งของคนตีผึ้งที่ผิดวิธี โดยตีเอาทั้งรังและน้ำผึ้ง เป็นการตัดวงจรชีวิตผึ้งตัวอ่อน จนไม่สามารถเติบโตมาทดแทนประชากรผึ้งงานที่มีอายุไขเพียง 3-4 เดือน ทำให้รังไม่สมบูรณ์และผึ้งมีจำนวนไม่มากพอที่จะขยายรังสร้างประชากรผึ้งใหม่ได้ ส่งผลให้ผึ้งทั้งรังค่อยตายไป และลดจำนวนลงในปีต่อมา การลดลงของประชากรผึ้งหลวง มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศที่จะตามมา เมื่อผึ้งหลวงน้อยลงอาจจะทำให้ปริมาณพืชอาหารของมนุษย์ค่อยๆ ได้รับผลกระทบในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า

เนื่องจาก 1 ใน 3 ของป่าในโลกโดยเฉพาะป่าเขตร้อนจำเป็นต้องอาศัยผึ้งในการสร้างความอุดมสมบูรณ์ของป่า เพราะผึ้งโดยเฉพาะผึ้งหลวงเป็นหนึ่งในแมลงไม่กี่ชนิดที่มีพฤติกรรมการออกหาอาหารไกลถึง 10 กิโลเมตร โดยประมาณ มีความอิสระมากกว่ามดและแมลงอื่นๆ ที่ไม่มีปีกหรือบินหาอาหารในระยะใกล้ และสามรถออกหากินคราวละหลายแสนตัวในป่าดงดิบ ผึ้งจึงเปรียบเสมือนกุญแจ สำคัญที่ส่งผลต่อความอุดมสมบูรณ์ของป่าหรือแม้กระทั่งป่าที่ถูกแบ่งออกเป็นหย่อมๆ จากการรุกทำลายของมนุษย์ จากการทำไร่ ปลูกพืชเชิงเดี่ยว

หากปราศจากแมลงผสมเกสรระยะไกลอาจจะเกิดการผสมพันธุ์กันในสายพันธุ์ที่ใกล้กันเกินไปจนทำให้เกิดเลือดชิดและอ่อนแอทางสายพันธ์ และสูญพันธุ์ไปในที่สุด ในขณะที่ผึ้งสามารถช่วยให้พืชก้าวข้ามข้อจำกัดต่างๆ ดังกล่าวได้ แม้จะมีตึก หรือกำแพงสูงกั้นมันก็สามารถบินไปหาอาหารมาให้รังพร้อมๆ กับทำหน้าที่กระจายพันธุ์ ระหว่างพันธ์ ป้องกันเลือดชิด สร้างความอุดมสมบูรณ์สู่ป่าได้ดีกว่า ดังนั้นการที่ผึ้งหลวงหายไปจากสวนผึ้งไม่ได้หมายความเพียงว่าสวนผึ้งจะไม่มีผึ้งหลวง แต่เป็นสัญญาณอันตรายบอกมนุษย์ว่า ป่าดงดิบแถบตะนาวศรีกำลังมีปัญหา