สู่ยานยนต์สีเขียว

สู่ยานยนต์สีเขียว

ความเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์กำลังอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านจากเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือรถใช้น้ำมันที่ผู้คนทั่วโลกคุ้นเคยกันมากว่าร้อยปีสู่การเป็นรถยนต์ไฟฟ้า

โดยขณะนี้เพิ่งเริ่มเป็นที่นิยมในระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะมีผลรุนแรงมากกว่าที่เราเคยประเมินเอาไว้

เพราะการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้เป็นเพียงการสวิทช์มาใช้มอเตอร์ไฟฟ้าแทนเครื่องยนต์สันดาปภายใน แต่มันกลายเป็นการเปลี่ยนระบบนิเวศทางธุรกิจของอุตสาหกรรมยานยนต์ครั้งใหญ่ ที่ส่งผลกระทบถึงระบบห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ

ดูละม้ายคล้ายการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของอุตสาหกรรมกล้องและฟิล์มถ่ายภาพที่ถูกกระแสดิจิทัลดิสรัปจนทำให้ชื่อของยักษ์ใหญ่เบอร์หนึ่งของโลกในขณะนั้นคือ “โกดัก” ต้องหายไปจากสาระบบอย่างที่ไม่มีใครคาดคิดจนน่ากลัวว่ายักษ์ใหญ่อย่างโตโยต้า นิสสัน ฮอนด้า เบนซ์ ฯลฯ จะเผชิญชะตากรรมเดียวกันหรือไม่

ความเข้าใจผิดของคนส่วนใหญ่คือคิดว่าโกดักล่มสลายลงเพราะไม่สนใจเทคโนโลยีดิจิทัลซึ่งไม่จริงเลย เพราะโกดักเป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มกล้องดิจิทัลจนมีสิทธิบัตรด้านการบันทึกภาพในระบบดิจิทัลเป็นจำนวนมาก รวมถึงยุคแรกของตลาดกล้องดิจิทัลนั้น โกดักก็มีผลิตภัณฑ์มากมายรองรับทั้งผู้ใช้ทั่วไปจนถึงช่างภาพมืออาชีพ

โกดักจึงไม่ได้ประมาทหรือไม่ได้มองข้ามเทคโนโลยีด้านดิจิทัลอิมเมจที่จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมนี้แต่อย่างใด แต่จุดเริ่มต้นของความถดถอยจริงๆ นั้นอยู่ที่ความพยายามที่จะคงระบบนิเวศทางธุรกิจของตัวเองให้นานที่สุดต่างหาก

เพราะในยุคนั้นโกดักทุ่มเทวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลอิมเมจด้วยเงินทุนมหาศาลเพื่อตอบรับกระแสเทคโนโลยีดิจทัล แต่ในขณะเดียวกันโกดักก็ยังเชื่อว่าภาพที่บันทึกในระบบดิจิทัลนั้นจะต้องถูกพิมพ์ออกมาเป็นรูปภาพด้วยศูนย์บริการของโกดักที่มีอยู่ทั่วโลก

ด้วยระบบนิเวศทางธุรกิจของโกดักที่มีเครือข่ายในการขายและทำตลาดระบบพิมพ์ภาพด้วยกระดาษและน้ำยาเคมีที่ทำรายได้ให้กับโกดักมาอย่างยาวนาน โกดักจึงยังคงรักษาธุรกิจนิ้ไว้อย่างสุดฤทธิ์ โดยไม่ได้คิดเลยว่าเทคโนโลยีอีกด้านหนึ่งที่จะเข้ามาแทนที่ตัวเองนั้นจะกลายเป็น “โทรศัพท์มือถือ”

เพราะการมาถึงของสมาร์ตโฟนนั้นทำให้ความต้องการพิมพ์ภาพหายไปจากตลาดทีละน้อยๆ จนถึงวันหนึ่งวิถีชีวิตของผู้บริโภคก็แทบจะไม่ต้องการภาพบนกระดาษแต่หันไปใช้สมาร์ตดีไวซ์ต่างๆ ทั้งมือถือ แท็บเล็ต ฯลฯ เพื่อดูภาพผ่านระบบออนไลน์

ดูแล้วก็ไม่แตกต่างจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในยุคปัจจุบันที่พยายามคงระบบนิเวศทางธุรกิจแบบเดิมเอาไว้ให้นานที่สุด แม้จะมีความพยายามในการใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้าให้มากขึ้นแต่ก็เป็นเพียงระบบลูกผสมหรือระบบไฮบริด ในขณะที่ลูกค้าในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนพฤติกรรมในการใช้รถไปมากพอสมควรและจะยังคงเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในอนาคต

เพราะหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคทุกวันนี้คำนึงถึงก็คือภาวะโลกร้อนที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และไม่มีท่าทีจะแก้ไขได้หากไม่ปรับพฤติกรรมการใช้พลังงานโดยเฉพาะพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล รถไฟฟ้าจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดและเป็นความต้องการที่ลงตัวกับทุกฝ่าย

ผู้บริโภคก็ได้ลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รัฐบาลแต่ละประเทศก็ได้แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมก็ได้เข้าสู่ยุคผลัดใบคือเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่ก้าวขึ้นมามีบทบาทเหนือบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งมานับสิบนับร้อยปีได้

ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จึงขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่มองเห็นทั้งวิกฤติและโอกาสในเวลาเดียวกัน คนที่จะอยู่รอดและคงความเป็นหนึ่งได้จึงต้องรู้จักคิดนอกกรอบและไม่ยึดติดกับความสำเร็จในอดีตของตัวเอง