ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’ พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน

ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’  พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน

ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า “มูฟมี (MUVMI)” กับบริการ 2 ล้านเที่ยวเพื่อคนกรุง เตรียมผลิตรถเพิ่ม 1,000 คัน ด้าน NIA ชี้ ปี 66 สตาร์ตอัปไทยพุ่งสู่ตลาดยานยนต์ไฟฟ้าและพลังงานใหม่

นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าทั่วโลกมีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าตลาดยานยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 จะมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นทั้งส่วนการผลิตรถยนต์และยอดจำหน่าย นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เข้าถึงได้

การพัฒนารูปแบบยานพาหนะ เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือ - รถโดยสารสาธารณะ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า โฮมชาร์จเจอร์ ฯลฯ 

ตัวอย่างความสำเร็จของธุรกิจนวัตกรรมที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) นั่นคือ “มูฟมี (MUVMI)” รถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้า 100% ที่ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 2 ล้านเที่ยวเดินทาง และมีแผนเพิ่มจำนวนรถอีก 1,000 คัน ซึ่งทั้งหมดมีการใช้งานจริงในเขตเมืองและหัวเมืองท่องเที่ยว 

ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’  พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน

กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด และผู้ก่อตั้งธุรกิจให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี กล่าวว่า ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่สามารถแก้ไขได้จากการใช้ขนส่งมวลชน นี่คือ โจทย์ที่ทำให้มูฟมีได้ผลิตรถตุ๊กตุ๊กขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้า 100% ที่มีระบบควบคุมการขับขี่แบบ In Car Application 

ทำให้ทุกการเดินทางปลอดภัย สะดวกสบาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะไม่มีท่อไอเสียจึงช่วยลดปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้น้ำมันเครื่องยนต์ หรือ PM 2.5

ปัจจุบันมูฟมี มีรถตุ๊กตุ๊กแบบ EV จำนวน 250 คัน ให้บริการรับ – ส่งผู้โดยสารตามแนวรถไฟฟ้า เข้าซอยหรือไปบริเวณใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ 10 ย่านทั่วกรุงเทพ เช่น ย่านจุฬาลงกรณ์-สยาม ย่านอารีย์-ประดิพัทธ์ เกาะรัตนโกสินทร์ บางซื่อ ชิดลม-ลุมพินี อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น 

โดยมีจุดเด่นคือ เรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถแชร์เส้นทางร่วมกับคนอื่นได้ด้วยบริการในระบบ Ride Sharing เดินทางไปไหนง่าย ใช้ได้ทุกวัน ราคาย่อมเยาคิดตามระยะทางจริง เริ่มต้นที่ 10 บาท ตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 2 ล้านเที่ยวเดินทาง

มูฟมีให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง ทั้งการออกแบบตัวรถโดยสารที่จดสิทธิบัตรไปแล้ว และการออกแบบจุดชาร์จรถไฟฟ้าใช้พลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถชาร์จไฟฟ้ากระแสตรงจากแผงโซลาร์ตรงเข้ารถ มีสมองกลในรถคอยควบคุมกระแสไฟซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการจดลิขสิทธิ์ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

ในปี 2566 นี้ มูฟมียังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดนิ่ง ทั้งในแง่บริการและการพัฒนาเทคโนโลยี โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนรถโดยสารเป็น 1,000 คัน พร้อมขยายโซนให้บริการใหม่เพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพฯ มากที่สุด 

ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’  พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม NIA เปิดเผยว่า ตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจากรมการขนส่งทางบกที่พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม 2565 ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 15,423 คัน

ซึ่งมากกว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าย้อนหลังรวม 10 ปี (ปี 2555 – 2564) ที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 11,749 คัน สถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น

โดย NIA คาดว่าในปี 2566 การเติบโตส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ มาตรการภาษี ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว

รวมถึงในภาคธุรกิจ เช่น การท่องเที่ยว บริการเดลิเวอรี่อาหาร บริการสาธารณะ ฯลฯ ที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยให้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ หรือค่าบริการที่ถูกลง

การพัฒนารูปแบบยานพาหนะไฟฟ้าที่ไม่จำกัดแค่เพียงรถยนต์นั่ง เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือ - รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า โฮมชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน 

ส่องความสำเร็จ ‘ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี’  พร้อมเป้าหมายผลิตเพิ่ม 1 พันคัน

จากโอกาสการเติบโตของอุตสาหรรมด้านพลังงานสะอาด และกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง NIA จึงได้เลือกให้เป็นสาขาที่อยู่ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) จากทั้งหมด 6 สาขาได้แก่

  • อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก
  • ความมั่นคงทางอาหาร
  • เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ
  • พลังงานสะอาด
  • ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech
  • กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 

ซึ่งจะสนับสนุน “เงินทุนให้เปล่า” วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5 ล้านบาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง โดยต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้ 

จากการเปิดรับข้อเสนอโครงการในปีที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 236 ราย จาก 6 สาขา แต่แบ่งเป็นสาขาพลังงานสะอาด 18 ราย สาขากลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง 49 ราย 

นอกจากนี้ NIA ยังพร้อมจะช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงนวัตกรรมดังกล่าวไปสู่ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า การระดมทุน ฯลฯ

เพื่อให้เกิดการเติบโตในระดับที่สูงขึ้นและยั่งยืน ดังเช่น โครงการสามล้อไฟฟ้าเดลิเวอรี่ (บริษัท บิซ เน็กซ์ มอเตอร์ จำกัด) บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด)

และโครงการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด นาวาเลียน คอมโพสิท) เป็นต้น ตลอดจนช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศในฐานะ “ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค” อีกด้วย