'มูฟมี' ตุ๊กตุ๊กอีวี สัญชาติไทย ตอบโจทย์เศรษฐกิจสีเขียว

'มูฟมี' ตุ๊กตุ๊กอีวี สัญชาติไทย ตอบโจทย์เศรษฐกิจสีเขียว

‘มูฟมี’ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้านวัตกรรมบริการและแพลตฟอร์มโซลูชั่นที่แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ลดการใช้พลังงานน้ำมัน สะดวกต่อการเดินทางของคนเมืองและกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่ตอบโจทย์กับเศรษฐกิจสีเขียว

กฤษดา กฤตยากีรณ ซีอีโอ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ก่อตั้งธุรกิจ ได้เล่าที่มาของแนวคิดในการทำธุรกิจว่า เกิดจาก pain point ที่เกิดขึ้น ระหว่างที่เดินทางด้วยระบบขนส่งมวลชนระหว่างวัน จันทร์-ศุกร์ เมื่อลงจากบีทีเอสแล้วจะไปถึงที่ทำงานต่อถือ เป็นปัญหาพอสมควรสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในเมือง ซึ่งเป็น‘ช่องว่าง’ทางธุรกิจอย่างหนึ่งที่ยัง’ไม่มี’ใครเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนเมือง ประกอบกับพื้นฐานทำงานด้านรถยนต์มาตลอด มองเห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ถึง’จุดเปลี่ยน’จากการเข้ามาของเทคโนโลยีเข้ามาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)หรือแอพพลิเคชั่นที่สามารถเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น

"เกิดแนวคิดนำเทคโนโลยีอีวีและแอพเข้ามาผนวกกันเป็นโซลูชั่นที่ตอบโจทย์การใช้งาน สามารถแก้pain pointของคนเมืองจึงเป็นที่มาของตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ช่วยลดปัญหามลพิษผ่านการใช้งานด้วยแอพพลิเคชั่น “MuvMi” (มูฟมี)ซึ่งเป็นแอพฯเรียกรถแบบ On-Demand ที่สามารถเรียกเมื่อไหร่ก็ได้ตามต้องการและระบบจะบริหารจัดการให้ผู้ที่จะเรียกรถไปในเส้นทางเดียวกันหรือบริเวณใกล้เคียงกัน สามารถไปรถคันเดียวกันได้"

1 ปีที่ผ่านผ่านได้ผลการตอบรับที่ดีจากกลุ่มผู้ใช้งาน ตามแนวเส้นทางรอบจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและสถานที่ใกล้เคียง บริเวณรถไฟฟ้าบีทีเอสสถานีอารีย์ ไปจนถึงรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีสถานีกำแพงเพชร ล่าสุดขยายไปยังสถานีพหลโยธิน สำหรับค่าบริการต่อเที่ยวเริ่มต้นที่ 15 บาท สูงสุด 75 บาท ใช้บริการได้สูงสุด 6 ที่นั่งต่อรถ 1 คัน ซึ่งตอบรับกับแนวคิดการเป็นสมาร์ทซิตี้

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ด้วยราคาต้นทุนแบตเตอรี่สูงตกประมาณ2แสนบาทใกล้เคียงกับราคาตัวยนต์ประมาณ2.5แสนบาททำให้จำนวนการผลิตระยะแรกมีจำนวนแค่20คัน ส่วนที่เหลือ15 คันที่จะเป็นตุ๊กตุ๊กที่ใช้แก๊ส แต่ในปีนี้บริษัทมีแผนผลิตเพิ่ม100คันเพื่อรอรับกระแสความต้องการมากขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาฝุ่นPM2.5 ทำให้คนหันมาใส่ใจสินค้าและบริการที่ไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หากจุดหนึ่งเกิด‘อีโคโนมีออฟสเกล’ทำให้ต้นทุนการผลิตตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าต่ำลงราคารถลดลง

“3 ปีที่ผ่านมาราคาแบตเตอรี่ลดลงมา30%เชื่อว่าอนาคตราคาลดลงมาถูกกกว่านี้อีกจะทำให้คนสนใจหันมาใช้บริการและกลุ่มคนขับรถหันมาซื้อไปให้บริการเพิ่มขึ้นจากเดิมค่าใช้จ่ายน้ำมันจะอยู่ที่ 500 กว่าบาทต่อครั้ง ในการเต็มเชื้อเพลิง แต่หากใช้พลังงานไฟฟ้าจะอยู่ที่ 100 กว่าบาทเท่านั้น”

กฤษดา กล่าวว่า ในส่วนของ“Tuk Tuk Hop” ซึ่งเป็นบริการเน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยและต่างชาติ ซึ่งเปิดให้บริการมา3ปีแล้ว 90%เป็นลูกค้าต่างชาติ ที่สามารถเลือกใช้งานผ่านการดาวโหลดในแอพพลิเคชั่น Tuk Tuk Hopที่ให้บริการแก่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะกลุ่ม เอฟไอที (Fully Independent Traveller :FIT) ที่มีจำนวนมากขึ้นในจุดท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ ในลักษณะการนำเที่ยวรอบเมือง และสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น บริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ เยาวราช พาหุรัด ถนนข้าวสาร ส่วนที่เหลือ10%จะเป็นกลุ่มคนไทยที่นิยมไหว้ 9 พระวัด

นอกจากนี้ บริษัทเปิดให้บริการผลิตตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าที่ได้ออกแบบและผลิตเองให้กับหน่วยงานที่สนใจนำไปใช้ในองค์กร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โรงแรม และคอนโดมิเนียม เพื่อนำไปใช้รับส่งผู้พักอาศัยในแต่ละโครงการล่าสุดได้ร่วมกับเอสซี แอสเสท บริการเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าผ่านแอพพลิเคชั่น ในรูปแบบ sharing เปิดให้บริการ BTSอารีย์ สะพานควาย MRTกำแพงเพชร ได้รับผลตอบรับที่ดี

"เหตุผลที่เลือกรถตุ๊กตุ๊ก เพราะมีความคล่องตัวสูงหากเทียบกับรถทั่วไป สามารถ ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนใช้ชีวิตในเมืองและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจึงเลือกที่พัฒนาให้เป็นนวัตกรรมที่คนเข้าถึงได้ ราคาถูก ปลอดภัย

โดยที่ผ่านมาบริษัทได้รับการส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ซึ่งได้สนับสนุนทั้งเงินทุน องค์ความรู้ และผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนารถต้นแบบ รวมถึงศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ และเครือข่ายมหาวิทยาลัย ที่ได้ช่วยออกแบบและผลิตรถให้มีคุณภาพได้มาตรฐานเริ่มตั้งแต่ความปลอดภัยพื้นฐานคือ มีเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับและผู้โดยสารทุกจุด รวมถึงให้ความสำคัญกับโครงสร้างในการออกแบบรถที่คำนึงถึงความปลอดภัยต่างๆ

สำหรับการออกแบบถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ทาง ทีมงานได้ออกแบบเองทั้งหมด จุดเด่นที่ทีมได้คิดค้นขึ้น คือ เทคโนโลยีในการชาร์ทแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทำให้สามารถชาร์ทได้ในระยะเวลา ครึ่งชั่วโมงเท่านั้น ถือเป็นบริษัทแรกในไทยที่ได้คิดค้นเทคโนโลยีดังกล่าวได้ สองช่วยประหยัดพลังงาน โดยจะต้องใช้ค่าไฟประมาณ 50 สตางค์ต่อกิโลเมตร รวมถึงมีจุด

เด่นอีก 2 จุดคือ พื้นของรถต่ำ ทำให้ลูกค้าสามารถขึ้นลงสะดวกแตกต่างจากรถตุ๊กตุ๊กทั่วไป รวมถึงการมี อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ หรือ ไอโอที

การทำธุรกิจยุคใหม่จำเป็นต้องอาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง 2 สิ่งนี้จะช่วยตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ตรงจุด ยิ่งปัจจุบันการที่มีลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ และมีพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่หลากหลายเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงเป็นสิ่งสำคัญในการทำธุรกิจในยุคนี้

กฤษดา ระบุว่าแนวทางการบริหารบริษัท จะมุ่งไปที่การใช้เทคโนโลยีในการตอบสนองความต้องการในการเดินทางของคนในเมืองเพราะเชื่อว่า จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน ซึ่งยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเกิดขึ้นแน่นอน แต่จะเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน ทั้งด้านนโยบายของภาครัฐและความร่วมมือจากภาคเอกชน ในบางประเทศที่ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากภาครัฐและเอกชนก็จะเกิดได้เร็วล่าสุดบริษัทได้มีการจับมือกับบ้านปูในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานทางเลือกออกมาสู่ตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

----------------------

สูตรเคลื่อนธุรกิจสีเขียว

มองเห็นช่องว่างในตลาด

ตลาดใหญ่คุ้มค่าลงทุน

มีแรงบันดาลใจ

มีทีมงานงานที่มีเป้าหมายเดียวกัน