AWS ชู ‘คลาวด์’ หนุนสตาร์ทอัพไทยเดินบนเส้นทางยั่งยืน

AWS ชู ‘คลาวด์’ หนุนสตาร์ทอัพไทยเดินบนเส้นทางยั่งยืน

อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (AWS) นำร่องการใช้บริการประมวลผลบนระบบ ‘คลาวด์’ เพื่อหาทางออกให้กับการสร้างนวัตกรรมของสตาร์ทอัพ สร้างความยั่งยืนของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม

บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จัดเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ “Building sustainability startups in the cloud สร้างความยั่งยืนบนระบบคลาวด์” นำโดย วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ ผู้อำนวยการประจำภูมิภาคของ Amazon Web Services (AWS) ประเทศไทย ที่จะพูดถึงความมุ่งมั่นของ AWS ในการสนับสนุนธุรกิจสตาร์ทอัพในประเทศไทย ด้วยการใช้คลาวด์และเทคโนโลยีต่าง ๆ  เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตและสร้างความยั่งยืนของธุรกิจและสิ่งแวดล้อม 

พร้อมทั้งร่วมพูดคุยกับสองธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่ใช้ระบบคลาวด์และบริการต่าง ๆ ของ AWS ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม และบริการที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานที่นำไปสู่ความยั่งยืน

 

AWS ชู ‘คลาวด์’ หนุนสตาร์ทอัพไทยเดินบนเส้นทางยั่งยืน

สตาร์ทอัพที่เข้าร่วมได้แก่ ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งแอปพลิชันมูฟมี (MuvMi) ที่ให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าคุณภาพสูง ปลอดภัย ช่วยลดมลพิษ กล่าวว่า AWS เป็นเสมือนพาร์ทเนอร์คอยให้คำปรึกษา ให้ความรู้ ช่วยหาทางแก้ไขปัญหา กับมูฟมีมาโดยตลอด 3 ปี ทำให้มูฟมีกล้าที่จะพัฒนาธุรกิจของตนเองจนบรรลุเป้าหมายแม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจหรือโควิด-19 

ในส่วนของการพัฒนาแอปพลิเคชั่น จะเชื่อมต่อคนขับกับผู้โดยสารที่ค้นหาบริการ และจากนั้นใช้อัลกอริทึมเพื่อทำแผนที่การเดินทางอย่างมีประสิทธิภาพ จำนวนรถยนต์ไฟฟ้าของมูฟมีกำลังขยาย 10 เท่า ซึ่ง AWS สามารถรองรับการขยายได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น

ทำให้สามารถติดตามตำแหน่งของรถ ความเร่ง ตรวจสอบว่าการเบรกนั้นเหมาะสมและปลอดภัยหรือไม่ สามารถบันทึกข้อมูลต่าง ๆ ของรถ เช่น ประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ และแมชชีนเลิร์นนิงคืออีกหนึ่งเทคโนโลยีที่มูฟมีสนใจนำมาใช้เพื่อปรับปรุงเส้นทางให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ คลาวด์ของ AWS ก็มีความง่ายและสะดวกสบายในการสร้างทีม สามารถหาบุคลากรที่มีความสามารถมาร่วมพัฒนาธุรกิจ เพราะปัจจุบันบุคลากรที่มีความสามารถเฉพาะเรื่องนั้น ๆ เริ่มลดลง และหายากมากยิ่งขึ้น คลาวด์จึงตอบโจทย์เรื่องของความรวดเร็วในการสร้างทีมงานคุณภาพ 

AWS ชู ‘คลาวด์’ หนุนสตาร์ทอัพไทยเดินบนเส้นทางยั่งยืน

กฤษฎา ตั้งกิจ ผู้ร่วมก่อตั้งเอ็นเรส (ENRES) พัฒนาเทคโนโลยีทางด้าน IoT ในการประหยัดพลังงานทางเลือกใหม่ของอาคารและโรงงานขนาดใหญ่ด้วยเทคโนโลยี AI กล่าวเสริมอีกว่า ช่วงที่เอ็นเรสเป็นสตาร์ทอัพในระยะเริ่มต้นที่มีทรัพยากรจำกัด โปรแกรม AWS Activate ช่วยลดต้นทุนการดำเนินงานช่วงแรก ๆ ด้วยเครดิตที่ได้รับ ซึ่งเป็นการช่วยต่อเวลาออกไปเพื่อการระดมทุน ช่วยพัฒนาบริการและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ มากขึ้น ในขณะที่เอ็นเรสกำลังหา product market fit ช่วยนำผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้เร็วขึ้น

คลาวด์และ IoT เป็นส่วนประกอบหลักของโซลูชั่นที่เอ็นเรสพัฒนา เหตุผลที่เลือกใช้ AWS เพราะเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ทำให้หาทีมที่มีทักษะและคุ้นเคยกับเทคโนโลยีของ AWS ได้ง่าย

อีกเหตุผลหนึ่งคือเรื่องของ security และ scalability ที่ช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นของลูกค้า โดยเฉพาะลูกค้าของเอ็นเรสในกลุ่มโรงพยาบาลที่ต้องการความปลอดภัยของข้อมูล ระบบการใช้งานพื้นฐานของคลาวด์มีฟังก์ชัน เซอร์วิส และเซิร์ฟเวอร์ที่ครบครันรับกับเอ็นเรส ซึ่งทาง AWS จะคอยพัฒนาฟังก์ชันใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของเอ็นเรส 

และตนเองก็เชื่ออีกว่า AWS สามารถสร้างระบบที่ช่วยพัฒนาให้การสร้างธุรกิจของสตาร์ทอัพให้เติบโตได้ง่ายและรวดเร็วขึ้นอีกหลายองค์กร 

 

  • การประมวลผลบนระบบคลาวด์อย่างยั่งยืน

Amazon Web Services (AWS) คือ บริการประมวลผลบนระบบคลาวด์ ทำหน้าที่เป็นผู้ให้เช่าเครื่องมือต่าง ๆ เช่น เซิร์ฟเวอร์ เน็ตเวิร์ก ฯลฯ เพื่อนำไปใช้ในงานประมวลผลผ่านอินเทอร์เน็ต เช่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชั่นบนมือถือ ตลอดจน Machine Learning หรือ ปัญญาประดิษฐ์ 

AWS จะช่วยผู้ประกอบการให้สามารถปรับใช้เทคโนโลยีสร้างสรรค์เป็นงานนวัตกรรม ผ่านการรับรองความปลอดภัยของแต่ละประเทศและในระดับสากล เช่น FISC และ FINTECH ของประเทศญี่ปุ่น 

วัตสัน กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นประเทศที่เล็งเห็นความสำคัญของการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน อะเมซอนต้องคิดในสิ่งที่เกี่ยวกับพลังงาน โดยไม่ได้คำนึงแค่การพัฒนาความจุของข้อมูล ความรวดเร็วของระบบคลาวด์ แต่คำนึงไปถึงสิ่งที่มีผลกระทบต่อโลกในระยะยาว

อะเมซอนร่วมพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมกับองค์กรและผู้ประกอบการสตาร์อัพต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อสร้างธุรกิจให้ตอบโจทย์การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ในธุรกิจ (Digital Transformation) ควบคู่ไปกับการหาทางออก (solution) เพื่อการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน โดยมีการให้องค์ความรู้ เทคนิค คำปรึกษา และช่วยพัฒนาในแง่ของการบริหารจัดการธุรกิจ 

การสร้างธุรกิจเพื่อความยั่งยืน กำลังทำเพื่อแก้ปัญหาอะไร? — วัตสัน ชวนตั้งคำถาม และอธิบายว่า อะเมซอนจะร่วมพัฒนาไปพร้อม ๆ กับสตาร์ทอัพ โดยจะพูดคุยกันอย่างชัดเจนว่า นวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนขององค์กรนั้น ๆ จะแก้ปัญหาในส่วนไหน จากนั้นก็จะทดลองใช้ในพื้นที่ระบบคลาวด์ เพื่อพัฒนามาเป็นสินค้าหรือบริการ 

คลาวด์จะตอบโจทย์ในเรื่องของการใช้พลังงานโดยเฉลี่ยต่ำกว่าศูนย์เก็บข้อมูลทั่วไป ช่วยให้องค์กรลดการปล่อยพลังงานที่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ เช่น คาร์บอน ซึ่งคลาวด์จะมีเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ประกอบการช่วยลดโลกร้อน (ปล่อยคาร์บอนสู่อากาศ) มากี่วัน นับตั้งแต่เริ่มใช้การประมวลผลบนระบบคลาวด์

"AWS ขอเป็นแรงเสริมและแรงส่งในการผลักดันสตาร์ทอัพไทยให้เติบโตและประสบความสำเร็จเป็นยูนิคอร์น เพื่อร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสิ่งแวดล้อม"