เฟซบุ๊กเผย ‘โซเชียลมีเดีย’ ยืนหนึ่ง ท็อปค้นหา-แหล่งช้อปปิ้ง อีคอมเมิร์ซไทย

เฟซบุ๊กเผย ‘โซเชียลมีเดีย’ ยืนหนึ่ง ท็อปค้นหา-แหล่งช้อปปิ้ง อีคอมเมิร์ซไทย

ผลการศึกษาโดย Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี ระบุว่า ผู้บริโภคไทยรวมถึงประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นผู้นำในการเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆ แม้สถานการณ์โลกจะยังผันผวน แต่ภาพรวมอีคอมเมิร์ซยังมีทิศทางเชิงบวกต่อเนื่อง

ดิเรก เกศวการุณย์ พาร์ทเนอร์และผู้อำนวยการฝ่ายการดำเนินงานของธุรกิจค้าปลีก เบน แอนด์ คอมพานี เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า มีปัจจัยท้าทายทั้งวิกฤติโควิด สงครามรัสเซีย ยูเครน เงินเฟื้อ แต่โดยภาพรวมจีดีพีของภูมิภาคยังมีทิศทางการเติบโตเชิงบวก สวนทางกับภูมิภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ มีปัจจัยบวกจากการกระจายการลงทุนออกมานอกตลาดจีน การใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีอยู่กว่า 159 ล้านครัวเรือน และมีแนวโน้มว่าเมื่อถึงปี 2573 ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 175 ล้านครัวเรือน ซึ่งจากจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 50 ครัวเรือนที่มีกำลังซื้อสูง

“เราพบว่า นักลงทุนมีความเชื่อมั่น กำลังมองหาโอกาสที่จะเข้ามา ซึ่งมีส่วนสำคัญทำให้เกิดการลงทุนจากบริษัทข้ามชาติเพิ่มขึ้น กล่าวได้ว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่กำลังเติบโต และมีหลายปัจจัยบวกที่ช่วยผลักดัน”

ตัวเลขการลงทุนในไทยต่ำสุด 

เขากล่าวว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงเป็นภูมิภาคที่น่าดึงดูดสำหรับนักลงทุน ทว่าที่ต้องให้ความสำคัญคือ การควบคุมเงินเฟื้อ การบริหารจัดการซัพพลายเชน การพัฒนา Customer Journey การมองโอกาสการลงทุนและการพัฒนาบิสิเนสโมเดลใหม่ๆ ต่อยอดจากการเป็นผู้นำเทรนด์ และที่ขาดไม่ได้คือการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร

อย่างไรก็ตาม ที่น่าเป็นห่วงพบว่า ตัวเลขการลงทุนจากบริษัทต่างชาติที่เข้ามาในประเทศไทยนั้นต่ำที่สุดในภูมิภาคเพียง 2% จากมูลค่าทั้งหมด ดังนั้นโจทย์ คือ จะทำอย่างไรที่จะดึงดูดนักลงทุนให้มากกว่านี้

รายงาน SYNC Southeast Asia โดย Meta และ เบน แอนด์ คอมพานี เกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลและอนาคตของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาค พบว่า ภาพรวมระยะยาวของไทยและภูมิภาคยังคงแข็งแกร่ง การค้าออนไลน์สามารถเติบโตได้เหนือกว่าตลาดใหญ่ๆ อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน

'โซเชียลมีเดีย’ อิทธิพลยังแรง

ผลสำรวจคาดการณ์ว่า ภายในปี 2565 ภูมิภาคนี้จะมีผู้บริโภคดิจิทัลกว่า 370 ล้านคน มีประชากรไทยกว่า 72% ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลได้ภายในปีนี้ และจะมีจำนวนผู้บริโภคดิจิทัลในภูมิภาครวมกว่า 402 ล้านคนภายในปี 2570

โดยผู้บริโภคต้องการประสบการณ์การชอปปิงที่ผสมผสานระหว่างออนไลน์ ออฟไลน์ รวมถึงประสบการณ์อื่นๆ ได้อย่างลื่นไหลกว่าเคย ผู้บริโภคชาวไทยนิยมชอปปิงผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์โดยเฉลี่ย 16.4% ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเฉลี่ยของภูมิภาคที่ 15.3%

ยิ่งไปกว่านั้น ช่องทางอีคอมเมิร์ซทางเลือกอย่างการส่งข้อความเชิงธุรกิจและการช้อปผ่านวิดีโอไลฟ์ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตของอีคอมเมิร์ซในไทย หรือคิดเป็นกว่า 25% ของเม็ดเงินที่ใช้จ่ายทั้งหมดในประเทศ

ขณะที่เกือบครึ่งหนึ่งระบุว่า โซเชียลมีเดียสร้างการค้นพบผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเป็นการค้นพบผ่านรูปภาพ 15% วีดิโอ 26% และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น การส่งข้อความ 9% เป็นต้น

จับตาใน 3 ปี เมตาเวิร์สบูม

ที่น่าสนใจพบว่า คอนเทนต์วีดิโอมีการเติบโตต่อปีกว่า 50% ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2563 และโดยภาพรวมภูมิภาคนี้มีการเข้าถึงกระเป๋าเงินดิจิทัล สกุลเงินดิจิทัล และสินทรัพย์ดิจิทัล NFT มากกว่าตลาดอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นจีน สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น

โดย 70% ระบุว่า ได้ใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์สอย่างน้อยหนึ่งอย่างไปในปีที่แล้ว ขณะที่ 74% ของชาวไทยระบุว่าได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไปในปีที่ผ่านมา

คาดว่าประสบการณ์การใช้เทคโนโลยีที่มีความเกี่ยวเนื่องกับเมตาเวิร์ส เช่น เออาร์ วีอาร์ เวอร์ชวลเวิล์ด คริปโทฯ และเอ็นเอฟที จะพัฒนาจากแอปสองมิติในปัจจุบัน สู่โลกเสมือนแบบสามมิติภายใน 2-3 ปีข้างหน้า 

ทั้งยังมีการคาดการณ์ว่า การใช้งานวีอาร์สำหรับธุรกิจต่างๆ เช่น การอบรมและการพัฒนา ไปจนถึงการทำงาน การจัดงานอีเวนท์ต่างๆ ในโลกเสมือน จะสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในภูมิภาคภายใน 10-15 ปีข้างหน้า

โอกาสมาจากหลายแพลตฟอร์ม

แพร ดํารงค์มงคลกุล ผู้อำนวยการ เฟซบุ๊ก ประเทศไทย จาก Meta กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน ผู้บริโภคใช้ออนไลน์แพลตฟอร์มที่หลากหลายมากขึ้น หากเปรียบเทียบเชิงจำนวนพบว่า ปีที่แล้วผู้บริโภคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการใช้งานเฉลี่ยที่ 7.9 แพลตฟอร์ม ทว่าปีนี้เพิ่มมาเป็น 15.3 ส่วนไทยตัวเลขสอดคล้องกันจาก 8.6 มาเป็น 16.4 แพลตฟอร์ม

ขณะที่ การเปิดรับของผู้บริโภคต่อการทดลองและการสร้างปฏิสัมพันธ์ช่วยขับเคลื่อนพฤติกรรมใหม่ๆ โดย 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามเคยใช้การส่งข้อความเชิงธุรกิจในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ เห็นได้ชัดว่าแบรนด์จำเป็นต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับผู้บริโภคผ่านเนื้อหาในรูปแบบวีดิโอ ขณะที่โซเชียลมีเดียยังคงเป็นช่องทางสำคัญที่ผู้บริโภคใช้ในการตัดสินใจซื้อสินค้า