สดช.ขันน็อตหลักสูตร 'คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล'

สดช.ขันน็อตหลักสูตร 'คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล'

สดช. สานพลัง สภาดิจิทัลฯ เอ็มโอยูกำหนดทิศทางนโยบายส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของประเทศ เตรียมเปิดตัวโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ภาครัฐ

นายภุชพงค์ โนดไธสง เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของบุคลากร กับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทยเพื่อร่วมขับเคลื่อนการพัฒนากำลังคนและองค์ความรู้ด้านดิจิทัล ต่อยอดขยายผลออกไปในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านดิจิทัล (Digital Workforce)

นำร่องโครงการแรก “หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล” บนแพลตฟอร์มออนไลน์ภาครัฐ หวังเป็นแหล่งเรียนรู้ สร้างความเข้าใจและตระหนักถึงการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แก่ภาครัฐ-เอกชน-ประชาชนให้ทั่วถึงและมีมาตรฐานทัดเทียมทั่วโลก

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลให้แก่บุคลากรของประเทศ สนับสนุนการพัฒนา แลกเปลี่ยน เชื่อมโยงแหล่งการเรียนรู้ออนไลน์ และประชาสัมพันธ์หลักสูตร e-Learning การสนับสนุนบุคลากรที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล การแลกเปลี่ยนบุคลากรด้านดิจิทัล การพัฒนาหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงและเฉพาะทาง

รวมถึงการรับรองหลักสูตรด้านดิจิทัลที่มีมาตรฐานร่วมกัน เพื่อยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลของบุคลากรทุกภาคส่วนของไทย และขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลประเทศให้มีมาตรฐานทัดเทียมสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้ 

“หลักสูตรความรู้การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่ทำขึ้นมาก็เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นโครงการแรก เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักถึงความสำคัญของการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ไปยังทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ กลุ่มผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป ที่อาจยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง หลัง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ เมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา”

นายภุชพงค์ กล่าวอีกว่า สดช. เล็งเห็นถึงความสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาทรัพยากรบุคคลขององค์กร ในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะช่วงวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนต้องเรียนรู้และปรับตัวหลายๆ ด้าน ในรูปแบบการทำงาน New Normal ซึ่งภาคธุรกิจจะต้องเผชิญกับโลกการแข่งขันและการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทรัพยากรบุคคลจึงมีความสำคัญยิ่งกว่าในอดีตที่ผ่านมา สดช. จึงได้ร่วมมือกับ สภาดิจิทัลฯ ลงนามเอ็มโอยูเพื่อเร่งกำหนดทิศทางนโยบายการส่งเสริมและพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่บุคลากรของประเทศ 

ทั้งนี้ การพัฒนาทักษะ Upskill/ Reskill ให้บุคลากรในองค์กรเป็นคนรู้รอบด้าน มีทักษะใหม่ๆ และสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ให้กับองค์กรได้ รวมทั้ง Soft skill เนื่องจากตลาดงานในอนาคตจะมีความต้องการบุคลากรที่มีความสามารถในหลายด้านครอบคลุม สามารถทำงานแบบเฉพาะทางได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้ต้นทุนที่ถูกกว่า ด้วยการใช้เทคโนโลยีทดแทน