ผลสำรวจชี้ 'ผู้บริโภคไทย' ฮิตใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คซื้อ ‘สินค้าความงาม’

ผลสำรวจชี้ 'ผู้บริโภคไทย' ฮิตใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คซื้อ ‘สินค้าความงาม’

วันนี้ต้องยอมรับว่า “โซเชียลมีเดีย” มีอิทธิพลที่สูงมากต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าของผู้บริโภค รวมไปถึงตลาด “ผลิตภัณฑ์ความงาม” ที่ระยะหลังมานี้เห็นได้ชัดเจนว่าการขายสินค้าผ่านช่องทางโซเชียลต่างๆ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ

งานวิจัยล่าสุดโดย “มินเทล (Mintel)” เกี่ยวกับ “เส้นทางดิจิทัลในการทำตลาดความงาม” ปี 2565 เผยว่า ปัจจุบันเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น แบรนด์ต่างๆ เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องของความแท้ของสินค้า และความสะดวกสบายเพื่อรักษาฐานผู้บริโภคของผลิตภัณฑ์

ข้อมูลระบุว่า ตลาดความงามมือสองที่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เช่น ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรมเป็นเทรนด์ใหม่ที่สำคัญ

ด้วยความต้องการที่เกิดใหม่ของผู้บริโภคในยุคนี้ มีความต้องการซื้อสินค้าโดยไม่ต้องการจ่ายเต็มราคา ทำให้ผู้บริโภคชาวไทย 22% ยินดีที่จะเสี่ยงเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่มีราคาถูกกว่า และเต็มใจอย่างยิ่งที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ความงามมือสองบนโลกโซเชียล โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับได้แม้จะเสี่ยงต่อความถูกต้องหรืออาจจะได้ของปลอมก็ตาม

TikTok แพลตฟอร์มยอดนิยม

มินเทลพบด้วยว่า ในทางกลับกันผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไปในประเทศไทยไม่ชอบเสี่ยงเท่าใดนัก ซึ่งผู้บริโภคเหล่านี้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักในการซื้อผลิตภัณฑ์ความงามผ่านช่องทางออนไลน์

ตัวอย่างเช่น 40% ของผู้บริโภคในกลุ่มอายุนี้ ระบุว่าชอบซื้อผลิตภัณฑ์โดยตรงจากทางแบรนด์ และอีกมากกว่าครึ่ง หรือ 54% ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ความงามที่ไม่มีหลักฐานยืนยันทางวิทยาศาสตร์หรือหลักฐานยืนยันถึงประสิทธิภาพ

ที่น่าสนใจอีกทางหนึ่ง TikTok กำลังกลายเป็นแพลตฟอร์มยอดนิยมสำหรับผู้บริโภคชาวไทยทางด้านความงาม 

เจนแซดมองว่า ข้อมูลเนื้อหาเกี่ยวกับความงามบนโลกออนไลน์เป็นสิ่งสำคัญที่สามารถดึงดูดความสนใจของพวกเขา โดยกว่า 46% ของผู้บริโภคกลุ่มนี้มองว่าโฆษณาบนโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าความงามจากร้านค้าออนไลน์

มองหาประสบการณ์ ‘ไฮบริด’

ขณะที่เส้นทางดิจิทัลสู่ตลาดเพื่อความงามกำลังเฟื่องฟู สิ่งที่น่าสนใจอีกประการหนึ่ง คือประสบการณ์แบบ “ไฮบริด” นั่นก็คือการผสมผสานกันระหว่างการเลือกซื้อสินค้าในช่องทางออฟไลน์และออนไลน์เข้าด้วยกัน

โดย 32% ของผู้บริโภคที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ให้ความสนใจเกี่ยวกับความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนหรือคืนสินค้าที่ซื้อผ่านทางช่องทางออนไลน์ได้ที่หน้าร้านหากผลิตภัณฑ์ไม่ตรงกับความคาดหวัง และอีก 31% ในผู้ที่มีอายุระหว่าง 25-34 ปี มองว่าบริการนี้เป็นสิ่งที่ดีเยี่ยม

เนื่องจากช่องทางนี้ทั้งสะดวกและยังสามารถช่วยลดความรู้สึกผิดหวังจากการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่ตอบโจทย์และลดการเสียเงินเพิ่มที่อาจจะทำให้ผู้บริโภคไม่กล้าซื้อผลิตภัณฑ์ความงามผ่านช่องทางออนไลน์อีกด้วย

ชยภัทร รัชตวิภาสนันท์ นักวิเคราะห์อาวุโส บริษัท มินเทล ประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นแต่ก็ท้าทายสำหรับแบรนด์ความงามที่จำหน่ายในตลาดไทย

เนื่องจากประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเป็น 7.1% จึงมีแนวโน้มทำให้ผู้บริโภคทางด้านความงามชาวไทยหาวิธีใหม่ๆ ในการประหยัดค่าใช้จ่ายเมื่อค่าครองชีพสูงขึ้น นี่คือจุดที่แบรนด์ต่างๆ สามารถเพิ่มความไว้วางใจและความสะดวกสบายเพื่อช่วยผู้บริโภค

'แชท’ กุญแจเพิ่มความสำเร็จ

ตัวอย่างเช่น การเพิ่มขึ้นของตลาดความงามมือสองแม้อาจจะทำให้แบรนด์สูญเสียการขายโดยตรงกับผู้บริโภค แต่ทางแบรนด์สามารถสร้างตลาดกลางที่มาพร้อมกับข้อเสนอพิเศษต่างๆ ของผลิตภัณฑ์ความงามที่เป็นที่นิยมในตลาดความงามมือสอง ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยเพิ่มความมั่นใจ รวมทั้งยืนยันได้ถึงคุณภาพให้กับผู้บริโภคที่มีความชื่นชอบในผลิตภัณฑ์นั้นๆ

ขณะที่ ผู้บริโภคเองยังเปลี่ยนพื้นดิจิทัลด้านความงามออกจากสื่อกระแสหลักเดิมไปสู่โซเชียลมีเดีย และ TikTok ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้บริโภคเจนแซดที่เป็นผู้บริโภคฐานหลัก ซึ่งแพลตฟอร์มนี้คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 42% ของผู้บริโภคเจนแซด ใช้ TikTok ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าความงาม

โดยแบรนด์สามารถดึงดูดผู้บริโภคได้ด้วยการสร้างคะแนนรีวอร์ดเพื่อดึงดูดและเป็นรางวัลในการซื้อสินค้าให้กับผู้บริโภค ขณะเดียวกันใช้ประโยชน์จากช่องทางการค้าผ่านแชท เช่น แอปส่งข้อความจะเป็นกุญแจสำคัญในการยกระดับประสบการณ์การซื้อผ่านช่องทางออนไลน์สำหรับผู้มีอายุ 45 ปีขึ้นไป

“แบรนด์ความงามที่สามารถก้าวล้ำนำเทรนด์ในตลาดดิจิทัลและสามารถกำหนดเป้าหมายได้ตรงกับความต้องการของกลุ่มอายุต่างๆ ได้ จะสามารถควบคุมและได้ผลประโยชน์จากทางเทคโนโลยีดังกล่าว โดยผู้บริโภคนั้นเองสามารถเลือกซื้อสินค้าได้อย่างมั่นใจด้วย”