‘เทเลนอร์’ เจาะ 5 เทรนด์คนใช้เน็ต มือถือทรงอิทธิพล ไทยยืนหนึ่งทุกมิติ

‘เทเลนอร์’ เจาะ 5 เทรนด์คนใช้เน็ต  มือถือทรงอิทธิพล ไทยยืนหนึ่งทุกมิติ

ผลการศึกษา “Digital Lives Decoded” โดย “เทเลนอร์ เอเชีย” พบว่า ผู้คนทั่วเอเชียเชื่อว่า พลังของการเชื่อมต่อจากมือถือช่วยสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ ให้ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน และสามารถเข้าถึงบริการที่จำเป็นมากขึ้น

จากการสำรวจผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือกว่า 8,000 คนในแปดประเทศของภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บังกลาเทศ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม เผยให้เห็นถึงความตระหนักในประโยชน์ของชีวิตซึ่งการเชื่อมต่อมือถือช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ มอบความสะดวกสบาย และทำให้ผู้คนมีส่วนร่วมในเศรษฐกิจดิจิทัลได้ง่ายขึ้น

คนไทยไม่ยอมตกเทรนด์

สำหรับประเทศไทย คนไทยรู้สึกว่าโทรศัพท์มือถือช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (68%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย (58%) ทั้งคนไทยยังมีความกังวลน้อยที่สุดในเรื่องปัญหาความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานมือถือ (27%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ย (58%)

ที่น่าสนใจ คนไทยยังแสดงความมั่นใจสูงสุดเมื่อเทียบกับผู้ตอบแบบสำรวจในประเทศอื่นๆ ว่าจะสามารถก้าวทันการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีในอนาคต โดยมีเพียง 63% ที่มีความกังวลในด้านนี้ เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยที่ 85%

นอกจากนี้ คนไทยเห็นประโยชน์และมีแนวโน้มที่จะใช้งานมือถือเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (49%) เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยโดยรวมที่ (37%)

ไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่ง

เยอเก้น โรสทริป  รองประธานกรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เทเลนอร์ เอเชีย เผยว่า หากเทียบกับก่อนเกิดการระบาดใหญ่ ยอดการใช้งานดาต้าบนมือถือนั้นเพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัวในตลาดเอเชีย และได้เปลี่ยนวิธีการสื่อสารทั้งในที่ทำงานและที่บ้าน

“การเชื่อมต่อทางมือถือนั้นเปลี่ยนสถานะจากสิ่งที่ควรมีไปเป็นสิ่งที่ต้องมี ผู้คนต้องการให้การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับการใช้งานดิจิทัลและชีวิตประจำวันของพวกเขาคงอยู่ต่อไป”

สำหรับเทรนด์ที่น่าสนใจพบว่า 1. ไถฟีด ไลฟ์สไตล์ที่ไม่หยุดนิ่ง ผู้ตอบแบบสำรวจเกือบทั้งหมดพกโทรศัพท์มือถือติดตัวเป็นเวลาอย่างน้อยครึ่งวัน และหนึ่งในห้าพกโทรศัพท์ติดตัวตลอดเวลา

อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ (76%) รู้สึกว่าตนเองสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างสมดุล ผู้คนในฟิลิปปินส์และไทยมีชีวิตที่พึ่งพาอยู่กับโทรศัพท์มือถือมากที่สุดที่ 29% และ 26% ตามลำดับ พบด้วยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามในไทย (82%) คาดว่าการใช้งานมือถือของพวกเขาจะเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

หวั่นก้าวไม่ทันเทคโนโลยี

2. ชีวิตดิจิทัลที่ล้ำหน้า คนเจนแซด (Gen Z) มีแนวโน้มที่จะรู้สึกว่าพวกเขากำลังใช้เทคโนโลยีมากเกินไป ขณะเดียวกันยังมีความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับการมีทักษะที่เหมาะสมในการก้าวให้ทันเทคโนโลยี

เช่นเดียวกับคนวัยมิลเลนเนียล (85%) กังวลว่าทักษะด้านดิจิทัลของพวกเขาจะก้าวไม่ทันกับสภาพแวดล้อมทางดิจิทัลที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในบรรดาประเทศที่ทำการสำรวจ ประเทศไทยนั้นมีความกังวลในเรื่องนี้น้อยที่สุด (63%)

3. (ขาด) ความไว้วางใจในโลกดิจิทัล กว่า 93% จากทั่วทั้งภูมิภาคมีความกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยจากการใช้งานมือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ ท่ามกลางอัตราการใช้งานดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในบรรดาผู้ที่ลดการใช้มือถือลงในปีที่ผ่านมา หนึ่งในสามของผู้ตอบแบบสอบถามชาวเจนแซดในมาเลเซียกล่าวว่าความกังวลเรื่องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ที่ทำให้พวกเขาใช้งานมือถือลดลง ในทางกลับกัน คนในประเทศไทยนั้นมีความกังวลน้อยที่สุด โดยเกือบหนึ่งในสี่ (27%) ไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย

เพิ่มการเข้าถึง-ลดช่องว่างดิจิทัล

4. เข้าถึงการดำรงชีวิตที่ยั่งยืน การศึกษาเผยให้เห็นถึงมุมมองเชิงบวกเกี่ยวกับศักยภาพของเทคโนโลยีมือถือในการพัฒนาความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

โดยสามในสี่ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่าการเข้าถึงดิจิทัลนั้น “สำคัญมาก” สำหรับพวกเขาในการดำเนินชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในอนาคต

5. เทคโนโลยีมือถือกำลังปิดช่องว่างทางดิจิทัล การศึกษาชี้ว่า ผู้หญิงเห็นศักยภาพในการใช้มือถือมากขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามเพศหญิงกล่าวว่าการเชื่อมต่อผ่านมือถือได้เพิ่มทางเลือกในการทำงานและสร้างรายได้ และทำให้เข้าถึงข้อมูลและโอกาสทางการศึกษาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สูงกว่าผู้ตอบแบบสอบถามเพศชาย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย โดยที่ผู้หญิงสามในสี่ (75%) กล่าวว่าการใช้มือถือทำให้ชีวิตดีขึ้น เมื่อเทียบกับผู้ชายที่ครึ่งหนึ่ง (49%)