‘ครีเอเตอร์ อีโคโนมี’ โตแรง กลุ่ม‘มิลเลนเนียล’ครองตลาด 42%

‘ครีเอเตอร์ อีโคโนมี’ โตแรง  กลุ่ม‘มิลเลนเนียล’ครองตลาด 42%

อะโดบี เปิดข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ “ระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยครีเอเตอร์ หรือ Creator Economy” พบว่า ครีเอเตอร์ อีโคโนมี คือ เศรษฐกิจที่เน้นการสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์ สินค้า และบริการออนไลน์ โดยใช้ประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ และ Passion ซึ่งเติบโตต่อเนื่อง

ครีเอเตอร์ อีโคโนมี สร้างความเปลี่ยนแปลงในทุกแง่มุมของสังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่รูปแบบการทำงานในอนาคต ไปจนถึงความเคลื่อนไหวทางสังคม และการจัดการสุขภาพจิต (mental health)

"สก็อต เบลสกี้" ผู้บริหารฝ่ายผลิตภัณฑ์ และรองประธานบริหาร อะโดบี ครีเอทีฟ คลาวด์ บอกว่า ครีเอเตอร์ อีโคโนมี เติบโตอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และสร้างแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นครีเอเตอร์ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ทั่วไป, solopreneur, เจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก

‘ครีเอเตอร์ อีโคโนมี’ โตแรง  กลุ่ม‘มิลเลนเนียล’ครองตลาด 42%

คอนเทนต์ ครีเอเตอร์ สามารถแสดงออกและค้นหาความสนใจด้านครีเอทีฟและศิลปะในรูปแบบใหม่ๆ ปัจจุบันครีเอเตอร์ทุกเพศทุกวัยเปลี่ยนแรงบันดาลใจ และแพชชั่น ของตัวเองเป็นอาชีพและธุรกิจใหม่ๆ

ผลศึกษา Future of Creativity จัดทำขึ้น เพื่อศึกษาความเคลื่อนไหวของ ครีเอเตอร์ อีโคโนมี ทั่วโลกครบทุกแง่มุม รวมถึงการเติบโตของ creativity ที่เปลี่ยนแปลงไป ผลศึกษาระบุว่า ครีเอเตอร์ทั้งที่เป็นมืออาชีพและบุคคลทั่วไปที่สร้างคอนเทนต์ในแบบฉบับของตนเองเพื่ออาชีพ หรือทำตามความชอบ รวมถึงดีไซเนอร์ ช่างภาพ ผู้สร้างภาพยนต์ illustrator คนที่ทำคอนเทนต์เป็นงานอดิเรกและอื่นๆ อินฟลูเอนเซอร์ เองก็เป็นอีกหนึ่งประเภทของครีเตอร์ที่มีจำนวนผู้ติดตาม 5,000 คนขึ้นไป ซึ่งใช้ประโยชน์จากโซเชียลมีเดียสร้างความรู้ความเข้าใจหรือโน้มน้าวผู้ติดตามของพวกเขา

ยุคครีเอเตอร์ อีโคโนมีเฟื่องฟู

ผู้บริหารของอะโดบี เล่าว่า ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ระบบเศรษฐกิจ ครีเอเตอร์ อีโคโนมี เติบโตอย่างเท่าทวีคูณ

ครีเอเตอร์กว่า 165 ล้านคนเข้าร่วม ครีเอเตอร์ อีโคโนมี  ตั้งแต่ปี 2563เติบโตอย่างรวดเร็วในทุกตลาด ครีเอเตอร์ อีโคโนมี ในสหรัฐฯ เติบโตอย่างมาก มีจำนวนครีเอเตอร์เพิ่มขึ้นราว 34 ล้านคน หรือ คิดเป็นสัดส่วน 40% บราซิล มีครีเอเตอร์ใหม่กว่า 73 ล้านคน เกาหลีใต้มี กว่า 11 ล้านคน และสเปนมี กว่า 10 ล้านคน

กลายเป็นศูนย์กลางสำหรับการสร้างสรรค์ประชากรราวหนึ่งในสี่ เป็นครีเอเตอร์ ที่มีส่วนร่วมในการสร้างคอนเทนต์ ไม่ว่าจะเป็น ภาพถ่าย วิดีโอ งานเขียน และออนไลน์สเปซต่างๆ รวมถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย และบล็อกต่างๆ

ทั้งนี้ คนยุค มิลเลนเนียล (กลุ่มคนที่เกิดช่วงปี2527-2539) ครองสัดส่วนถึง 42% ของ ครีเอเตอร์ อีโคโนมี ขณะที่คน เจนแซด ครองสัดส่วน 14% โดย 48% ของครีเอเตอร์ได้รับแรงจูงใจจากเป้าหมายเดียวกัน คือ เสรีภาพการแสดงออก และครีเอเตอร์ไม่ถึงหนึ่งในสาม มีเงินเป็นแรงจูงใจอินฟลูเอนเซอร์ครองสัดส่วนเพียง 14 % ของ ครีเอเตอร์ อีโคโนมี ทั่วโลก

นิยามใหม่ Future of Work

ครีเอเตอร์ อีโคโนมี ยังได้ปลดล็อคเส้นทางอาชีพใหม่ๆ ทั้งในส่วนของงานประจำ และงานพาร์ทไทม์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคน เจนแซด และ มิลเลนเนียล ซึ่งไม่ค่อยสนใจที่จะทำงานในอาชีพแบบเดิมๆ

ผลศึกษาพบว่า การสร้างคอนเทนต์สามารถช่วยสร้างรายได้ แต่ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเทอย่างเต็มที่จึงจะประสบความสำเร็จ และถึงแม้ว่าการสร้างคอนเทนต์ยังคงเป็นงานที่สร้างรายได้เสริมสำหรับคนส่วนใหญ่ แต่ก็มีครีเอเตอร์จำนวนมากที่อยากพัฒนาต่อยอดให้ได้มากกว่านั้น

อินฟลูเอนเซอร์ราว 2 ใน 5 มีแรงจูงใจที่จะเปลี่ยนอาชีพเสริมจากการสร้างคอนเทนต์ให้กลายเป็นอาชีพหลัก 17% ของครีเอเตอร์เป็นเจ้าของธุรกิจ ขณะที่ 39% มุ่งหวังจะเป็นเจ้าของธุรกิจในอนาคตสำหรับครีเอเตอร์ส่วนใหญ่ การสร้างคอนเทนต์ถือเป็นงานอดิเรกหรืองานที่สร้างรายได้เสริม โดยครีเอเตอร์ 6 ใน 10 คนมีงานประจำอยู่แล้ว

กุญแจหนุนสังคมออนไลน์

ครีเอเตอร์ ใช้โอกาสในการพูดคุยประเด็นทางสังคมผ่านทางออนไลน์ และสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญต่อตนเอง ครีเอเตอร์เกือบทั้งหมด หรือราว 95% ส่งเสริมหรือสนับสนุนความเคลื่อนไหวทางสังคมที่มีความสำคัญต่อตนเอง

ขณะที่ ความมั่นคงทางความเป็นอยู่และอาหาร ความยุติธรรมในสังคม และภาวะโลกร้อน คือ ประเด็นทางสังคมที่มีความสำคัญมากที่สุดสำหรับครีเอเตอร์ทั่วโลก ครีเอเตอร์ใช้ผลงานสร้างสรรค์ และอิทธิพลของตนเองเพื่อส่งเสริมความเคลื่อนไหวทางสังคม เพราะเชื่อว่าตนเองสามารถสร้างความตระหนักรู้ให้สังคม เป็นกระบอกเสียงให้ผู้ด้อยโอกาส และช่วยให้คนอื่นๆ แสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางสังคมได้ง่ายขึ้น

ครีเอเตอร์กับสุขภาพทางจิต

ผลศึกษาชี้ว่า ยิ่งครีเอเตอร์ใช้เวลาในการสร้างและแชร์คอนเทนต์มากขึ้นเท่าไร เขาก็จะยิ่งรู้สึกมีความสุขมากขึ้นเท่านั้น ตรงกันข้ามกับผู้บริโภคโซเชียลมีเดีย ซึ่งผลการศึกษาระบุว่าสามารถได้รับผลกระทบแง่ลบจากการใช้โซเชียลมีเดีย

โดยรวมแล้ว ครีเอเตอร์ที่สร้างคอนเทนต์เป็นประจำทุกวันและ/หรือใช้เวลากว่า 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ในการสร้างสรรค์มีความสุขมากที่สุด ครีเอเตอร์ และอินฟลูเอนเซอร์ ส่วนใหญ่ระบุว่า การสร้างและแชร์คอนเทนต์ออนไลน์เป็นช่องทางในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ซึ่งไม่สามารถหาได้จากที่อื่น

ขณะที่ อินฟลูเอนเซอร์หนึ่งในสองคนระบุว่าการใช้โซเชียลมีเดียหรือการสร้างโซเชียลคอนเทนต์มีความสำคัญต่อสุขภาพจิตของเขามากกว่าการฟังเพลง การออกกำลังกาย และการออกไปสัมผัสกับธรรมชาติในที่กลางแจ้ง

สำหรับ รายงานผลการศึกษา Future of Creativity ของอะโดบีมีจุดมุ่งหมายเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเปลี่ยนแปลงของงานครีเอทีฟที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยมีการสอบถามความเห็นโดยตรงจากบุคคลที่อยู่แถวหน้าของงานครีเอทีฟออนไลน์ นั่นคือ ครีเอเตอร์ในระบบ Creator Economy และผลการศึกษานี้ได้สำรวจอนาคตของงานครีเอทีฟจากหลากหลายมุมมอง