วศ.เดินหน้าสร้าง สนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi

วศ.เดินหน้าสร้าง สนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi

กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) เดินหน้าสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi  ที่วังจันทร์วัลเลย์  เสริมความเชื่อมั่นและยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคต ที่พัฒนาและผลิตในประเทศ ให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

ดร.นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ปัจจุบันการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future mobility) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตในระดับโลกนั้นเป็นไปอย่างเข้มข้นและรวดเร็ว 

ประเทศไทยยังมีโอกาสในการเติบโตทางอุตสาหกรรมยานยนต์อีกมาก และยังสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้ทันกับการเปลี่ยนแปลง จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมโครงสร้างพื้นฐานทั้งด้านคุณภาพ (NQI) ด้านโทรคมนาคมและทางด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ดีรองรับ

เพื่อให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจในการลงทุนของบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้าน Future mobility และเป็นตัวเร่งให้เกิดระบบนิเวศน์ของบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงรวมถึงสตาร์ทอัพได้ 

วศ.เดินหน้าสร้าง สนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi

นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ

 

ที่ผ่านมา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ  สวทช.ได้ร่วมกับพันธมิตรและบริษัทพนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด  ริเริ่มโครงการการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย เพื่อช่วยให้เกิดอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่  

จึงจำเป็นต้องได้รับการทดสอบและรับรองคุณภาพ เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในด้านสมรรถนะและความปลอดภัยในการใช้งาน

วศ.เดินหน้าสร้าง สนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi

วศ. จึงจัดทำโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground  ขึ้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)  เพื่อยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

โครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (พ.ศ. 2565 - 2568)  ปัจจุบัน วศ. ได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินของจากบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง สำหรับใช้ในการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV ตลอดจนประสานความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านๆ 

เพื่อให้มั่นใจว่า สนามทดสอบดังกล่าวจะสามารถให้ผลการทดสอบได้ตามมาตรฐานระดับสากล  นอกจากนี้จะมีการฝึกอบรมให้กับบุคลากรทางด้านการทดสอบยานยนต์สมัยใหม่ พร้อมพิจารณาแนวทางการเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนามาตรฐานการทดสอบยานยนต์ในประเทศไทย

วศ.เดินหน้าสร้าง สนามทดสอบรถอัตโนมัติใน EECi

สำหรับการดำเนินงานโครงการฯ ครอบคลุมการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV สำหรับใช้ทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ  โดยจำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถนนในเขตเมือง สัญญาณจราจร ป้ายจราจร อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้ 

พร้อมทั้งทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV รวมไปถึงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz เพื่อตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ รวมทั้งทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติหรือระหว่างรถอัตโนมัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

เมื่อโครงการนี้เปิดให้บริการ วศ.มั่นใจว่า จะช่วยผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่และหุ่นยนต์ของประเทศให้ได้มาตรฐานระดับสากล สามารถกระตุ้นการลงทุนในพื้นที่ EEC และในประเทศ ซึ่งคาดว่า อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่จะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ถึง 200,000 ล้านบาทภายในปี  2573 

โดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ของไทยให้สามารถสร้างนวัตกรรมที่ขายได้ ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มีผู้ประกอบการทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในไทยเพิ่มขึ้น  และสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์รถอัตโนมัติ  ยานยนต์ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์เสริมความปลอดภัยในการขับขี่ (ADAS) ของไทยได้เอง.