ควบ 'ทรู ดีแทค' หวั่นผูกขาด ทีดีอาร์ไอ - ผู้บริโภค รุมต้าน

ควบ 'ทรู ดีแทค' หวั่นผูกขาด ทีดีอาร์ไอ - ผู้บริโภค รุมต้าน

“ทีดีอาร์ไอ” ค้านควบทรู-ดีแทค หวั่นค่าบริการพุ่ง 20-30% หากเหลือผู้ให้บริการแค่ 2 ราย “ไม่หนุน” เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ยังมองบวก ควบรวมได้ประโยชน์ Economy of scale ด้าน "ภาคประชาชน-ผู้บริโภค" เสียงแข็งค้านดีล

ชี้หากสำเร็จจำกัดทางเลือกประชาชน บีบให้ใช้บริการจากรายใหญ่กินส่วนแบ่งเกิน 50% ซัด กสทช.ควรหนุนให้เกิดรายใหม่ จี้ตอบคำถามให้ได้ทำไมเอื้อประโยชน์เอกชน หากปล่อยควบรวมผ่านฉลุย ทั้งที่อำนาจควรเน้นให้เช่าใช้เน็ตเวิร์กระหว่างกันแทนการลงทุนซ้ำซ้อน

วันที่ 3 ส.ค.นี้ ตามไทม์ไลน์กระบวนการพิจารณาดีลทรูควบดีแทค คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.จะรับรายงานจากสำนักงานกสทช.ที่สรุปผลการพิจารณาจากอนุกรรมการทั้ง 4 ชุดเข้าหารือร่วมในบอร์ด ถึงทิศทางการเดินต่อของดีลที่ยังอยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะการออกมาตั้งคำถามถึงประเด็นการ “ผูกขาด” และผล กระทบทางด้านเศรษฐกิจ ขณะที่วันพรุ่งนี้ ( 2 ส.ค.) สภาองค์กรของผู้บริโภค จะแถลงข่าวในประเด็นนี้หัวข้อ “ชะตากรรมผู้บริโภคกับยุคผูกขาดคลื่นความถี่” มีตัวแทนผู้บริโภค นักเศรษฐศาสตร์ ถกข้อดี ข้อเสียของดีลดังกล่าว 

นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)รักษาการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยการพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ถึงกรณีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคว่า “ไม่เห็นด้วย” กับการที่จะมีการควบรวมกิจการของทั้งสองบริษัทเข้าด้วยกัน เรื่องนี้เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นว่า ถ้าหากให้มีการควบรวมในสาขานี้ไปได้เรื่องที่ประเทศไทยจะเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลก็จะเกิดขึ้นได้ยาก

“ถ้าปล่อยให้เกิดการควบรวม คนที่ทำมาหากินกับการค้าขายออนไลน์ คนตัวเล็ก ตัวน้อยต่อไปก็จะต้องจ่ายค่าโทรศัพท์ ค่ามือถือ ค่าอินเตอร์เน็ตที่แพงก็จะยิ่งมีเงินในกระเป๋าน้อยลงไปอีก จึงไม่อยากให้มีการควบรวมในกรณีแบบนี้” นายสมเกียรติ กล่าว

ทีดีอาร์ไอ “ค้าน” ชี้ผู้เล่นน้อยราย ยิ่งอันตราย

ส่วนหากควบรวมแล้วสภาพการแข่งขันจะเปลี่ยนไปหรือไม่ หากผู้ให้บริการในไทยลดจาก 3 ราย เหลือ 2 รายนายสมเกียรติ กล่าวว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากครับจากผลการศึกษาโดยทั่วไประบุว่าหากเปลี่ยนจากผู้ให้บริการจาก 4 รายเหลือ 3 ราย ค่าบริการจะปรับขึ้น 5-6% แต่หากเปลี่ยนจาก 3 รายเหลือ 2 รายค่าบริการจะปรับขึ้นเป็น 20-30% 

ดังนั้นไม่ได้หมายความว่าหากมีการปรับลดลงในส่วนของผู้ให้บริการหนึ่งรายแล้วจะมีผลกระทบกับผู้บริโภคเหมือนกัน เพราะยิ่งเหนือน้อยรายเท่าไหร่ยิ่งอันตราย เพราะส่งผลต่อเรื่องการผูกขาดของตลาด

ก่อนหน้านี้ นายสมเกียรติ ได้อธิบายผลกระทบในทางเศรษฐศาสตร์จากควบรวมครั้งนี้ว่า เมื่อการควบรวม ทำให้เหลือผู้ประกอบการในธุรกิจมือถือเพียง 2 ราย ทรูควบรวมธุรกิจดีแทค จะมีส่วนแบ่งตลาดในเชิงรายได้อยู่ที่ 52% กลายเป็นเบอร์ 1 ในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ส่วนเอไอเอส จะมีส่วนแบ่งตลาด 47-48% เท่าเดิม แต่ผลกระทบที่ตามมา คือ จะทำให้เกิดการผูกขาดในเชิงโครงสร้างของธุรกิจโทรศัพท์มือถือ และเกิดการผูกขาดในเชิงพฤติกรรมตามมา

“ดัชนีชี้วัดการผูกขาด หรือ HHI หลังควบรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 จากก่อนควบรวมที่ค่า HHI อยู่ที่ 3,700 ซึ่งหมายความว่า จะเกิดการกระจุกตัวในระดับที่อันตราย และการที่ผู้เล่นเหลือเพียง 2 ราย จะมีความจำเป็นแข่งขันตัดราคากัน หรือให้โปรโมชั่นดีๆ หรือให้บริการใหม่น้อยลง เมื่อเทียบกับมี 3 ราย ดังนั้น เอไอเอส จะได้ประโยชน์ไปด้วยแม้ไม่ใช่คนที่เข้าไปควบรวมโดยตรง” นายสมเกียรติ กล่าว

ควบ \'ทรู ดีแทค\' หวั่นผูกขาด ทีดีอาร์ไอ - ผู้บริโภค รุมต้าน

ควบรวมเกิด Economies of scale

ขณะที่ นายสมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์ และการเมือง ให้มุมมองว่า ดีลนี้จะส่งผลต่อสร้างอำนาจอธิปไตยด้านเทคโนโลยีเพราะโทรคมนาคม คือ โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ มีผลสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยเฉพาะยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม 4.0 ซึ่งจำเป็นที่ต้องมีบริษัทไทยที่เป็น Tech Company ที่มีขนาดใหญ่พอให้เกิดการแข่งขันได้

ส่วนประเด็นเรื่องดัชนี HHI ที่วัดการกระจุกตัวนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่า HHI สูงจะส่งผลต่อราคาค่าบริการ ทั้งนี้เพราะในหลายประเทศ HHI สูงแต่ค่าบริการต่ำ เช่น จีน เป็นต้น

“เรามีหน่วยกำกับดูแล และคุ้มครองผู้บริโภคคือ กสทช. และคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เป็นกลไกสำคัญในการควบคุมดูแลราคาค่าบริการเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเดือดร้อน ผมมองว่าการผูกขาดไม่ใช่แค่จำนวนผู้ประกอบการเท่านั้น เพราะในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องลงทุนสูงจึงมีผู้ประกอบการน้อยราย แต่สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาคือ เรื่องการบิดเบือนตลาดที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งนี้เพราะดัชนี HHI การกระจุกตัวไม่ใช่การมีอำนาจเหนือตลาด”

การควบรวมกิจการนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ดี เพราะสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ การผนึกกำลัง จะทำให้เกิด Economies of scale นำไปสู่การพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ และบริการที่ดีขึ้น โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย 5จีอาจนำไปสู่การปรับลดราคาค่าบริการขณะเดียวกันยังสนับสนุน New S-Curve ที่เน้นใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกลุ่มเอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ

เหลือ2รายลิดรอนสิทธิผู้บริโภค

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวว่า การควบรวมจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน แต่เดิมมี 3 ทางเลือก แต่ควบรวม ถูกตัดทางเลือกออกไปเหลือเพียง 2 ทาง อนาคตจะมีหลักประกันอะไรว่า การควบรวมกิจการครั้งนี้จะไม่ลิดรอนทางเลือกผู้บริโภค ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ทางเลือกผู้บริโภคควรมีมากขึ้นไม่ใช่ลดน้อยลง

ปัจจุบัน มีผู้ประกอบการ 3 ราย หากไม่ชอบใจผู้บริโภค ก็สามารถย้ายไปยังรายที่พอใจได้ได้ แต่พอควบรวมกันแล้วทำให้ทางเลือกเหลือเพียงครึ่งเดียว และสุดท้ายกลายเป็นผู้บริโภคไม่มีทางเลือก

เหมือนจากถนนมี 3 เลน ให้รถวิ่งเหลือ 2 เลน ก็เหมือนว่า มีแต่รถบรรทุกวิ่งกับรถพ่วงไม่ว่าจะไปทางไหน ผู้บริโภคก็ได้รับผลกระทบ สิ่งที่ กสทช. ควรดำเนินการ คือ ฟังเสียงของผู้บริโภค และกสทช.ต้องไม่อนุญาตให้ควบรวม

“สิ่งที่กังวลที่สุด คือ ควรจะมีทางเลือกมากขึ้น ประเทศไทยเรามีการแข่งขันการค้าอย่างเสรี หมายความว่า มีรายเล็กรายใหญ่ ใครจะเลือกอย่างไหนก็ว่ากันไป แต่หากการแข่งขันไม่มีทางเลือกเลย ผู้บริโภคเลือกใครไม่ได้ เหมือนบังคับให้เลือก การมีทางเลือกน้อยเราจะถูกเอาเปรียบมากขึ้นหรือไม่"

ควบรวมสำเร็จส่อผูกขาดชัด

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) กล่าวเสริมว่า สอบ.ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมเพราะทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดลง และหากในท้ายที่สุดการควบรวมแล้วเสร็จ ผู้ให้บริการที่เหลืออยู่ 2 รายใหญ่ จะแบ่งตลาดกันเล่นจับคนละกลุ่มลูกค้า จนสุดท้ายไม่มีการแข่งขันกัน ไม่มีแรงจูงใจ ทำให้เกิดการแข่งขัน กระทบต่อผู้บริโภคแน่นอน

กสทช. ต้องให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้ชัดเจนว่ากรณีนี้ทำอะไรได้บ้าง และเมื่อควบรวมกันแล้วจะทำให้มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่ากว่า 52% ถือว่าเข้าข่ายเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดหรือไม่ การพิจารณา กสทช.ที่จะเกิดขึ้นสัปดาห์นี้ต้องตอบคำถามประชาชนให้รอบด้าน

อย่างไรก็ตาม ทรูกับดีแทคสามารถใช้เงื่อนไขประกาศของกสทช. ร่วมมือเป็นพันธมิตรกันได้โดยที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการแข่งขัน ยกตัวอย่าง ประกาศของ กสทช. มีประเด็นเรื่องของการให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน ซึ่งการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (อินฟราสตรัคเจอร์ แชร์ริ่ง) เพื่ให้เอกชนลดต้นทุนสร้างโครงข่าย แต่สอบ.ไม่เห็นการทำความร่วมมือในลักษณะนี้ แต่กลับมาในรูปแบบการควบรวมกิจการ 

ดังนั้น สอบ.จึงไม่สนับสนุนให้เกิดการควบรวมเพื่อตัดโอกาส ตัดสิทธิของผู้บริโภค ดูได้จากรณีศึกษาของต่างประเทศก็จะพบว่าในต่างประเทศมีผู้ให้บริการ 3-4 รายขึ้นไปทั้งนั้น ไม่มีประเทศใดที่มี 3 ราย และสุดท้ายก็ควบรวมจนเหลือเพียง 2 ราย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมในไทย นอกจากจะเปิดโอกาสให้มีการควบรวมแล้ว ยังไม่เห็นการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มเข้ามาในตลาดเพื่อมาเป็นทางการเลือกให้แก่ผู้บริโภค

ต้องตอบคำถามประชาชน

นางสาวสารี กล่าวด้วยว่า การกำกับดูแลดีลการควบรวมนี้ ยังมีสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า หากการควบรวมครั้งนี้มีผลต่อการแข่งขันการค้า อย่างน้อย 3 หน่วยงานควรได้เห็นข้อเสนอทางนโยบาย และตอบข้อมูลให้กับสาธารณะได้รับทราบ พร้อมกับเตรียมที่จะทำแผนประชุมต่อไป ทางสอบ.วางแผนให้หน่วยงานเหล่านี้ ตอบคำถามกับผู้บริโภคว่าจะดำเนินการอะไร ได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร และจะเร่งทำโดยเร็วที่สุด และคิดว่าหากประเทศนี้ไม่มีใครกำกับดูแลเลย สอบ.ก็คงต้องทำเรื่องร้องเรียนไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่เบื้องต้นก็อยากให้หน่วยงานทำหน้าที่ในฐานะหน่วยงานที่กำกับดูแลโดยตรง

นางสาวสารี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาสอบ.ได้ดำเนินการเปิดเวทีในของส่วนของภาคประชาชนอยู่หลายครั้ง และก็จะมีการเปิดเวทีอีกครั้งในวันที่ 2 ส.ค.นี้ และที่ผ่านมาก็ได้ข้อสรุปร่วมกันในทุกครั้งว่าไม่เห็นด้วยกับการควบรวมดังกล่าว และก็ได้ยื่นข้อคิดเห็นที่ไม่เห็นด้วยกับกสทช.ทั้งชุดรักษาการณ์และกสทช.ชุดปัจจุบันไปแล้ว รวมถึงมีการประชุมร่วมกันอย่างไม่เป็นทางการกับผู้บริหารกสทช.เพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำหนดเงื่อนไขให้มีจำนวนผู้ประกอบการจำนวนเพิ่มขึ้น และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องมีโครงข่ายของตนเอง การควบรวมขัดต่อกฎหมายหลายตัว เช่น รัฐธรรมนูญ ,พ.ร.บ.กสทช.,พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค ในมาตรา 4 ระบุถึงสิทธิที่ผู้บริโภคต้องมีอิสระในการเลือกใช้บริการ และ พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เนื่องจากการควบรวมทำให้บริษัทใหม่มีอำนาจเหนือตลาดชัดเจน

ตลาดเสี่ยงผูกขาดถาวร

ด้านเครือข่ายประชาชนพิทักษ์ประโยชน์สาธารณะ (ปปณ.) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงศาสตราจารย์คลินิก สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.ว่า จากข้อมูลจากการศึกษาของ กสทช.เองระบุว่า ปัจจุบัน มีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จำนวน 141 ล้านเลขหมาย มีผู้ใช้บริการผ่าน 3 ผู้ให้บริการรายใหญ่ คือ เอไอเอส ทรูและ ดีแทค จำนวน 132 ล้านเลขหมาย คิดเป็นส่วนแบ่งการตลาดรวมกันสูงถึง 93% จึงทำให้ทั้ง 3 รายจัดเป็นผู้มีอิทธิพลเหนือตลาด 

ดังนั้น หากมีการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทคซึ่งเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่อันดับ 2 และ 3 จะทำให้อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศ สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็นตลาด Duopoly ที่มีผู้ให้บริการผูกขาดเหลืออยู่เพียง 2 รายอย่างถาวร ผู้บริโกคมีแนวโน้มจะถูกเอาเปรียบ ไม่มีทางเลือกและท้ายที่สุดอัตราค่าบริการมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ขณะเดียวกัน ผลศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสำนักงาน กสทช.ได้ว่าจ้างให้ดำเนินการศึกษาเพิ่มเดิมล่าสุด มีการรายงานเป็นเอกสารยืนยันเช่นกันว่า หากผู้เล่นในตลาดลดลงจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย โดยทั้ง 2 รายเป็นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดเกินกว่า 45% ก็มีความเป็นไปได้ว่า ค่าบริการในระยะยาวจะแพงขึ้น 20-30% เพราะผู้บริโภคไม่มีทางเลือกในการใช้งาน

วอนกสทช.ปฏิบัติหน้าที่ให้ดี

ดังนั้น ที่ผ่านมาทุกภาคส่วนต่างคาดหวังว่ากสทช.ชุดปัจจุบันที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ จะใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กร กสทช. ในการเป็นองค์กรกำกับดูแลจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากการชี้นำหรือครอบงำจากกลุ่มทุนใดๆ ควรใช้อำนาจหรือสิทธิที่มีตามกฎหมายติดตัวมาอย่างเต็มที่และต้องคุ้มครองผู้บริโภคและสิทธิของผู้บริโภคอย่างมาก 

สิ่งที่ประชาชนอยากเห็นคือการพัฒนาโครงข่าย พัฒนาบริการ ในเมื่ออนาคตจะเข้าสู่ยุคเมตาเวิร์ส และสิ่งที่จะล้มหายตายจากไปตลาดหากเกิดการควบรวมคือคู่ค้า ดีลเลอร์รายเล็กรายย่อยที่มีอยู่ในตลาด เพราะมีสิทธิที่ทรู-ดีแทคจะตัดช่องทางการค้าไปจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อของตัวเอง จะทำให้รายเล็กรายย่อยที่มีอยู่ในตลาดหายไป ส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้ประกอบการ 

หวั่นเกิดการสมรู้ร่วมคิด

ขณะที่ นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาองค์กรของผู้บริโภค ตั้งข้อสังเกตว่า การควบรวมและเหลือเพียงสองรายใหญ่ จะมีแนวโน้มไปสู่การสมรู้ร่วมคิดที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงระหว่างหน่วยงานที่แข่งขันกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมตลาด (Collusion) หรือสภาวะตลาดผูกขาด ( Monopoly)  โดยเฉพาะในกิจการที่มีอำนาจเหนือตลาดสูง อีกทั้งการที่มีผู้แข่งขันน้อยราย โดยเฉพาะธุรกิจโทรคมนาคมที่รายใหม่ๆ จะเข้าสู่ตลาดเดิมยากขึ้น ผู้บริโภคมีอำนาจน้อยลงกสทช. จะมีมาตรการเยียวยาอย่างไร