‘ดาร์วินเทค’ จัดมื้ออาหาร ดีพเทคจากแล็บสวทช.

‘ดาร์วินเทค’ จัดมื้ออาหาร ดีพเทคจากแล็บสวทช.

ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านดาต้า ‘ดาร์วินเทค’ แพลตฟอร์มที่นำเทคโนโลยีมาช่วยจัดมื้ออาหาร ดูแลสุขภาพและโภชนาการแบบครบวงจร ผลงานต่อยอดจากระบบ Thai School Lunch ช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน จัดหาวัตถุดิบและปรับเมนูให้เหมาะสม ครอบคลุมถึงระบบโลจิสติกส์ การทำบัญชีและอีเพย์เมนต์

ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (DarwinTec Solutions) ดีพเทคสตาร์ทอัพด้านดาต้า ผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาช่วยจัดมื้ออาหาร ดูแลสุขภาพและโภชนาการแบบครบวงจรสำหรับสถานศึกษา

ผลงานพัฒนาต่อยอดจากระบบ Thai School Lunch ที่เนคเทคร่วมพัฒนากับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล สู่โภชนาการภาคอุตสาหกรรม สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุน จัดหาวัตถุดิบและปรับเมนูให้เหมาะสม ตลอดจนครอบคลุมถึงระบบโลจิสติกส์ การทำบัญชีและอีเพย์เมนต์

 

‘ดาร์วินเทค’ จัดมื้ออาหาร ดีพเทคจากแล็บสวทช.

ทีมดาร์วินเทค โซลูชันส์

 

  • นวัตกรรมช่วยลดต้นทุน

สุปิยา เจริญศิริวัฒน์ ที่ปรึกษา บริษัท ดาร์วินเทค โซลูชันส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ดาร์วินเทคเป็นหนึ่งใน 9 ผลงานที่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ในการส่งผ่านงานวิจัยไปสู่เชิงพาณิชย์รูปแบบธุรกิจใหม่ที่เรียกว่า “นาสท์ด้า สตาร์ทอัพ (NSTDA Startup)” 

ปัจจุบัน บริษัทอยู่ในขั้นตอนของการเปิดตัวแพลตฟอร์ม และเตรียมตัวสู่การใช้งานจริง เพื่อผลักดันนโยบายส่งเสริมสุขภาพของประเทศ 

จากการร่วมทุนกับสวทช. ทำให้ดาร์วินเทคได้รับการจดอนุสิทธิบัตร พัฒนางานวิจัยสู่นวัตกรรม วางแผนธุรกิจต่อยอดไปยังสถานศึกษาที่มีลักษณะการจัดอาหารที่มีการจัดอาหารรูปแบบต่างๆ มากขึ้น เช่น รูปแบบของโรงอาหารที่ให้เด็กสามารถเลือกอาหารได้เอง (บุฟเฟ่ต์) หรือ Tailor-Made แบบรายคน เป็นต้น

ทั้งนี้ ดาร์วินเทคร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และสถาบันโภชนาการ นำโปรแกรมระบบอาหารกลางวันสําหรับโรงเรียนแบบอัตโนมัติ หรือ ไทยสคูลลันซ์ ที่จะเชื่อมโยงความต้องการของโรงเรียนกับเกษตรกรมาใช้ในสถานศึกษา ยกระดับอาหารปลอดภัยในโรงเรียน ซึ่งได้เปิดให้บริการมากกว่า 10 ปีในโรงเรียนกว่า 40,000 แห่ง

 

‘ดาร์วินเทค’ จัดมื้ออาหาร ดีพเทคจากแล็บสวทช.

(ภาพโดย สสส.)

 

ไทยสคูลลันซ์ช่วยจัดอาหารกลางวันให้มีความครอบคลุมทั้งหลักโภชนาการ คุณค่าทางโภชนาการ ติดตามและแจ้งเตือนเมื่อพบเด็กที่มีความเสี่ยง ส่งผลการวิเคราะห์กลับไปยังต้นสังกัด โดยจะเปิดให้บุคคลทั่วไปและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลการวิเคราะห์อาหารกลางวัน และภาพรวมภาวะโภชนาการของนักเรียน เพื่อให้ข้อมูลเหล่านี้ถูกนำมาใช้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับอย่างยั่งยืน

ขณะเดียวกัน ดาร์วินเทคได้มองเห็นถึงปัญหาของผู้ประกอบการที่เข้ามารับเหมาดูแลจัดการมื้ออาหารในระบบไทยสคูลลันซ์ อาจจะต้องใช้ต้นทุนเรื่องระบบเทคโนโลยีฮาร์ดแวร์ และการบริหารจัดการบัญชีในราคาที่สูง ดาร์วินเทคจึงพัฒนาโซลูชันเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการอาหารโดยตรงที่มากกว่าแค่ไทยสคูลลันซ์

แพลตฟอร์มตัวใหม่นี้จะช่วยบริหารงานใน 4 ด้าน ได้แก่

  1. ระบบบริหารจัดการอาหารในโรงเรียนสำหรับผู้ประกอบการ
  2. ระบบบริหารจัดการโรงอาหารแบบ Smart Canteen แอปพลิเคชันที่สามารถติดตามคุณภาพของอาหารในโรงเรียน ช่วยให้โรงเรียนสามารถเฝ้าระวังและติดตามด้านสุขภาพ รวมถึงการจัดหาวัตถุดิบเพื่อส่งเสริมโภชนาการ เช่น อาหารปลอดภัย ไร้สารปนเปื้อน
  3. บริการจัดหาวัตถุดิบและปรับเมนูอาหารให้เหมาะสม ซึ่งคุณภาพของอาหารที่นำมาตรวจสอบจะยึดตามหลักกระทรวงสาธารณสุขประกาศบังคับใช้
  4. บริการเชื่อมต่อ IoT Devices เช่น เครื่องมือตรวจวัดโภชนาการในอาหาร

แพลตฟอร์มของดาร์วินเทค สามารถใช้ได้กับกลุ่มผู้ประกอบการอาหารในสถานศึกษา โรงงาน ตลอดจนหน่วยงานที่ต้องการเฝ้าติดตามด้านโภชนาการสุขภาพ บริการดังกล่าวเป็นราคาในรูปแบบแพ็กเกจที่สามารถเข้าถึงได้ เพราะทีมดาร์วินเทคต้องการช่วยผู้ประกอบการอาหาร และส่งเสริมสุขภาพของนักเรียนด้วยราคาย่อมเยาทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล ตลอดจนโรงเรียนในต่างจังหวัด

 

  • ปั้นทีมวิจัยสู่โมเดลธุรกิจ

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวว่า สวทช. เป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญในด้านการวิจัยและพัฒนาที่สร้างคุณค่าและต่อยอดให้กับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) และให้ความสำคัญในการใช้ประโยชน์จากผลงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ เสริมศักยภาพและยกระดับผู้ประกอบการนักลงทุน รวมถึงสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการขับเคลื่อนและต่อยอดผลงาน วทน. จากหิ้งสู่ห้างเพื่อเชื่อมโยงให้เอกชนเข้าถึงได้ง่าย

โครงการ “นาสท์ด้า สตาร์ทอัพ” เริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา จะช่วยตอบโจทย์การเร่งให้เกิดการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ของผลงานวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม (RDI) ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยหลัก คือ จะมีกลุ่มนักวิจัยเข้าร่วมกับพันธมิตรภาคเอกชนและสวทช.

ในการปั้นโมเดลธุรกิจ (Business Model) จากผลงานวิจัยของ สวทช. เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแผนธุรกิจ (Business Plan) อย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับและก้าวไปสู่การร่วมจัดตั้งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพต่อไป