ถอดรหัส ‘ไวซ์ไซท์’ เทคสตาร์ทอัพ ทำไมถึงเป็นผู้นำด้านโซเชียลในเอเปค?

ถอดรหัส ‘ไวซ์ไซท์’ เทคสตาร์ทอัพ ทำไมถึงเป็นผู้นำด้านโซเชียลในเอเปค?

‘ไวซ์ไซท์’ เปิดเผยถึงการเติบโตของบริษัทอย่างก้าวกระโดด จนกลายมาเป็นผู้นำแนวหน้าด้านแพลตฟอร์มวิเคราะห์สื่อสังคมในเอเปค นั่นก็เพราะรับวัฒนธรรมนวัตกรรมมาจาก ‘อะเมซอน เว็บ เซอร์วิส’ โซลูชันที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องระบบประมวลผล และการบริหารจัดการทีมเวิร์ค

ไวซ์ไซท์ (Wisesight) เทคสตาร์ทอัพสายดาต้า ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มวิเคราะห์ข้อมูลโซเชียลมีเดีย (Social Listening) ได้เปิดเผยถึงความสำเร็จของการก่อตั้งบริษัท จากทีมงานสายวิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) สู่สายการตลาด (Digital marketing) จนกลายเป็นผู้นำด้านโซเชียลใน APAC

โดยพงศ์ระพี เจนจรัตน์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ความสำเร็จที่เกิดขึ้นนั้น ก็เพราะไวท์ไซท์มีวัฒนธรรมทางนวัตกรรมที่เหมือนกับอะเมซอน (Amazon หรือ AWS) 

จากการทำงานด้วยกันมาถึง 4 ปี ไวซ์ไซท์ใช้ระบบหลังบ้านของอะเมซอนผ่านการประมวลผลบนคลาวด์กว่า 20 ล้านข้อความ ซึ่งคลาวด์เป็นระบบที่เสถียร แม่นยำ เหมาะกับการบริหาร จัดการ และวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมหาศาล ตอบโจทย์โซลูชันของไวซ์ไซท์ ทั้งนี้ การเป็นพันธมิตรไม่ได้พัฒนาแค่ระบบ แต่ยังร่วมกันพัฒนาถึงวิธีการบริหารทีม ทำให้ธุรกิจสตาร์ทอัพสู่ความสำเร็จระดับแนวหน้า

 

  • กว่าจะมาเป็นไวซ์ไซท์

ทุก ๆ ปี เรามักจะเห็นไวซ์ไซท์ออกมาเปิดเผยข้อมูลจากการวิเคราะห์ข้อมูลบนสื่อออนไลน์ในขณะนั้นอยู่เป็นประจำ ทำให้นักการตลาดทราบและสะท้อน “เทรนด์” ที่เกิดขึ้น สิ่งไหนเป็นประเด็นร้อนแรงที่สังคมสนใจ และกลายเป็นไวรัลที่สร้างผลกระทบเชิงบวกและลบ เพื่อเป็นบทเรียนและข้อมูล

ไวซ์ไซท์ก่อตั้งขึ้นในปี 2011 เกิดจากการรวมกันของบริษัท โธธ โซเชียล (Thoth Zocial) กับ โอบีว็อค (OBVOC) และเปลี่ยนชื่อเป็นไวซ์ไซท์ เพื่อรองรับการเติบโตขึ้นในแต่ละปี ทั้งในด้านรายได้ และส่วนแบ่งการตลาด โดยเริ่มต้นจากการทำเอเจนซี่โฆษณา ซึ่งเสียงตอบรับจากลูกค้าในตอนนั้นคือ อยากให้ไวซ์ไซท์เป็นผู้ให้บริการด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ที่คอยให้ข้อมูลแก่ลูกค้าและเอเจนซี่เพื่อนำไปวางกลยุทธ์ด้านการตลาด จึงได้พัฒนาธุรกิจมาเรื่อย ๆ จนเป็นไวซ์ไซท์อย่างปัจจุบัน 

โดยข้อมูลสื่อสังคมที่ไวซ์ไซท์นำมาวิเคราะห์จะมาจากทุกแหล่งที่สำคัญ ได้แก่ Facebook, Twitter, Instagram, YouTube, Pantip, TikTok และเว็บไซต์ข่าวต่าง ๆ โดยไวซ์ไซท์มีข้อมูลดิบที่เก็บเอาไว้ในถัง Big Data ตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท และไม่เคยลบทิ้ง ทำให้กลายเป็นบริษัทที่มีจำนวนข้อมูลดิบมากที่สุดในประเทศไทย

เป้าหมายหลักของบริษัทคือ การช่วยให้ลูกค้าเข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น เห็นเสียงตอบรับของสังคมมากขึ้น รับรู้การใช้สินค้าจริง จึงเทียบได้กับงานวิจัยด้านการตลาด (market research) แต่มีความลึกและแม่นยำกว่าการทำวิจัยตลาดแบบเดิม เพราะเป็นการวิเคราะห์การเก็บข้อมูลจริง ไม่ใช่แค่สำรวจโดยการสุ่ม อีกทั้งยังผสมผสานการวิเคราะห์ข้อมูลจากทั้ง Machine Learning ร่วมกับนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม

“ภายใน 5 ปี เราตั้งเป้าขยายธุรกิจสู่ตลาดเอเชียแปซิฟิก เพื่อก้าวสู่การเป็นเทคสตาร์ทอัพสัญชาติไทยที่เติบโตอย่างยั่งยืน ได้รับการยอมรับทั้งในประเทศ และต่างประเทศ” 

 

ถอดรหัส ‘ไวซ์ไซท์’ เทคสตาร์ทอัพ ทำไมถึงเป็นผู้นำด้านโซเชียลในเอเปค?

พงศ์ระพี เจนจรัตน์

 

  • แนวคิดการสร้างทีมเวิร์ค

พงศ์ระพี อธิบายถึงการทำงานร่วมกับทีมว่า ไวซ์ไซท์ให้ความสำคัญกับการหาคนที่ใช่มาทำงานร่วมกันในทีม โดยในอดีตบริษัทมักจะหาคนที่เข้ากับทีมได้เข้ามาร่วมงาน สุดท้ายทีมเราเต็มไปด้วยคนที่มีลักษณะเดียวกันทั้งหมด และไม่มีความแตกต่างทั้งในเรื่องของไอเดียหรือมุมมอง ทำให้เราได้เรียนรู้ว่าเราต้องมีความหลากหลายของบุคลากรเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ  

นอกจากนี้ไวท์ไซท์ยังนำวัฒนธรรมของอะเมซอนในเรื่องของทฤษฎีพิซซ่า 2 ถาด และแนวคิดว่า “every day being Day 1” หรือ “ทำทุกวันให้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ” มาปรับใช้ในองค์กร 

ทฤษฎีพิซซ่า 2 ถาดของ เจฟฟ์ เบโซส (Jeff Bezos) คือ การจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมประชุมแต่ละครั้งให้อยู่ในปริมาณที่สามารถแบ่งพิซซ่า 2 ถาดใหญ่ทานด้วยกันแล้วเพียงพอ ซึ่งในช่วงโควิดที่ไวซ์ไซท์ทำงานกันจากที่บ้าน การทำงานร่วมกันทีมละ 3-6 คนทางออนไลน์ยังรู้สึกว่ามีจำนวนมากเกินไป ทำให้ปรับและเลือกเฉพาะคนที่เกี่ยวข้องและสำคัญต่องานนั้น ๆ เข้าประชุม มีการระบุวัตถุประสงค์การประชุมล่วงหน้าให้ชัดเจน เช่น เพื่อให้ข้อมูล หรือเพื่อปรึกษาหารือ เป็นต้น รวมถึงระบุเวลาการประชุมให้สั้นเฉลี่ยไม่เกิน 45 นาที 

ปัจจุบันไวซ์ไซท์มีพนักงาน 210 คน สิ่งที่เป็นข้อตกลงระหว่างทีมคือ จะไม่นำงานมาแก้ไขในการประชุม เพราะจะทำให้งานนั้นหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ควรที่จะปรับแก้งานให้เสร็จก่อนเข้าประชุม 

สำหรับแนวคิด every day being Day 1 คือ การสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรม บริษัทต้องไม่ลืมจุดเริ่มต้นของธุรกิจ หรือวันแรกที่เริ่มสร้างและพยายามเติบโต ไม่หลงลืมไปกับความสำเร็จในปัจจุบัน ต้องไม่หยุดเรียนรู้ว่าลูกค้าจะต้องการอะไรในอนาคต พรุ่งนี้จะมีปัญหาอะไร หรือจะมีอะไรใหม่เกิดขึ้นใหม่ในโลกอยู่เสมอ

ความเชื่อหลักของไวซ์ไซท์ (Core Value) ประกอบไปด้วย 

  1. Trust การทำธุรกิจต้องการความน่าเชื่อถือ และการจะทำให้ธุรกิจน่าเชื่อถือ พนักงานต้องเชื่อใจกันเองก่อน
  2. Empowerment บริษัทจะเติบโตและพัฒนาได้ พนักงานต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน
  3. Collaboration ความร่วมมือกัน ทำงานเป็นทีม ร่วมมือรับผิดชอบเป้าหมายด้วยกันทั้งองค์กร
  4. Growth การเติบโตของบริษัทต้องยั่งยืน
  5. Pride บริษัทต้องทำให้พนักงานภูมิใจที่ได้ทำงานที่นี่ ได้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน

 

 

ถอดรหัส ‘ไวซ์ไซท์’ เทคสตาร์ทอัพ ทำไมถึงเป็นผู้นำด้านโซเชียลในเอเปค?

ปรียา ลักษมี

 

  • กุญแจสู่การสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม

ปรียา ลักษมี หัวหน้าฝ่ายธุรกิจสตาร์ทอัพ บริษัท อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (อาเซียน) จำกัด ผู้ให้บริการประมวลผลบนคลาวด์ เล็งเห็นความสำคัญของ “การทำทุกวันให้เป็นวันแรกของการเริ่มต้นธุรกิจ” โดยปรียา กล่าวว่า จากแนวคิดนี้จะทำให้สามารถเข้าใจลูกค้าสตาร์ทอัพของที่เข้ามาใช้งาน และทำให้สามารถคาดการณ์และตอบสนองความต้องการของพวกเขาได้อย่างต่อเนื่อง

เนื่องจากความต้องการของลูกค้าเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา อะเมซอนจึงใช้กระบวนการทำงานแบบ “กระบวนการทำงานแบบย้อนกลับโดยการตั้งต้นที่ลูกค้า” (working backwards) ที่เริ่มจากความต้องการของลูกค้าเพื่อสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ ตอบโจทย์โซลูชันต่าง ๆ เริ่มต้นด้วย 5 คำถามเกี่ยวกับลูกค้า ได้แก่ 

1. ใครคือลูกค้า? 2. ปัญหาหรือโอกาสของลูกค้าคืออะไร? 3. ความคิดของคุณทำให้ลูกค้าได้ประโยชน์อย่างเห็นได้ชัดหรือไม่? 4.คุณรู้ได้อย่างไรว่าลูกค้าต้องการอะไร? และ 5. ประสบการณ์ของลูกค้าเป็นอย่างไร?

ซึ่งแนวคิดการทำงานแบบย้อนกลับโดยมีลูกค้าเป็นที่ตั้งนี้ มีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรม สอดคล้องกับการทำงานของไวซ์ไซท์ เพราะ 90% ของฟีเจอร์ต่าง ๆ ที่พัฒนาขึ้นนั้น มาจากความคิดเห็นและความต้องการของลูกค้าโดยตรง อีก 10% มาจากการทำงานใกล้ชิดกับลูกค้ามากพอที่บริษัทสามารถคิดแทนลูกค้าได้ เมื่อลูกค้าไม่สามารถระบุความต้องการเหล่านั้นได้