ธุรกิจเทค ปรับฐานสู่ “Responsible Growth” | ต้องหทัย กุวานนท์

ธุรกิจเทค ปรับฐานสู่ “Responsible Growth” | ต้องหทัย กุวานนท์

ปี 2022 เป็นปีที่เต็มไปด้วยข่าวร้ายสำหรับภาคธุรกิจ ถึงแม้ดัชนีการบริโภคทั่วโลกจะเริ่มฟื้นตัวหลังสถานการณ์โควิด แต่ก็ยังคงต้องเผชิญกับผลกระทบจากสงคราม

ปัญหาซัพพลายเชนและภาวะเงินเฟ้อซึ่งทำให้ตลาดการลงทุนทั่วโลกอยู่ในสภาวะถดถอย สินทรัพย์แทบทุกชนิดตกลงไปอยู่ในจุด “แดงเดือด” ซึ่งยังไม่มีแนวโน้มพลิกฟื้น  

ข่าวการเลย์ออฟครั้งใหญ่ของบริษัทยักษ์ใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยี อีคอมเมิร์ซ และมีเดีย ขาดทุนครั้งประวัติการณ์ถึง 1 ล้านล้านบาทของกองทุน Softbank Vision Fund ที่ลงทุนในบริษัทเทคสตาร์ทอัพทั่วโลกหลายร้อยแห่ง ส่งสัญญาณอันตรายว่า ธุรกิจเทคโนโลยีกำลังเดินเข้าสู่จุดของการ “ปรับฐาน” VC 

หลายคนมองว่ายุคของการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจเทคโนโลยีที่เรียกกันว่า “Blitz-scaling” ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2010-2020 กำลังจะหมดลงแล้ว มูลค่าการลงทุนของ VC ทั่วโลกในปีที่แล้วตกลงมาถึง 19% ในขณะที่ดีลการ Exit ธุรกิจด้วย IPO ก็ลดลงถึง 37% ส่วนการลงทุนในกลุ่ม CVC ถึงแม้จำนวนดีลจะเพิ่มขึ้นจากการขยายการลงทุนในธุรกิจนวัตกรรมด้าน Biotech, Advanced Materials, และ Sustainability แต่เม็ดเงินรวมก็ลดลงจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ

ธุรกิจด้าน Software และ Digital Services, อีคอมเมิร์ซ และมีเดีย ที่เคยเติบโตแบบ Hypergrowth กลายเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับผลกระทบมากที่สุด ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา “Blitz-scaling” ถือเป็นวิถีการเติบโตของธุรกิจสตาร์ทอัพที่ให้ความสำคัญกับ ‘การเติบโตแบบก้าวกระโดด’ มากกว่า ‘การเติบโตอย่างยั่งยืน’ ทีมผู้ก่อตั้งเร่งระดมทุน เพื่อขับเคลื่อนองค์กรจากสตาร์ทอัพให้ ‘Scaleup’ อย่างรวดเร็ว 

และครองความเป็นเจ้าตลาดก่อนคู่แข่ง ความสำเร็จของยูนิคอร์นและเดคาคอร์นในช่วง 10 ปีก่อนกำลังเดินสู่ความท้าทาย มูลค่าธุรกิจและหุ้นของบริษัทเทคโนโลยีหลายบริษัทกำลังอยู่ในจุดหัวเลี้ยวหัวต่อว่า “อะไรจะเป็นเครื่องยนต์ตัวใหม่ของการเติบโต

ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่ดอทคอมภาค 2 หรือประวัติศาสตร์อาจจะซ้ำรอยวิกฤติธุรกิจ IT ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2538-2544

ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย นักลงทุนทั้ง VC, CVC, และกองทุนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม ไม่ได้มองหาธุรกิจที่เป็น Hypergrowth อีกต่อไป แต่ทุกสายตาจับจ้องไปที่ธุรกิจที่มี “Responsible Growth” นั่นคือ

ธุรกิจที่โฟกัสกับการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน (Profit), สร้างคุณค่าให้กับสังคม (Purpose), รับผิดชอบและให้ความสำคัญกับการพัฒนาคน (People) จากนี้ไปธุรกิจที่เน้นแต่การสร้างยอดขายหรือการขยายฐานลูกค้าแต่ไม่คำนึงถึงการสร้างคุณค่าที่แท้จริงให้กับระบบเศรษฐกิจและสังคมจะถูกเมินจากนักลงทุน 

นักวิเคราะห์ทางการเงินจาก PwC (UK) ให้ความเห็นว่า ปัจจัยหลักที่ผู้ประกอบการต้องใส่ใจเพื่อบรรลุเป้าหมายสู่การเป็นบริษัทที่เติบโตแบบ Responsible Growth เริ่มต้นตั้งแต่ การใส่ใจกับการสร้างนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนและเท่าเทียม การทำการตลาดแบบรับผิดชอบต่อสังคม การให้บริการและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า และการสร้างผลกำไรบนพื้นฐานของความรับผิดชอบและมีจริยธรรม

เมื่อความยั่งยืนคือบทพิสูจน์ความอยู่รอดของบริษัทเทคโนโลยีในยุคต่อจากนี้ การเร่งเติบโตแบบสายฟ้าแลบในอดีตก่อให้เกิดปัญหามากมายในยุคเศรษฐกิจถดถอย กับความคาดหวังที่เปลี่ยนไปของลูกค้าและนักลงทุน

นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ธุรกิจเทคโนโลยีควรถอยมาตั้งหลักเพื่อทบทวนว่า “Purpose” ที่แท้จริงของการดำรงอยู่ของธุรกิจคืออะไรและอะไรคือคุณค่าแท้จริงที่จะส่งมอบให้กับสังคม

 

คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม