ลุ้น'มิ.ย.'ชี้ชะตา'ทรูควบดีแทค' ดีลจ่อดีเลย์ กสทช.ขอฟังทุกฝ่าย

ลุ้น'มิ.ย.'ชี้ชะตา'ทรูควบดีแทค' ดีลจ่อดีเลย์ กสทช.ขอฟังทุกฝ่าย

อนุฯ กสทช.ลุยจัดโฟกัส กรุ๊ปคู่ขนานกับบอร์ดฯ หวังได้เสียงสะท้อนจากตัวจริงในอุตสาหกรรม ก่อนรวบตึงลงความเห็นชี้ขาด คาดสิ้นเดือน มิ.ย.ชัดเจน “แหล่งข่าววงการโทรคม” ดีลไม่ถึงกับ "ล่ม" แต่ต้อง "ดีเลย์" เพื่อร่างแผนธุรกิจใหม่ ตามแผนยุทธศาสตร์ที่ "ซีพี-เทเลนอร์" เคยประกาศ

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันที่ 20 พ.ค.นี้ หนึ่งใน คณะอนุกรรมการพื่อศึกษาและวิเคราะห์การรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค)

จะจัดการประชุมรับฟังในวงจำกัด (โฟกัส กรุ๊ป) เช่นเดียวกับที่บอร์ดกสทช.ได้มอบหมายให้สำนักงานกสทช.เป็นเจ้าภาพในการดำเนินการ และในวันที่ 23 พ.ค. 2565 หรือ ภายในสัปดาห์หน้า คณะอนุกรรมการฯด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมืองก็จะโฟกัส กรุ๊ปเช่นเดียว

ทั้งนี้ การดำเนินการ จะไปเป็นตามที่ประชุมได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษา และวิเคราะห์เรื่องดังกล่าวจำนวน 4 คณะ ได้แก่ คณะอนุกรรมการฯ ด้านกฎหมาย คณะอนุกรรมการฯ ด้านคุ้มครองผู้บริโภค และสิทธิพลเมือง คณะอนุกรรมการฯ ด้านเทคโนโลยี และคณะอนุกรรมการฯ ด้านเศรษฐศาสตร์

สำหรับสาเหตุที่ต้องเปิดรับฟังความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวให้ครบทุกด้าน เพราะบอร์ด กสทช.อยากรับฟังความเห็นที่มาจากทุกภาคส่วนทั้ง ธุรกิจ สังคม และประชาชนให้ทั่วถึง เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจของบอร์ดในขั้นสุดท้ายว่า จะมีมติหรือไม่มีมติในการพิจารณาดีลการควบรวมดังกล่าวหรือไม่

"โดยส่วนตัวมองว่า เรื่องทุกอย่างจะเริ่มได้เห็นความชัดเจนหรือมีสัญญาณมาจากบอร์ดกสทช.ว่าจะออกไปในทางใดในปลายเดือนมิ.ย.นี้" แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม กล่าว
 

“คณะอนุฯ ที่จะจัดโฟกัส กรุ๊ป ก็จะทำคู่ขนานกันไปกับโฟกัส กรุ๊ปที่ ดร.ศุภัช ศุภัชลาศัย กรรมการกสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุไว้วันที่โฟกัส กรุ๊ปวันแรกว่าจะต้องจัดอีก 2 ครั้งเป็นโฟกัส กรุ๊ปด้านผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์ และ ครั้งที่ 3 เป็น ผลกระทบต่อผู้บริโภค ซึ่งจะจัดขึ้นอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้าตามลำดับ”

นอกจากนี้ แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า ขณะนี้ได้กำชับให้สำนักงานกสทช. รายงานความคืบหน้าให้ที่ประชุมได้รับทราบ ตามที่ได้เห็นชอบแผนงาน (โรดแมป) กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทรูและดีแทคแล้ว โดยจะต้องรวมรายงานจากที่ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาอิสระและจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาให้พิจารณาด้วย

ดีลไม่ล่มแต่ต้องเลื่อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามไปยังแหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคม ต่างให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่า ในท้ายที่สุดแล้วการควบรวมของสองบริษัท จะสามารถเกิดขึ้นอย่างแน่นอน แต่ไม่น่าจะแล้วเสร็จตามกรอบเวลาที่เคยได้ระบุเอาไว้ เนื่องจากมีประเด็นในด้านกฎหมายที่บอร์ด กสทช.ต้องออกคำสั่งทางปกครองเพิ่มเติมเพื่อให้ทั้งสองบริษัทไปจัดทำเพิ่ม

โดยเฉพาะแผนธุรกิจใหม่ที่เมื่อรวมบริษัทกันแล้ว จะมีแนวทางการทำธุรกิจอย่างไรไม่ให้เป็นการผูกขาดตลาด หรือเข้าข่ายการเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ดังนั้น ตามที่ผู้บริหารของทรูและดีแทคเคยระบุไว้ว่าจะได้เห็นความชัดเจนของบริษัทภายหลังการควบรวมในไตรมาส 3 นี้ ก็มีความเป็นไปได้สูงที่ต้องเลื่อนออกไปก่อน

“บอร์ดชุดใหม่นี้ก็อยากทำผลงานออกมาเป็นที่ประจักษ์ โดยต้องระวังตัวอย่างมาก เพื่อไม่ให้เกิดเสียงคัดค้านจากหลายๆ กลุ่ม เพราะบอร์ดคงไม่อยากได้ชื่อเป็นคนเปิดทาง หรือเห็นชอบให้เกิดการควบรวมธุรกิจในไทย ซึ่งจะทำให้บอร์ดดูไม่เป็นคนทำหน้าที่ในฐานะเรกูเลเตอร์”

ดังนั้น หากปลายทางจะอนุญาตให้ เกิดการควบรวมได้ แต่มติหรือคำสั่งจากบอร์ดจะไม่มีคำสั่ง “เห็นชอบ”หรือ“เห็นควร”ใดๆทั้งสิ้น แต่จะมีการบัญญัติคำทางกฎหมาย เพื่อเปิดทางโดยอ้อมให้ดีลสำเร็จ แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่เข้มงวด มีมาตรการเยียวยาที่ชัดเจนทั้งระยะสั้นและยาว

ยุทธศาสตร์ต้องสอดคล้อง

แหล่งข่าว กล่าวต่อไปอีกว่า หากพิจารณาตามที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือซีพี) และกลุ่มเทเลนอร์ ประกาศการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกัน (Equal Partnership) อย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 ที่สนับสนุนให้ทรูและดีแทคควบรวมบริษัทกันและตั้งเป้าปรับโครงสร้างธุรกิจสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยี (Technology Company) ภายใต้ยุทธศาสตร์เทคโนโลยีฮับ พร้อมเสริมธุรกิจเทคโนโลยีใหม่ การสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม และกองทุนสตาร์ทอัพ เพื่อสอดรับยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 ในการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ซึ่งตรงนี้เองบอร์ดกสทช.จะสั่งกลับไปยังทั้งสองบริษัทให้รายงานแผนอย่างเป็นรูปธรรมให้มากขึ้น

สำหรับบริษัทใหม่ที่จะจัดตั้งขึ้น จะตั้งกองทุนมูลค่าประมาณ 100 – 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นมา เพื่อสนับสนุนส่งเสริมผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เน้นการสร้างผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ เพื่อประโยชน์แก่ผู้บริโภคในประเทศไทย ซึ่งทั้งเครือซีพีและ กลุ่มเทเลนอร์ ให้คำมั่นว่าการพิจารณาสร้างความร่วมมืออย่างเท่าเทียมกันในครั้งนี้จะสร้างสรรค์นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้บริโภคและประชาชนไทย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนและส่งเสริมให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคตามยุทธศาสตร์ของประเทศไทยได้สำเร็จตามเป้าหมาย

เปิดไทม์ไลน์ควบรวม

เริ่มตั้งแต่มีกระแสถึงการคววบรวมที่ออกมาโดยเทเลนอร์ กรุ๊ป และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปลายเดือนพ.ย. 2564 จากนั้นวันที่ 25 ม.ค. 2565 ทรูและดีแทคไปยื่นเอกสารถึงการควบรวมกิจการต่อสำนักงานกสทช.อย่างเป็นทางการ วันที่ 18 ก.พ.65 คณะกรรมการ(บอร์ด) ทรู และ ดีแทค อนุมัติควบรวมกิจการ และจัดประชุมผู้ถือหุ้น เพื่อพิจารณาอนุมัติควบรวมกิจการในวันที่ 4 เม.ย.ที่ผ่านมา

โดยหลังจากผู้ถือหุ้นทรูและดีแทค อนุมัติควบรวมกิจการ บริษัท ซิทริน เวนเจอร์ โฮลดิงส์ จํากัด (บริษัทร่วมทุนของสองราย) จะตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นโดยสมัครใจจากนักลงทุนที่ไม่ต้องการแลกหุ้นเป็นบริษัทใหม่ โดยรับซื้อหุ้นทรูในราคา 5.09 บาท ส่วนดีแทครับซื้อในราคา 47.76 บาท สำหรับบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการ จะมีจำนวนหุ้นทั้งหมด 34,552 ล้านหุ้น ที่ราคาพาร์ใหม่ 4 บาท หลังกระบวนการแลกหุ้นแล้วเสร็จ สัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทใหม่ ประกอบด้วย กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 28.98%, Telenor Asia Pte Ltd ถือหุ้นสัดส่วน 19.28%, China Mobile ถือหุ้นสัดส่วน 10.43%, บริษัท ไทยเทลโด โฮลดิ้งส์ จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 8.06% และ ผู้ถือหุ้นรายย่อยและอื่นๆ ถือหุ้นสัดส่วน 33.25%

ต้นเดือนก.ย .65 ทรูและดีแทคจัดประชุมผู้ถือหุ้นร่วมกัน เพื่อพิจารณาชื่อของบริษัทใหม่ ทุนของบริษัทใหม่ การจัดสรรหุ้นของบริษัทใหม่ วัตถุประสงค์ หนังสือบริคณห์สนธิ และ ข้อบังคับ กรรมการและผู้สอบบัญชีของบริษัทใหม่ เป็นต้น ต่อจากนั้นอีก 14 วัน หลังจากการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมของทรู และดีแทค นำชื่อบริษัทใหม่ จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ เมื่อการจดทะเบียนเสร็จสิ้น ทรู และ ดีแทค สิ้นสุดสภาพการเป็นนิติบุคคล ซึ่งบริษัทใหม่จะได้ไปทั้งสินทรัพย์, หนี้สิน หน้าที่และความรับผิดชอบของบริษัททั้งสองตามกฎหมาย