หัวเว่ย จัด 'รถดิจิทัล' นำร่องปลุกทักษะดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำพื้นที่ห่างไกล

หัวเว่ย จัด 'รถดิจิทัล' นำร่องปลุกทักษะดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำพื้นที่ห่างไกล

หัวเว่ย ประเทศไทย นำร่องโครงการ "รถดิจิทัลเพื่อสังคม" เร่งสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัล ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล โดยเริ่มต้นโครงการที่โรงเรียนสิงหพาหุ (ประสานมิตรอุปถัมภ์) จังหวัดสิงห์บุรีเป็นที่แรก

เอดิสัน สวี่ คณะกรรมการบริหารบริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ได้นำร่องโครงการ "รถดิจิทัลเพื่อสังคม" เร่งสร้างความเท่าเทียมด้านทักษะดิจิทัล ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล

เริ่มต้นโครงการที่โรงเรียนสิงหพาหุ (ประสานมิตรอุปถัมภ์) จังหวัดสิงห์บุรีเป็นที่แรก ซึ่งโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสถานศึกษาในประเทศไทย เพื่อมุ่งเสริมสร้างทักษะด้านดิจิทัลให้แก่เยาวชนและประชาชนในพื้นที่ห่างไกลได้อย่างเท่าเทียมและทั่วถึง

หัวเว่ย จัด \'รถดิจิทัล\' นำร่องปลุกทักษะดิจิทัล ลดเหลื่อมล้ำพื้นที่ห่างไกล

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวยังมีจุดประสงค์เพื่อตอบรับการเติบโตด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล และมุ่งพัฒนาประเทศไทยให้เป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนได้อย่างยั่งยืน 

เขากล่าวว่า หัวเว่ย ประเทศไทย เห็นถึงความพยายามของรัฐบาลไทยในการผลักดันนโยบายเพื่อพัฒนาไอซีทีและเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากนโยบายประเทศไทย 4.0 การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G IoT และคลาวด์ ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศมีสัดส่วนผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ถึง 30% ภายในปี พ.ศ. 2573

ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ต่างๆ ในไทยเพื่อติดตั้งสถานีฐาน 5G ไปแล้วกว่า 20,000 แห่ง ร่วมผลักดันให้มีจำนวนผู้ใช้งาน 5G ในประเทศถึง 4.2 ล้านคน ซึ่งมากกว่าประเทศอื่นๆ ในอาเซียนถึง 2.6 เท่า

โดยปัจจุบันประเทศไทยต้องการกำลังคนในสายงานดิจิทัลเป็นจำนวนมาก แต่คนที่มีทักษะในอุตสาหกรรมนี้ยังน้อย ทำให้เกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านทักษะดิจิทัลและการขาดแคลนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งนี้ หัวเว่ยเชื่อว่าทักษะด้านดิจิทัลจะไม่ได้เป็นเพียงแค่รากฐานสำคัญสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลแต่ยังเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันในยุคดิจิทัล โดยจะเป็นการเปิดโอกาสทางอาชีพการงานใหม่ๆ ที่ดีขึ้นให้แก่ประชาชนและเยาวชนไทยได้อีกด้วย

ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นผู้ผลักดันด้านการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลและเป็นผู้ส่งเสริมด้านคุณค่าทางสังคมมาอย่างต่อเนื่อง หัวเว่ยได้ดำเนินการฝึกอบรมเพื่อให้เยาวชนและประชาชนมีความรู้ความเข้าใจเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านโครงการต่างๆ เช่น โครงการ Huawei ASEAN Academy โครงการ ICT Academy โครงการ Seeds for Future เป็นต้น โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562 จนถึงปัจจุบัน หัวเว่ยได้มีส่วนช่วยเสริมสร้างบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไปแล้วกว่า 40,000 คน ซึ่งโครงการรถดิจิทัลนี้จะช่วยตอบโจทย์ด้านการนำองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีไอซีทีเข้าไปสู่พื้นที่ห่างไกลของประเทศ

หัวเว่ย หวังว่า โครงการนี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตด้านดิจิทัลและเปิดประตูสู่โอกาสใหม่ๆ ให้แก่ประชาชนและเยาวชนในพื้นที่ได้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านทักษะดิจิทัลให้กับประเทศไทย 

ทั้งนี้หลักสูตรการเรียนการสอนถูกออกแบบโดยผู้เชี่ยวชาญของหัวเว่ย เพื่อให้หลักสูตรฝึกอบรมสามารถเข้าถึงได้ง่ายและมีองค์ความรู้ที่นำไปใช้งานได้จริง นอกจากความรู้พื้นฐานของอุตสาหกรรมไอซีทีและหลักสูตรภาคปฏิบัติเพื่อช่วยเสริมความรู้ความเข้าใจในการใช้งานมากยิ่งขึ้นแล้ว หลักสูตรของหัวเว่ยยังได้เน้นย้ำหลักสูตรด้านภัยร้ายจากอินเทอร์เน็ต เสริมสร้างความตระหนักรู้ในการใช้งานอย่างถูกวิธี

โดยก้าวแรก หัวเว่ยวางแผนจะนำรถดิจิทัลไปฝึกอบรมทักษะด้านดิจิทัลในอีก 10 จังหวัดของไทย ซึ่งจะครอบคลุมชุมชนในพื้นที่ห่างไกลกว่า 40 แห่ง โดยเยาวชนและประชาชนในพื้นที่อีกกว่า 1,500 คน จะได้รับประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ซึ่งหัวเว่ยจะทำงานร่วมกับภาครัฐและสถานศึกษาต่างๆ ในไทยอย่างต่อเนื่อง