"ท่าเทียบเรือ" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน

"ท่าเทียบเรือ" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน

ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เดินหน้าพัฒนา "ท่าเทียบเรือ" สู่ความยั่งยืน ทุ่ม 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาท่าเทียบเรือชุด D สู่ระบบไฟฟ้า 90% พร้อมปรับท่าเทียบเรือชุด A2 A3 C1 C2 สู่ระบบไฮบริด ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 11% ภายในปี 2573

ท่าเทียบเรือ เป็นหนึ่งภาคธุรกิจที่ต้องใช้พลังงานในการขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ไฟ การยกตู้สินค้าโดยใช้ปั้นจั่น หรือกระบวนการขนยกอื่นๆ กระบวนการต่างๆ เหล่านี้ส่งผลให้เกิดการปลดปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้น เทคโนโลยี นวัตกรรม จึงจำเป็นในการนำมาใช้เพื่อลดการใช้พลังงานรูปแบบเดิมๆ สู่ พลังงานไฟฟ้า เพื่อลด ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

 

การจะดำเนินธุรกิจ ท่าเทียบเรือ ไปพร้อมๆ กับป้องกันความเสี่ยงเรื่องความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สังคม และกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ เป็นสิ่งที่จำเป็นที่ธุรกิจท่าเทียบเรือต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้การดำเนินธุรกิจมุ่งสู่ความยั่งยืน อย่างเช่น บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย (HPT) มีเป้าหมายลดการใช้พลังงานดีเซลต่อ TEU ลง 1% ต่อปีจนถึงปี 2566 และบรรลุภารกิจลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลง 11% ภายในปี 2573 ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมาลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ 2.88%

 

ปัจจุบัน เปิดให้บริการในท่าเทียบเรือ A2 A3 C1 C2 D1 ใช้งบประมาณ 580 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 2 หมื่นล้านบาท พัฒนาท่าเทียบเรือชุด D ณ แอ่งจอดเรือที่ 2 (Basin 2) ความยาวหน้าท่าถึง 1,700 เมตร รองรับตู้สินค้าผ่านท่าได้มากถึง 3.5 ล้าน TEU เพื่อเป้าหมายสู่การเป็นท่าเรือสีเขียวและความยั่งยืน โดยใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยาง ควบคุมจากระยะไกลขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อัตราเฉลี่ยการประหยัดพลังงานไฟฟ้าที่ 75% ของการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งหมด

 

\"ท่าเทียบเรือ\" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน

ใช้ระบบไฟฟ้า90%ลดก๊าซเรือนกระจก

 

“อาณัติ มัชฌิมา” ประธานบริหารงานทั่วไป บริษัท ฮัทชิสัน พอร์ท ประเทศไทย เปิดเผยว่า HPT ให้ความสำคัญกับเรื่องการลดการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก และการลดปริมาณขยะ ท่าเทียบเรือชุด D ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ถือว่าเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าได้กว่า 90% ที่ผ่านมา HPT บริหารจัดการให้เรือสินค้าแต่ละลำจอดที่ท่าเทียบเรือไม่นานเพื่อประหยัดพลังงาน

 

รวมถึง “ปกป้องดูแลสิ่งแวดล้อม” ลดมลภาวะทางอากาศ โดยร่วมมือกับองค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization: IMO) และการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือทุกลำที่จุดจอดจะต้องดับเครื่อง และใช้เพียงเครื่องยนต์เล็กในการจ่ายไฟ

 

ใช้เชื้อเพลิงซัลเฟอร์ต่ำกับเครื่องมือยกขนและยานพาหนะต่างๆ ไม่รับบริการเรือสินค้าเทกองที่ท่าเทียบเรือ ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป การจัดซื้อรถบรรทุกสำหรับท่าเทียบเรือจะต้องเป็นรถบรรทุกระบบไฟฟ้าเท่านั้น 

 

“การควบคุมเสียง” ใช้ปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางระบบไฮบริด เสียงรบกวนน้อยกว่าระบบเครื่องยนต์ดีเซล , ปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่าควบคุมจากระยะไกล และปั้นจั่นยกตู้สินค้าในลานแบบล้อยางควบคุมจากระยะไกลไม่มีเสียงดังหรือแรงสั่นสะเทือนรบกวน รถบรรทุกระบบไฟฟ้าและอัตโนมัติที่ใช้ ณ ท่าเทียบเรือชุด D มีการเดินเครื่องที่เงียบมาก

 

\"ท่าเทียบเรือ\" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน

สำหรับ “การจัดการขยะ” อาณัติ เล่าว่า HPT ไม่อนุญาตให้เรือสินค้าใดๆ ที่จุดจอดเรือปล่อยทิ้งสิ่งปฏิกูล สี หรือผลิตภัณฑ์ซักล้าง โรงบำบัดน้ำเสียจะจัดการน้ำเสียทั้งหมดเพื่อลดปริมาณน้ำเสีย ขยะทั้งหมดจะถูกคัดแยกด้วยหลักการ 3R คือ ลดปริมาณ นำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิล (Reduce, Reuse และ Recycle) มีการวัดความเข้มของแสงสว่าง ทุกอาคารในพื้นที่ของบริษัท การตรวจสอบคุณภาพน้ำและน้ำดื่ม และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการปฏิบัติงาน โดยมีเป้าหมายคาร์บอนไดออกไซด์ไม่เกิน 11.86 กิโลกรัม /TEU

 

“การบริหารจัดการเพื่อธุรกิจสีเขียว” ปรับปรุงคุณภาพสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง พัฒนาระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Management System: EMS) เพื่อนำการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมเข้าไว้กับการดำเนินธุรกิจประจำวัน และ ในปี 2563 ที่ผ่านมา ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 (2015) ระบบบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

 

แผนพัฒนาผลิตพลังงานไฮโดรเจน

 

ขณะเดียวกัน เปลี่ยนใช้หลอด LED ในเครื่องมือยกขนและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ท่าเทียบเรือเดิมชุด A2, A3, และ C1 C2 ที่เปิดดำเนินการในปี 2545, 2549 และ 2550 ตามลำดับ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายต่อปีได้ถึง 226,000 เหรียญสหรัฐ หรือ 65%  รวมทั้งภายในลานวางตู้สินค้า ช่วยประหยัดไฟถึง 70%

 

“การใช้ระบบไฮบริด” (Retrofit Hybrid System) กับปั้นจั่นยกตู้สินค้าภายในลานแบบล้อยาง ช่วยประหยัดการสิ้นเปลืองพลังงานเชื้อเพลิงได้มากกว่า 50% และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมลภาวะทางเสียง และในอนาคตจะมีการพัฒนาระบบผลิตพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ด้วย

 

ปัจจุบันระบบท่าเทียบเรือของ HPT เหลือเพียงรถหัวลากที่เป็นน้ำมัน และเครื่องมือบางส่วนที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ คาดว่าน่าจะเหลือราว 25% รวมถึงการนำแพลตฟอร์มดิจิทัล (Landside digital Platform) มาใช้งาน ช่วยลดการใช้กระดาษ ประหยัดค่าใช้จ่าย 

 

\"ท่าเทียบเรือ\" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน

 

ปลูกจิตสำนึกเยาวชนรักษ์สิ่งแวดล้อม 

 

ในปี 2565 HPT ได้จัดทำแคมเปญหลัก 2 โครงการ ได้แก่ โครงการ “Go Green” เป็นการส่งเสริมแนวความคิดเกี่ยวกับ “จากขยะสู่ทรัพยากร” โดยบริษัทได้มีการรวบรวมขยะสะอาดจากท่าเทียบเรือและพื้นที่ใกล้เคียงมาเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลและบริจาคให้กับประชาชนในชุมชน 

 

สำหรับ โครงการ “Dock School” เป็นการสนับสนุนให้โรงเรียนริเริ่มจัดกิจกรรม “โรงเรียนสีเขียว” (Green Dock School) ของตนเอง ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมให้กับนักเรียนและพัฒนาศักยภาพในด้านสิ่งแวดล้อม โดย HPT จัดโครงการ Dock School เป็นประจำทุกปี และในปลายปี 2565 นี้ บริษัทมีแผนจัดกิจกรรม Green Dock School ด้วยการปลูกต้นไม้และจัดกิจกรรมรีไซเคิล สิ่งนี้ถือเป็นการให้ความรู้และช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ในระยะยาว

 

อีกทั้งยัง ร่วมกับคณะพาณิชยนาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา ในโครงการ Go Green และ Green Education ด้วยการปลูกต้นไม้และคืนชีวิตให้กับขยะเหลือใช้หรือการรีไซเคิลอีกด้วย

 

“ความยั่งยืน คือ เรื่องของความต่อเนื่อง ยกตัวอย่างเวลาปลูกต้นไม้ ไม่ใช่แค่ปลูกแล้วจบ แต่ยังต้องปลูกจิตสำนึก รวมถึงมองหานวัตกรรมใหม่ๆ มาตอบโจทย์” อาณัติ กล่าวทิ้งท้าย

 

\"ท่าเทียบเรือ\" อัจฉริยะ ลดพลังงาน ลดปล่อยคาร์บอน