Equator Principles ยกระดับสินเชื่อโครงการอย่างยั่งยืน

สวัสดีครับ เหตุการณ์สำคัญรอบโลกในระยะที่ผ่านมา มักเกี่ยวเนื่องกับสงครามที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่บ้านเมืองและประชาชน หรือปัญหาทางเศรษฐกิจและการค้าที่นำไปสู่วิกฤตที่หลากหลาย  อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่เกิดจากมนุษย์กระทำต่อกันเองเช่นนี้ส่งผลกระทบในขอบเขตจำกัด และยังพอมีช่องทางให้เจรจาหาทางออกได้

แต่สิ่งที่เป็นภัยคุกคามความมั่นคงของมนุษย์ทั้งโลกอย่างแท้จริงโดยที่เราไม่สามารถต่อรองใดๆ ได้เลย คือความแปรปรวนของธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงยิ่งขึ้น

ในบรรดาเรื่องต่างๆ ที่หารือกันในการประชุมด้านความมั่นคงเอเชีย (19th Shangri-La Dialogue) ที่สิงคโปร์ในเดือนมิถุนายนที่ผ่านมานั้น หนึ่งในประเด็นที่น่าวิตกกังวลไม่แพ้ความขัดแย้งทางการเมืองหรือเศรษฐกิจ คือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศจากภาวะโลกร้อน 

โดยผู้แทนของฟิจิได้กล่าวว่าหมู่เกาะของเขากำลังเผชิญพายุไซโคลนที่พัดถล่มหนักหน่วงขึ้นทุกปี บ้านและพื้นที่เพาะปลูกจมน้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่า และระดับน้ำทะเลสูงท่วมชายฝั่งเข้ามาเรื่อยๆ จนชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่อาศัยลึกเข้าไปในเกาะ  ผู้แทนของฟิจิจึงได้เรียกร้องให้เหล่าประเทศอุตสาหกรรมคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้นด้วยการควบคุมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้เข้มงวดกว่าเดิม เพื่อไม่ให้ฟิจิหรือประเทศอื่นๆ ต้องประสบภัยพิบัติจากปรากฎการณ์โลกร้อนที่สาหัสไปกว่านี้

เมื่อกล่าวถึงการควบคุมกิจกรรมธุรกิจต่างๆ ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น หลายคนจะนึกถึงการกำกับดูแลตั้งแต่ต้นน้ำอย่างสถาบันการเงินอันเป็นแหล่งเงินขนาดใหญ่ที่สนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งหลาย  

ปัจจุบัน ธุรกิจการเงินได้ปรับใช้กรอบดำเนินการเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงสังคมและธรรมาภิบาล (ESG) ที่หลากหลายซึ่งเป็นมาตรฐานการควบคุมตั้งแต่ต้นน้ำดังกล่าวนั่นเอง  ทั้งนี้จะกล่าวถึงหลักการที่สถาบันการเงินในประเทศไทยเริ่มให้ความสนใจกันมากขึ้นคือ Equator Principles (EP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับธุรกิจการเงินในการกำหนด ประเมิน และบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมโดยสมัครใจ และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) และความตกลงปารีส  สถาบันการเงินสามารถใช้ EP เป็นกรอบบริหารจัดการความเสี่ยงในการให้สินเชื่อแก่โครงการขนาดใหญ่ซึ่งมีลักษณะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้

อาทิ โครงการก่อสร้างหรือพัฒนาโรงไฟฟ้า เหมือง ระบบสาธารณูปโภค อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เพื่อให้มั่นใจว่าโครงการดำเนินไปอย่างรับผิดชอบต่อสังคมและไม่มีผลลบต่อสิ่งแวดล้อม ชุมชน และสภาพภูมิอากาศ  หรือหากโครงการส่งผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จำต้องมีมาตรการชัดเจนในการบรรเทาหรือชดเชยสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเหมาะสม 

โดย EP ประกอบไปด้วย 10 ข้อดังนี้

1.Review & Categorisation: จัดกลุ่มโครงการของลูกค้าที่มาขอสินเชื่อตามระดับของผลกระทบด้าน ESG รวมถึงผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความหลากหลายทางชีวภาพ 

โดยแบ่งเป็น Category A ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญหรือกลับคืนสู่สภาพเดิมไม่ได้  Category B ส่งผลกระทบในขอบเขตจำกัดหรือบริหารจัดการได้ และ Category C ส่งผลกระทบน้อยหรือไม่มีเลย

2.E&S Assessment: ให้ลูกค้าประเมินมาตรการในการลดหรือเยียวยาแก้ไขความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมของโครงการที่เสนอ  โดยเพิ่มการประเมินผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศสำหรับทุกโครงการที่เป็น Category A รวมถึงโครงการใน Category B ที่มีความเสี่ยงเชิงกายภาพ

3.Applicable E&S Standards: ประเมินความสอดคล้องของโครงการต่อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมและประเด็นทางสังคมที่เกี่ยวข้อง   

4.E&S Management System & EP Action Plan: จัดทำระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมสำหรับโครงการใน Category A และ B

5.Stakeholder Engagement: มีกระบวนการปรึกษาหารือกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสำหรับโครงการที่ส่งผลให้ผู้คนต้องย้ายถิ่นฐานไปจากบริเวณโครงการหรือกระทบมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของกลุ่มคนในพื้นที่  

6.Grievance Mechanism: มีช่องทางให้ชุมชนที่ได้รับผลกระทบสามารถแจ้งเรื่องร้องเรียนอย่างสะดวกและไม่เสียค่าใช้จ่าย

7.Independent Review: บางโครงการที่เข้าข่าย ต้องได้รับการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบโดยที่ปรึกษาอิสระผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม

8.Covenants: กำหนดเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่ลูกค้าต้องปฏิบัติตาม

9.Independent Monitoring & Reporting: ติดตามและรายงานโครงการใน Category A ตลอดระยะเวลาการให้สินเชื่อไปจนหลังโครงการเสร็จสิ้นโดยที่ปรึกษาอิสระ

10.Reporting & Transparency: รายงานต่อสาธารณะตามรอบปี อาทิ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยโดยโครงการ

จากหลักการข้างต้น จะเห็นได้ว่า EP เป็นหนึ่งในกรอบปฏิบัติด้าน ESG ที่ค่อนข้างเข้มงวดและครอบคลุมมากทีเดียว สถาบันการเงินที่ได้ลงนามประกาศเจตนารมณ์สนับสนุน EP ยังมีหน้าที่ต้องรายงานกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ EP ในหน้าเว็บของ Equator Principles Association 

ทั้งนี้ ณ เดือน สิงหาคม 2565 สมาคม Equator Principles Association ประกอบไปด้วยสถาบันการเงิน 134 แห่งจาก 38 ประเทศ ซึ่งรวมประเทศไทยด้วย

อย่างไรก็ตาม ประโยชน์ของการเป็นสมาชิก Equator Principles Association นั้นไม่เพียงช่วยสร้างการยอมรับในตลาดโลก แต่ยังยกระดับมาตรฐานของผู้ให้บริการสินเชื่อที่คำนึงถึงผลลัพธ์ทั้งในมิติสิ่งแวดล้อมและมิติสังคมสู่ระดับสากล และที่สำคัญยังเป็นโอกาสให้เครือข่ายสมาชิกทั่วโลกสามารถแบ่งปันองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี เพื่อร่วมก้าวพัฒนาไปสู่เป้าหมายการส่งเสริมให้ธุรกิจต่างๆ ดำเนินอย่างยั่งยืนรอบด้านกันครับ