อ่านเหนือกว่า "ดูจอ" | วรากรณ์ สามโกเศศ

อ่านเหนือกว่า "ดูจอ" | วรากรณ์ สามโกเศศ

การต้องอยู่บ้านมากกว่าปกติเพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของคนจำนวนมากเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการใช้เวลา

การใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการเพลิดเพลิน “ดูจอ” ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ ไอแพด โทรศัพท์มือถือ และโทรทัศน์ ดูจะเป็นเรื่องปกติโดยทิ้งการอ่านไปเกือบทั้งหมดเพราะไม่มีอารมณ์จะอ่าน ไม่มีสมาธิเพียงพอในการอ่าน และนิสัยละทิ้งการอ่านไปมากนี้ก็ติดตัวมาจนถึงช่วงเวลาใกล้ปิดฉากของโควิด

ถึงเวลาหรือยังที่เราควรกลับไปอ่านหนังสือกันเป็นปกติเพราะมีประโยชน์มหาศาลกว่า

มนุษย์มีหน้าตารูปร่างเหมือนปัจจุบันเมื่อประมาณ 150,000-200,000 ปีก่อน ตลอดเวลานี้เราสื่อสารกันผ่านการออกเสียงมาโดยตลอด และพัฒนาจนมีลักษณะคล้ายภาษาพูดของเราเมื่อประมาณ 50,000 ปีก่อน แต่เพิ่งมีการเขียนเป็นอักษรและอ่านเมื่อ 5,500 ปีก่อน

จึงเรียกได้ว่า การอ่านเป็นเรื่องใหม่สำหรับมนุษย์พอควร และถึงแม้จะเป็นเรื่องใหม่แต่ก็มีส่วนอย่างสำคัญยิ่งในการพัฒนาเผ่าพันธุ์ของเราและทำให้คุณภาพชีวิตสูงขึ้นเป็นลำดับ

มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงมีความสนใจอย่างยิ่งในเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตคนอื่น ข่าวคราวทะเลาะเบาะแว้ง ตีฟันฆ่ากันที่มีเรื่องของความรักความหึงหวงและเรื่องเพศแฝงอยู่ขายได้เสมอ ความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ไม่มีที่สิ้นสุด โซเชียลมีเดียผ่านจอต่างๆ และหนังสือ จึงเป็นสื่อชดเชยความต้องการทางจิตวิทยาของมนุษย์ โดยบรรจุเรื่องราวต่างๆ เหล่านี้ไว้เป็นสิ่งบันเทิง

เรื่องราวผ่านจอด้วยอุปกรณ์ต่างๆ มีอำนาจสูงอย่างมาก เพราะให้ทั้งสารสนเทศและสิ่งบันเทิงโดยให้ความเพลิดเพลินและความอุ่นใจในช่วงโควิดที่มนุษย์ต้องการความมั่นใจ จอเหล่านี้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพยิ่ง

แต่การนั่งดูจอเหล่านี้มีลักษณะของการนั่งดูเฉยๆ อย่างไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบ (passive) ผู้ดูบริโภคความบันเทิงอย่างไม่มีเวลาให้คิดตริตรองมากนัก เพราะต้องติดตามด้วยความเร็วที่เขากำหนด และคิดตามการนำเสนอที่กะทัดรัดและรวดเร็ว

อ่านเหนือกว่า "ดูจอ" | วรากรณ์ สามโกเศศ

เนื้อหาผ่านจอสร้างความรื่นรมย์และความสุขโดยผู้ดูไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก ความตื้นเขินของเรื่องที่นำเสนอเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะต้องทำให้ทุกคนที่ดู ซึ่งมีความหลากหลายด้วยพื้นฐานที่แตกต่างกันเข้าใจและพอใจ อีกทั้งเวลาของการนำเสนอก็มีความจำกัดอยู่เสมอด้วย

การบริโภคเนื้อหาผ่านจอต่างจากการอ่านหนังสือโดยสิ้นเชิง หนังสือมีลักษณะของการเคลื่อนไหวอย่างมีพลัง (active) โดยให้สองสิ่งคือ “ประตู” กับ “กระจก”

กล่าวคือการอ่านทำให้ผู้อ่าน “หลุดหนี” ออกไปจากโลกจริงไปอยู่ในโลกจินตนาการอย่างสนุกสนานและเพลิดเพลิน โดยบริโภคตามอัตราความเร็วที่ตนเองเป็นผู้กำหนด จะหยุดคิดกี่ครั้งนานเพียงใดก็ได้ สามารถคิดไตร่ตรองโดยไม่ถูกเร่งรัดและไม่มีลักษณะของการถูก “ยัดเยียด” ด้วยเวลา

สำหรับ “กระจก” นั้น หากผู้อ่าน “อิน” กับเรื่องที่อ่านโดยเฉพาะนวนิยาย ก็จะมองเห็นภาพตัวเองอยู่ในบุคลิกและการกระทำของตัวละครจนอาจเกิดการฉุกคิดและพิจารณาปรับตนเองได้

การเป็น “กระจก” ของหนังสือที่ดีช่วยทำให้ผู้คนมองเห็นภาพตนเองแตกต่างออกไปในแต่ละครั้งที่อ่านและในแต่ละช่วงอายุ นอกจากนี้การอ่านเป็นกิจกรรมส่วนตัวโดยเป็นช่วงเวลาของการหาความเพลิดเพลินที่ไม่มีสิ่งใดเสมอเหมือน

กล่าวอย่างย่อ การอ่านก่อให้เกิดประโยชน์ดังต่อไปนี้ 

(1) ลดความเครียดและช่วยให้ผ่อนคลาย การ “หลุดหนี” ออกจากโลกจริงด้วย เรื่องราวที่สนุกช่วยลดความเครียดที่ประสบและช่วยผ่อนคลายจิตใจเป็นอย่างมาก

(2) ช่วยให้สมาธิและความจำดีขึ้น การอ่านเป็นการฝึกฝนจิตใจให้เข้มแข็งได้เหมือนการออกกำลังกายที่ทำให้ร่างกายแข็งแรง การอ่านหนังสือที่เหมาะสมและมีประโยชน์เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับเยาวชนที่กำลังเติบโต

หนังสือทำให้เกิดการฝึกคิดโดยเปรียบเสมือนมีบทฝึกหัดที่เกิดขึ้นตลอดการอ่าน และการต้องจำชื่อเหตุการณ์และบุคลิกของตัวละครก่อนที่จะอ่านต่อฝึกฝนความจำได้เป็นอย่างดี

(3) การอ่านขยายคำศัพท์และช่วยการเขียน การรู้คำศัพท์มากช่วยทำให้สามารถบรรยายความรู้สึกและช่วยให้การแสดงออกทางอารมณ์ดีขึ้น การอ่านมากช่วยพัฒนาการเขียนและการพูดอย่างไม่รู้ตัว เพราะภาษาเป็นสิ่งที่ซึมซับเข้ามาในจิตใจโดยอัตโนมัติ 

 (4) การอ่านเพิ่มพูนความรู้ การอ่านทำให้มีองค์ความรู้เพิ่มขึ้นโดยเป็นฐานไปสู่การสะสมความรู้มากขึ้นในชีวิตจนสามารถเอาไปประยุกต์ในการดำรงชีวิตได้เป็นอย่างดี 

(5) การอ่านขยายจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ จำตอนที่ท่านเริ่มอ่านหนังสือแตกใหม่ๆ ไหมว่ารู้สึกสนุกตื่นเต้นเพียงใดเมื่อได้อ่านหนังสือที่ถูกใจ เรื่องราวมันปลุกเร้าจินตนาการให้ฟุ้งกระจาย และสิ่งที่เกิดตามมาในสัญชาตญาณก็คือความคิดสร้างสรรค์

เด็กที่เติบโตขึ้นมาอย่างปราศจากนิทาน มักเป็นคนที่ขาดจินตนาการและความคิดริ่เริ่มเนื่องจากไม่เคยอยู่ในโลกของจินตนาการที่แตกต่างจากโลกจริง สมองไม่เคยถูกฟูมฟักให้มีไอเดียใหม่ๆ มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ และเปิดกว้างต่อการรับความคิดเห็นที่แตกต่างออกไป

การ “ดูจอ” ไม่ใช่อาชญากรรม แต่การติดจอเสมือนเป็นยาเสพติดจนละทิ้งการอ่านหนังสือไปอย่างมากนั้นเป็นพฤติกรรมที่น่ากังวล โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่จิตใจกำลังเติบโตพร้อมกับร่างกาย จะน่าเสียดายมากหากคุณพ่อคุณแม่และผู้ปกครองติดยาเสพติดชนิดนี้ให้ดูเป็นตัวอย่าง จะสนับสนุนให้ลูกออกกำลังแต่ทางกายโดยไม่ให้ออกกำลังทางจิตด้วยการอ่านบ้างหรือครับ