ป่วยโควิด-19 ยังรักษาฟรีหรือไม่ "เข้าระบบรักษาที่บ้าน" ทำอย่างไร

ป่วยโควิด-19 ยังรักษาฟรีหรือไม่ "เข้าระบบรักษาที่บ้าน" ทำอย่างไร

ที่ประชุม ครม. เห็นชอบให้ประชาชนยังได้สิทธิรักษาอาการป่วยโควิด-19 ได้ฟรี ทุกสถานพยาบาล ตามหลัก “ยูเซ็ป” เดิม ย้ำ ติดโควิด-19 ไม่มีอาการรุนแรง เข้าระบบรักษาที่บ้าน หรือ "Home isolation"

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (22 ก.พ.) เห็นชอบให้ กระทรวงสาธารณสุข เลื่อนการบังคับใช้ UCEP โควิด19 พลัส ซึ่ง จะนำมาใช้ในวันที่ 1 มี.ค.ออกไปก่อน โดยให้ประชาชนยังได้สิทธิรักษาอาการป่วยโควิด-19 ได้ฟรีได้ทุกสถานพยาบาล ตามหลักเจ็บป่วยวิกฤตฉุกเฉินรักษาฟรีทุกที่ หรือ “ยูเซ็ป” เช่นเดิม

 

สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการรุนแรง ประชาชนที่ตรวจ ATK แล้วขึ้น 2 ขีดหรือผลเป็นบวกว่าติดเชื้อโควิด-19 นั้น จะ “เข้าระบบรักษาที่บ้าน” (Home Isolation)ทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปตรวจ RT-PCR ซ้ำอีก ด้วยการติดต่อผ่าน 1330 หรือผ่านไลน์หรือสแกน QR code  สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดระบบเพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มมากขึ้น

 

ผศ.ภญ.ยุพดี  ศิริสินสุข รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า หากผู้ป่วยที่รับการดูแลในระบบ Home Isolation รู้สึกว่าอาการรุนแรงมากขึ้น ก็สามารถโทรประสานหน่วยบริการที่ให้การดูแลเพื่อประสานส่งตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือโทรเข้ามาที่ 1330 ก็ได้

 

“Home Isolation คือ การดูแลที่บ้าน จะมีหน่วยบริการคอยติดตามอาการและจัดส่งยาหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นให้ ดังนั้น ถ้าอยู่บ้านได้ก็อยากแนะนำให้รักษาตัวที่บ้านก่อนเพราะมีความสะดวกและสบายใจสำหรับตัวผู้ป่วย ซึ่งผู้ที่เหมาะกับการดูแลแบบ Home Isolation คือคนไข้ที่ยังไม่มีอาการรุนแรง เช่น คนหนุ่มสาว ผู้ที่มีแค่อาการไข้ แต่ถ้าเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้สูงอายุ คนอ้วน มีโรคประจำตัว กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและควรเข้ารับการดูแลในส่วนที่เหนือกว่า Home Isolation การรักษาโรคโควิด-19 นี้ ประชาชนทุกสิทธิจะยังได้รับการรักษาฟรี ผู้ที่เข้าระบบ Home Isolation สขอใบรับรองแพทย์ได้ตามปกติ”ผศ.ภญ.ยุพดี กล่าว

3 ช่องทาง Home Isolation

 

ผู้ที่ต้องการเข้ารับการรักษาตัวในระบบ Home Isolation จะมี 3 ช่องทางหลักๆ ในส่วนของการโทรเข้าสายด่วน 1330 กด 14 นั้น สามารถโทรเข้ามาขอรับการประสานงานเพื่อจัดหาหน่วยบริการมาดูแลแบบ Home Isolation ได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

ช่องทางที่ 2 ไลน์ออฟฟิเชียล @nhso ในกรณีที่โทร 1330 ไม่ติด สามารถ Add friend หรือพิมพ์เพิ่มเพื่อน @nhso ซึ่งในนั้นจะมีเมนูเกี่ยวกับโควิด-19ให้เข้าไปกรอกข้อมูลเพื่อรับการดูแลแบบ Home Isolation ได้เช่นกัน หรือหากทำไม่เป็นก็สามารถพิมพ์สอบถามแอดมินได้ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น. หรือการส่งข้อความ inbox เข้ามาที่เฟสบุ๊กสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็ได้

 

ช่องทางที่ 3. ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code ที่อยู่บนเว็บไซต์ สปสช. เมื่อสแกนแล้วจะมีแบบฟอร์มให้กรอกชื่อ เบอร์โทร ที่อยู่ปัจจุบัน โรคประจำตัว น้ำหนัก ส่วนสูง เมื่อบันทึกข้อมูลแล้ว 15-20 นาที ก็สามารถตรวจสอบได้เลยว่าจะมีหน่วยบริการไหนมารับดูแลทำ Home Isolation ให้ จากนั้นสแกนอีกครั้งเพื่อยืนยันตัวตนและรอการติดต่อจากหน่วยบริการเพื่อรับยา อุปกรณ์ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด อาหาร และการดูแลจากแพทย์ผ่านระบบ tele health ต่อไป

 

“อยากแนะนำให้ลงทะเบียนด้วยตัวเองด้วยการสแกน QR code หรือลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ตามลิงค์ที่ระบข้างต้นก่อน หรือหากหา QR code ไม่เจอ ก็เข้าไป @nhso เพื่อกรอกข้อมูล ถ้าทำไม่เป็นพิมพ์ถามแอดมินในไลน์ก็ได้ เพราะจะได้ไม่ต้องเจอปัญหาโทรไม่ติด และช่องทางที่ 3 คือโทรสายด่วน 1330 กด 14และนอกจาก 3 ช่องทางนี้แล้ว ประชาชนยังสามารถโทรติดต่อไปที่หน่วยบริการประจำตัวของตัวเองได้โดยตรง เพราะเมื่อ สปสช.ได้รับแจ้งจากผู้ติดเชื้อ ก็จะส่งข้อมูลให้หน่วยบริการเหล่านี้เข้ามาดูแลเรื่องการทำ Home Isolation ให้อยู่แล้ว”รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

 

ป่วยโควิด-19 ยังรักษาฟรีหรือไม่ \"เข้าระบบรักษาที่บ้าน\" ทำอย่างไร

Chatbot คัดกรองวิกฤต เร่งด่วน

 

นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุข พัฒนาฟังก์ชันบน “หมอพร้อม Chatbot” ให้ผู้ติดเชื้อโควิด 19 ประเมินตนเองในการคัดกรองภาวะวิกฤต และคัดกรองความเร่งด่วนในการเข้ารับการรักษา เพื่อรับคำแนะนำการดูแลเบื้องต้น เช่น ควรดูแลที่บ้าน หรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล มีความแม่นยำร้อยละ 85 พร้อมใช้งานแล้ววันนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่

 

1.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองภาวะวิกฤต

2.การประเมินตนเองเพื่อคัดกรองความเร่งด่วน

 

ทั้งนี้ เมื่อผู้ติดเชื้อทำแบบประเมินความเสี่ยง บน “หมอพร้อม Chatbot” ระบบจะวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพพื้นฐานของผู้ติดเชื้อ อาการและความพร้อมในการรักษาตัวที่บ้าน ซึ่งอ้างอิงจากผลการศึกษาทางวิชาการของกรมการแพทย์

 

โดยสามารถประเมินให้ตนเองหรือบุคคลในครอบครัวที่ติดเชื้อได้ โดยเครื่องมือการประเมินมีค่าความแม่นยำร้อยละ 85 การประเมินความเสี่ยงบนหมอพร้อม Chatbot สามารถใช้งานได้แล้ววันนี้ ทั้ง LINE Official Account , แอปพลิเคชัน และช่องทางแชทบน Facebook Page ของหมอพร้อม 

 

ทั้งนี้ ระบบจะถามคำถามเพื่อประเมินและคัดกรองภาวะวิกฤต ได้แก่ 1.มีปัญหาการหายใจ เช่น หายใจไม่ทัน หายใจเหนื่อยจนซี่โครงบาน หายใจเร็วกว่า 20 ครั้งต่อนาที หายใจมีเสียงดัง 2.อาการซึมลง ไม่รู้สึกตัว 3.อาการตัวซีด เย็น และ 4.อาการเหงื่อท่วมตัว หากมีอาการจะแนะนำว่าเป็นผู้ป่วยฉุกเฉินให้ติดต่อ 1669 เพื่อเรียกรถพยาบาลหรือเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล จากนั้นระบบจะนำคำตอบทั้งหมดมาประเมินและให้คำแนะนำเบื้องต้น เช่น หากแนะนำการดูแลที่บ้าน จะระบุช่องทางติดต่อ 1330 รวมถึงให้คู่มือแนวทางการกักตัวที่บ้าน เป็นต้น

 

สายด่วน 1330 ช่วยรักษาที่บ้าน

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 21 ก.พ. มีคนโทรเข้า  1330 สูงสุด 49,005 สาย ทำให้เกิดปัญหาโทรติดแล้วไม่มีเจ้าหน้าที่รับสายหรือ Abandon Call เพื่อให้การดูแลผู้ติดเชื้อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ให้ทุกคนได้รับการดูแลโดยไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง สปสช.จึงขอเชิญชวนหน่วยงานต่างๆที่มีบริการ Call Center เข้ามาสนับสนุนการดำเนินงานของ 1330 ในการรับสายจากประชาชนและประสานเข้าสู่ระบบการดูแลแบบ Home Isolation อีกทางหนึ่ง

 

รวมถึงรับสมัครจิตอาสาช่วยตอบคำถามผ่านไลน์ สปสช. โดย สปสช.จะทำการอบรมเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานและจิตอาสาที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการทำงาน เพื่อให้ทราบถึงแนวปฏิบัติและช่องทางการส่งต่อข้อมูลและการประสานหน่วยบริการต่างๆ