กรอบเบื้องต้น แนวทางรักษา “ฝีดาษวานร” ป่วยสงสัยรับไว้ในรพ.ทุกราย

กรอบเบื้องต้น แนวทางรักษา “ฝีดาษวานร” ป่วยสงสัยรับไว้ในรพ.ทุกราย

“ฝีดาษวานร”ไม่ใช่โรคใหม่ของโลก  แต่นับเป็น “โรคใหม่”ของประเทศไทย เพราะไม่เคยมีรายงานพบมาก่อน จนยืนยันผู้ป่วยรายแรกเมื่อ 21 ก.ค.2565 จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องจัดทำแนวทางรักษาให้ชัดเจน กรอบเบื้องต้น“ผู้เข้าข่ายสงสัยต้องรับเข้าไว้ในรพ.ทุกราย” แม้โรคไม่รุนแรง

เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2565 กรมการแพทย์จัดเสวนาแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในโรงพยาบาล กรณีโรคฝีดาษวานร  นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  กล่าวว่า  องค์การอนามัยโลก(WHO) จัดให้โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยมี 3 ข้อพิจารณา คือ 1.เป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น 2.เป็นความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เนื่องจากการแพร่กระจายของโรคระหว่างประเทศ และ3.ต้องใช้ความร่วมมือประสานกันระหว่างประเทศในการควบคุมโรค อย่างไรก็ตาม ในการประชุมของคณะกรรมการวิชาการของWHO ไม่ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประกาศ แต่มีข้อโตแย้งกัน ซึ่งผอ.WHOจึงใช้ดุลยพินิจบอกว่าควรจะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉิน

        “การประกาศภาวะฉุกเฉินของฝีดาษวานร แม้จะสถานะเดียวกันกับโควิด 19 แต่ความรุนแรงของตัวโรคไม่เท่ากัน  โดยทั่วไปฝีดาษวานร ความรุนแรงไม่ค่อยรุนแรง และมักจะหายเอง เพราะฉะนั้นในด้านความรุนแรง แตกต่างจากโควิด 19 แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศในการควบคุมโรค WHOจึงประกาศภาวะฉุกเฉิน ทั้งนี้ จากผู้ป่วยในอเมริกาและยุโรป ในการระบาดรอบนี้ ยังไม่มีผู้เสียชีวิต  หากไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว อาจจะไม่มีอะไรมาก”นพ.สมศักดิ์กล่าว   

      นพ.สมศักดิ์  กล่าวด้วยว่า  สำหรับแนวทางการวินิจฉัย ดูแลรักษาและป้องกันมีการวางกรอบไว้เบื้องต้น หลักการเดียวกับกรณีมีโรคติดต่อที่ไม่รู้จักที่มาใหม่ เมื่อมีผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยเข้ามารับบริการที่รพ. แม้โรคนี้ไม่ได้แนะนำว่าต้องรับเข้าไว้รักษาในรพ.ทุกราย  แบบเดียวกันทั่วโลกทั้งอเมริกาและยุโรป
     แต่ในส่วนของประเทศไทย ระยะแรกเบื้องต้นอาจจะแนะนำให้รับไว้ในรพ.ทุกรายก่อนจนกว่าจะทราบผลยืนยันจากห้องแล็ป  เพื่อให้การสอบสวนโรคชัดเจนขึ้น ป้องกันการแพร่กระจายเชื้อโรค เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการหลบหนีเหมือนกรณีชายไนจีเรีย อีกทั้ง โรคนี้จัดเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวัง  ไม่ใช่โรคติดต่ออันตราย จึงไม่สามารถไปใช้อำนาจของกฎหมายอื่นในการควบคุมตัวไม่ได้

          แนวทางการดูแลรักษาโรคฝีดาษวานร พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเลิศ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กล่าวว่า ในวันที่ 26 ก.ค.2565 กรมการแพทย์ เตรียมหารือกับ รพ. คลินิกผิวหนัง เพื่อประชุมแนวทางการรักษาพยาบาลโรคฝีดาษวานร เนื่องจากโรคนี้ถือว่าเป็นโรคใหม่สำหรับประเทศไทย แต่เป็นโรคเดิมประจำถิ่นในแอฟริกา  โดยฝีดาษวานร ถือเป็น DNA VIRUS  ติดต่อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่ง  น้ำมูก น้ำลาย น้ำในตุ่มฝีหนอง น้ำเหลือง หรือ น้ำต่างๆของร่างกาย  ระยะฟักเชื้อ 7-21 วัน หรือ ประมาณ 3  สัปดาห์  โดยตุ่มที่เกิดขึ้นตามร่างกาย สามารถขึ้นได้ทั่วตัว

     ตุ่มมี 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 มีตุ่มแดงขึ้น  ระยะที่2 ตุ่มพัฒนากลายเป็น ตุ่มนูน  ระยะที่ 3 ตุ่มกลายเป็นหนอง และระยะที่ 4 ตุ่มแตก ซึ่งการแพร่เชื้อและติดต่อจะเกิดในระยะที่ 3 และ  4  โดยทั่วไปโรคนี้สามารถหายได้เอง หรือใช้การรักษาตามอาการ สำหรับคนที่จะมีอาการรุนแรง ได้แก่ คนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ  รับประทานยากดภูมิในคนรักษามะเร็ง หรือ ปลูกถ่ายอวัยวะ  เด็กเล็กอายุต่ำว่า 8 ปี  และหญิงตั้งครรภ์

       “โรคฝีดาษวานร  มีไข้ ปวดเมื่อยศีรษะตามร่างกาย ปวดหลัง และอาการเด่นชัดต่อมน้ำเหลืองโต  รักษาเน้นประคับประคอง จัดอยู่ในกลุ่มโรคที่มีลักษณะของตุ่มน้ำตามผิวหนัง ใกล้เคียงหลายโรค  ซึ่งแนวทางการแยกโรค จะมีการประชุมของกรมการแพทย์ และสรุปส่งให้ทาง EOCกระทรวงสาธารณสุขพิจารณาต่อไป”พญ.นฤมลกล่าว   
      ขณะที่ พญ.ชรัฐพร จิตรพีระ ผู้แทนกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  สถานการณ์ทั่วโลกข้อมูล ณ วันที่ 24 ก.ค.2565 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยยืนยันตั้งแต่ 7 พ.ค.2565 จำนวน  16,314 ราย จาก  71 ประเทศ เพิ่มขึ้นราวสัปดาห์ละ 3,000-4,000 ราย ส่วนใหญ่จะเจอแถบยุโรปที่เป็นต้นตอของการระบาดในรอบนี้ และทวีปอเมริกาเหนือและใต้  ส่วนแนวโน้มแถบแอฟริกามีรายงานผู้ป่วยตลอดดเวลาเพราะเป็นโรคประจำถิ่น ส่วนทิศทางในยุโรปเริ่มเป็นขาลงแต่อเมริกายังมีผู้ป่วยมากขึ้น ส่วนประเทศไทยมีรายงานผู้ป่วยยืนยัน 1 ราย เป็นชายชาวไนจีเรีย 
      ข้อมูลทางระบาดวิทยาของผู้ป่วยฝีดาษวานรที่มีการระบาดรอบนี้  ณ วันที่ 22 ก.ค.2565  ส่วนใหญ่ผู้ป่วยในการระบาดครั้งนี้ 77.2 % เป็นผู้ป่วยชายอายุระหว่าง  18-44 ปี  จากข้อมูล 10,141 รายที่มีข้อมูลสมบูรณ์ของอายุ พบว่า มีผู้ป่วยอายุน้อยกว่า  17 ปี จำนวน 72 ราย โดยมี 23 ราย อายุน้อยกว่า  4 ปี   เป็นการบอกว่ามีการติดไปในเด็กด้วย
          ส่วนประวัติอื่นๆ  เรื่องรสนิยมทางเพศ จากข้อมูล 3,506 รายที่มีความสมบูรณ์ของตัวแปรนี้  พบว่า  98.1 % ระบุว่าเป็นชายมีเพศสัมพันธ์กับชาย(MSM) ในผู้ป่วยที่เคยตรวจหาการติดเชื้อเอชไอวี พบว่า  39.6 % มีผลบวกต่อเอชไอวี  ผู้ป่วย 253 รายเป็นบุคลากรทางการแพทย์แต่ส่วนใหญ่ติดมาจากในชุมชน สถานที่ที่น่าจะเป็นแหล่งการติดเชื้อ เป็นปาร์ตี้ที่มีกิจกรรมสัมผัสทางเพศ 42.6%

        “การระบาดในครั้งนี้  ผู้ป่วยไม่ได้มีอาการรุนแรง และยังไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิตในการะบาดรอบนี้  ซึ่งอาการและอาการแสดง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการ 6,589 ราย มีอาการผื่น 88 % ส่วนใหญ่เป็นผื่นที่อวัยวะเพศประมาณ 30-40 %  มีไข้ 44 % มีต่อมน้ำเหลืองโต 27 % อ่อนเพลีย 21.1 % ปวดศีรษะ 19.3 %”พญ.ชรัฐพรกล่าว      
       นิยามผู้ป่วยสงสัยโรคฝีดาษวานร คือ ผู้ที่มีอาการ 1.ไข้ หรือให้ประวัติมีไข้ ร่วมกับอาการอย่างน้อย 1 อย่างต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดสีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดหลัง ต่อมน้ำเหลืองบวมโต หรือ 2.มีผื่นหรือตุ่มที่ผิวหนัง หรือเคยมีผื่นหรือตุ่มกระจายตามใบหน้า ศีรษะ ลำตัว อวัยวะเพศและรอบทวารหนัก แขน ขา หรือฝ่ามือฝ่าเท้า เป็นผื่นหรือตุ่มลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด 

       ร่วมกับมีประวัติเชื่อมโยงทางระบาดวิทยา ภายใน  21 วันที่ผ่านมา ดังนี้  1.มีประวัติเดินทางมาจากหรืออาศัยอยู่ในต่างประเทศและแพทย์ให้การวินิจฉัยสงสัยโรคฝีดาษวานร หรือ2.มีประวัติเดินทางไปเข้าร่วมงานหรือกิจกรรมที่เคยมีการรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรหรือมีอาชีพที่ต้องสัมผัสคลุกคลีกับผู้เดินทางจากต่างประเทศหรือ3.มีประวัติสัมผัสาสัตว์ฟันแทะ หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กที่มีต้นกำเนิดมาจากทวีปแอฟริกา มีการเก็บตัวอย่างส่งตรวจทางห้องแล็ป 2 แห่งในระยะแรกเพื่อยืนยันผล