สสจ.ภูเก็ต เผยผลแล็บสัมผัสเสี่ยงสูงผู้ป่วยฝีดาษลิง เป็นลบทั้งหมด

สสจ.ภูเก็ต เผยผลตรวจตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูงชายไนจีเรียป่วยฝีดาษลิง จำนวน 19 ราย เป็นลบทั้งหมด กักตัว 21 วัน เก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่งเมื่อครบกำหนด

สืบเนื่องจากเจ้าหน้าด้านสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ตได้ลงพื้นที่เชิงรุก เพื่อติดตามค้นหาผู้สัมผัสใกล้ชิดเพิ่มเติมในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงชายชาวไนจีเรีย ซึ่งป่วยฝีดาษวานรรายแรกที่พบในประเทศไทย เพิ่มเติม จาก 6 สถานที่ ส่วนใหญ่จะเป็นที่พัก หรือสถานที่ที่ชายคนดังกล่าวไปใช้บริการ จำนวน 19 ราย และมีการส่งตัวอย่างไปทำการตรวจหาเชื้อในห้องปฏิบัติ ล่าสุดวันนี้ (25 ก.ค.65) นพ.กู้ศักดิ์ กู้เกียรติกูล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวถึงผลการเก็บตัวอย่างผู้สัมผัสเสี่ยงสูง (High-Low risk contact) จำนวน 19 ราย ไปส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ว่า ผลตรวจออกมาเป็นลบทั้ง 19 ราย แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีการติดตามอาการอย่างใกล้ชิด โดยเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์จะทำการโทรศัพท์ไปสอบถามอาการทุก 7 วัน 14 วันและ 21 วัน หลังจากที่กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงดังกล่าวกักตัวครบ 21 วันแล้ว จะมีการเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการอีกครั้งหนึ่ง
 

อย่างไรก็ตามนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต ยังได้ขอความร่วมมือประชาชนอย่าตื่นตระหนก เนื่องจากโรคฝีดาษวานรติดต่อกันได้ยากกว่าโรคโควิด-19 ส่วนใหญ่ติดเชื้อจากการสัมผัสใกล้ชิดโดยตรงกับผู้ที่มีอาการโรคฝีดาษวานร ซึ่งมีตุ่มน้ำใสหรือตุ่มหนองที่ผิวหนังตามตัว รวมทั้งการสัมผัสเมื่อมีเพศสัมพันธ์ การป้องกันฝีดาษวานรทำได้โดยสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือให้บ่อย เลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ตา จมูก และปาก ระวังสัตว์กัดหรือข่วน ไม่ใช้ของร่วมกับผู้อื่น ไม่ใกล้ชิดกับผู้ป่วยฝีดาษลิง

ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมแนวทางเฝ้าระวังโรคฝีดาษวานร หลังองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เป็นระดับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้สามารถสั่งการเฝ้าระวังมีความครอบคลุมทั่วประเทศ
 

สำหรับข้อมูลวัคซีนโรคฝีดาษคนที่องค์การเภสัชกรรมได้เก็บรักษาไว้ตามมาตรฐานเมื่อประมาณ 40 ปีก่อน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้นำมาทดสอบพบว่ายังมีคุณภาพดี หากมีความจำเป็นสามารถนำมาใช้ได้ ส่วนด้านการรักษาพยาบาล โรคนี้ไม่มียารักษาเฉพาะ จึงใช้การรักษาตามอาการ ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะหายได้เอง ซึ่งสถานพยาบาลทุกแห่งสามารถให้การดูแลได้ ไม่จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในห้องความดันลบ และเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์ ทั้งด้านการเฝ้าระวังโรค การป้องกันและการดูแลรักษา ได้มีการสั่งการให้ด่านควบคุมโรคทั่วประเทศประสานงานกับสำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง ให้เพิ่มความระมัดระวังบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงเป็นพิเศษ และโรงพยาบาล คลินิกเอกชนเฝ้าระวัง ผู้ที่มีไข้ผื่นแดง ตุ่มใส ตุ่มหนอง เน้นย้ำมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรอย่างเข้มข้น