ไทยยังไม่ยก "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่ออันตราย ยังไม่เข้านิยาม

ไทยยังไม่ยก "ฝีดาษลิง" เป็นโรคติดต่ออันตราย ยังไม่เข้านิยาม

คกก.วิชาการ โรคติดต่อ ยังไม่ยก “ฝีดาษลิง”จากโรคติดต่อเฝ้าระวังเป็นโรคติดต่ออันตราย ยังไม่เข้านิยาม ระบุโรคไม่อันตราย - แพร่ไม่เร็ว กำชับ สธ. คัดกรองให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ระบบการแพทย์สาธารณสุขไทยรองรับได้  จัดทำแนวทางรักษาชัดเจนขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพหากผู้ป่วยมากขึ้น

    จากการที่องค์การอนามัยโลก(WHO) มีการประกาศให้โรคฝีดาษวานร หรือฝีดาษลิง เป็นสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)ไทยได้มีการยกระดับศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษวานร(EOC)จากระดับกรมควบคุมโรคเป็นระดับกระทรวง  รวมถึง  มีการประชุมของคณะกรรมการวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพื่อพิจารณาว่าจะมีการยกระดับโรคฝีดาษวานรในประเทศไทยจากที่ประกาศเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่ 

ล่าสุด เมื่อเวลา 17.30 น.วันที่ 25 ก.ค.2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการวิชาการ ตามพ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558ว่า โดยสรุปคณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับการดำเนินงานของ สธ.ที่มีการยกระดับศูนย์EOC จากระดับกรมเป็นระดับกระทรวง และมีคำแนะนำในเรื่องของการเฝ้าระวัง และให้มีการคัดกรองให้ครอบคลุมทุกกลุ่มครบถ้วน  เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน ทั้งนี้ระบบสุขภาพ ด้านการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศไทยถือว่าสามารถรองรับได้สำหรับโรคฝีดาษวานรภายใต้ศักยภาพที่มีอยู่

    “ส่วนกรณีโรคฝีดาษวานรที่ประกาศให้เป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังอยู่และจะเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือไม่นั้น เนื่องจากพ.ร.บ.โรคติดต่อพ.ศ.2558 นิยามกำหนดไว้ว่า โรคติดต่ออันตรายต้องมีอาการรุนแรง และแพร่ได้ง่าย รวดเร็ว ซึ่งโรคฝีดาษวานรยังไม่เข้านิยามนี้ คณะกรรมการวิชาการฯ จึงเห็นชอบให้คงการเป็นโรคติดต่อเฝ้าระวังต่อไปก่อน ส่วนด้านการรักษา ได้มีการมอบหมายกรมการแพทย์ในการดำเนินการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ในเรื่องการดูแลรักษาต่อไป โดยให้ทำแนวทางการรักษาให้ชัดเจนขึ้น เพื่อให้การดำเนินการมีประสิทธิภาพมากขึ้น รองรับหากกรณีที่มีผู้ป่วยมากขึ้น”นพ.จักรรัฐ กล่าว

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสถานการณ์โรคฝีดาษวานรในประเทศไทย ขณะนี้ยังพบผู้ป่วยยืนยันเพียง 1 ราย เป็นชายอายุ 27 ปี ชาวไนจีเรีย ที่ตรวจเจอที่ จ.ภูเก็ต ซึ่งต่อมาได้หลบหนีออกนอกประเทศไทยไปแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบสายพันธุ์โรคฝีดาษวานรของผู้ป่วยยืนยันรายนี้ เป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก ซึ่งมีความรุนแรงน้อยกว่าอีกสายพันธุ์คือ แอฟริกากลาง  แต่เมื่อตรวจสอบสายพันธุ์ย่อย พบว่า แม้สายพันธุ์หลักจะตรงกับสายพันธุ์ที่มีการระบาดในหลายประเทศอยู่ขณะนี้ แต่สายพันธุ์ย่อยนั้นคนละสายพันธุ์กัน  

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์