"ปลดล็อกกรุงเทพฯ" เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

"ปลดล็อกกรุงเทพฯ" เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

"กสศ." เปิดเวทีระดมข้อเสนอแก้ปัญหาการศึกษา สู่ข้อเรียกร้องต่อว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้ง "ผู้ว่าฯ กทม." 2565

ใกล้เข้ามาสำหรับการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) คนใหม่ในวันที่ 22 พ.ค.2565 ซึ่งนโยบายด้านการศึกษาถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญ และเป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ท้าทายผู้ที่จะมานั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม. แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่เป็นปัญหาสะสมมานานหลายปี

ล่าสุดสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ได้จัดเวทีเสวนา “ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” เพื่อนำไปสู่การเสนอข้อเรียกร้องต่อว่าที่ผู้สมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.

"ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค" รักษาการผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) กล่าวว่า เรื่องความเหลื่อมล้ำของกรุงเทพฯ หรือแม้แต่เมืองใหญ่เมืองอื่นในประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาของเด็กและเยาวชนที่มีมานาน โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจในภาวะวิกฤตผู้ปกครองต้องตกงานหรือโยกย้ายถิ่นฐานจากจังหวัดอื่น ๆ เข้ามาอยู่เมืองใหญ่ หรือแม้แต่เมื่อเกิดวิกฤตแล้วพ่อกับแม่ต้องย้ายออกจากเมืองใหญ่กลับไปบ้านเกิดที่ต่างจังหวัด ทำให้กระทบการเรียนของเด็ก และกระทบต่อการดำรงอยู่ของระบบการศึกษา ความต่อเนื่องและความแตกต่างระหว่างโรงเรียน โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงในกรุงเทพฯ หรือโรงเรียนที่ขาดแคลนทรัพยากรที่อยู่ในชุมชนยากจน

“เพราะฉะนั้นทำให้เห็นภาพความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา เรื่องของทรัพยากรในโรงเรียนและคุณภาพของเด็กเรียกได้ว่ากรุงเทพฯ ก็ไม่ได้แพ้เมืองอื่น ๆ ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำเลย” ดร.ภูมิศรัณย์ กล่าว

\"ปลดล็อกกรุงเทพฯ\" เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา งานเสวนา : ปลดล็อกกรุงเทพฯ เมืองหลวงแห่งความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา

ดร.ภูมิศรัณย์ ยังเปิดเผยอีกว่า จากข้อมูลกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ระบุว่าจากสถานการณ์ของโควิดส่งผลต่อสวัสดิการของเด็กและผู้ปกครองค่อนข้างมาก มีเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษในช่วงโควิดเพิ่มขึ้นประมาณ 3 แสน คน และรายด้ายตัวครัวเรือนของเด็กลดลงจากประมาณ 1,200 บาท ต่อคน ต่อเดือน ลดลงเหลือประมาณ 1,000 บาท

ขณะที่ "ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ" ผู้อำนวยการศูนย์วิชาการและเครือข่ายวิชาการด้านเด็ก เยาวชน และครอบครัว คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่าหากมองกรุงเทพฯ ให้เป็นเหมือนประเทศไทย ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ยิ่งมีสถานการณ์โควิด ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำหนักสุด ดังนั้นข้อเท็จจริงของกรุงเทพฯ จากการลงพื้นที่จริงและร่วมงานกับ NGO ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ครอบครัวยากจนและเด็กด้อยโอกาส กลุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเด็กเร่ร่อน แรงงานเด็ก เด็กที่ท้องก่อนวัยอันควร เด็กในชุมชนแออัด เด็กกลุ่มชาติพันธุ์ อยู่ในกรุงเทพฯ ทั้งหมด

“ผมยืนยันว่าเด็กพวกนี้ออกกลางเทอมมากกว่าครึ่ง เพราะระบบการศึกษาไทยเป็นเครื่องมือในการสร้างหรือเพิ่มความเหลื่อมล้ำ หรือว่าเป็นตัวลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา” ศ.ดร.สมพงษ์ ระบุ

นอกจากนี้ ศ.ดร.สมพงษ์ ยังกล่าวว่าถ้ากรุงเทพฯ หรือว่าประเทศไทยเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา จึงมักจะพบคำเหล่านี้ อาทิ การศึกษาเพื่อความเป็นเลิศ การศึกษาที่เน้นเรื่องมาตรฐาน เรื่องคุณภาพ เรื่องประสิทธิภาพ เพราะหากไปดูในแผนการศึกษาชาติ แผนการศึกษาของ กทม. ล้วนมีคำเหล่านี้ ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ทำให้คนที่ยากจนไปไม่ถึงเรื่องความเป็นเลิศ หรือไปไม่ถึงเรื่องคุณภาพมาตรฐาน และประสิทธิภาพ แต่ตกหล่นอยู่ช่วงรอยต่อ ป.6 ม.1 ม.3 และกลายเป็นคนหาเช้ากินค่ำเกิดชุมชนย่อย ๆ ที่ส่งต่อเรื่องความยากจน หรือชุมชนที่ส่งต่อในเรื่องของการขายแรงงาน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทั่วกรุงเทพฯ แต่ไม่มีใครใส่ใจดูแล หากจะใช้คำว่าปลดล็อก กทม.จะต้องใช้คำว่า "ปลดแอกการศึกษา กทม." ออกจากการศึกษากระทรวงศึกษาธิการให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะยิ่งทำให้เกิดความแตกต่างและความเหลื่อมล้ำมากขึ้น จึงต้องอาศัยผู้ว่าฯ กทม.ที่มีวิสัยทัศน์ทางการศึกษามาแก้ปัญหานี้

ด้าน รศ.ดร.สมสิริ รุ้งอมรรัตน์ รองคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายว่าการแก้ปัญหาการศึกษาตั้งแต่ต้นทางหมายถึงแก้ที่จุดเริ่มต้นของการศึกษา ในเรื่องการศึกษาเด็กปฐมวัยคือแรกเกิดถึง 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงวัยที่สำคัญที่สุดของชีวิต เพราะทุกอย่างเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วถือว่าเป็นเวลาทองของเด็ก และช่วง 2 – 6 ปี จะเป็นช่วงเวลาที่เข้าไปสู่สถานพัฒนาเด็กปฐมวัย อาทิ ถ้าเป็นของ กทม. จะเรียกว่าศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน นอกจากนี้ยังมีโรงเรียนอีกหลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็น เอกชน รัฐบาล นานาชาติ และโรงเรียนสาธิต

รศ.ดร.สมสิริ กล่าวว่า สำหรับเป้าหมายของการดูแลเด็ก ต้องมีพยาบาลเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพื่อมีเป้าหมายการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย ให้เด็กมีความพร้อม และเข้าสู่ชั้นประถมศึกษาอย่างมีคุณภาพ

“ศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนของ กทม. เท่าที่ศึกษามา 290 กว่าแห่ง บางส่วนได้รับการถ่ายโอนมาจากสถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน และให้สำนักพัฒนาสังคมแต่ละเขตเป็นผู้ดูแล ซึ่งสำนักพัฒนาสังคม กทม. ต้องดูแลคนตั้งแต่แรกเกิดจนถึงผู้สูงอายุทำให้มีหน้าที่ไม่ตรงจุดเพราะต้องดูแลหลายอย่าง” รศ.ดร.สมสิริ กล่าว

จากข้อสรุปโดยรวมของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษานั้นส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันในเรื่องของความเหลื่อมล้ำของสังคมในเมืองหลวง เป็นส่วนสำคัญทำให้การศึกษาของเด็กและเยาวชนได้รับความเหลื่อมล้ำไปด้วย

ดังนั้นวิธีการแก้ปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นที่มีการเสนอมาแล้วในข้างต้น หรือวิธีการแก้ปัญหาอื่น ๆ ถือว่าเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่อย่างแน่นอน