ไขข้อสงสัย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" คัดกรอง วินิจฉัย รักษาได้จริงหรือ

ไขข้อสงสัย "มะเร็งลำไส้ใหญ่" คัดกรอง วินิจฉัย รักษาได้จริงหรือ

"โรคมะเร็ง" นับเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญของไทย อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน "มะเร็งลำไส้ใหญ่" มีวิวัฒนาการการรักษาที่ดีขึ้น ทั้งป้องกัน รักษา หรือเป็นมากแล้วก็ยังมีโอกาสรักษาให้หายได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญ เมื่อเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แล้ว คือ การรักษาที่ถูกต้อง 

เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 65 "รศ.พญ.สติมัย อนิวรรณน์" หน่วยโรคทางเดินอาหาร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวในงาน ประชุมวิชาการในหัวข้อ “มะเร็งลำไส้ใหญ่ ใส่ใจป้องกันรักษาได้” ครั้งที่ 2 จัดโดย คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ร่วมกับ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยอธิบายว่า ลำไส้ใหญ่ เปรียบเหมือนท่อน้ำที่นิ่ม เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ผิดปกติ จากเนื้องอก สู่เนื้อร้าย ดังนั้น การวินิจฉัยโดยการซักอาการ ตรวจร่างกาย และผลเลือด ยังไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นมะเร็งลำไส้หรือไม่ แต่ต้องการการตรวจที่มีความไว ได้แก่ การตรวจอุจจาระ การเอกซเรย์ แต่ทั้งสองสิ่งนี้ต้องมายืนยันผลตรวจอีกครั้งด้วยการส่องกล้อง

 

ตรวจหา "มะเร็งลำไส้ใหญ่" ได้ด้วยวิธีใดบ้าง

 

การตรวจอุจจาระหาเลือดแฝง ด้วย Rapid Test ตรวจด้วยตัวเอง และ Quantitative Test ที่โรงพยาบาล โดยความแม่นยำ ได้แก่ มะเร็งลำไส้ ความไว 79% แปลว่า หากเป็นมะเร็งจะมีโอกาสหามะเร็งไม่เจอกว่า 20% , ตรวจเนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 22% และผลบวกลวง แต่ลำไส้ปกติ 6%

การตรวจอุจจาระหาเลือดแฝงและเซลล์อักเสบอื่นๆ พบว่า ความแม่นยำสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ยังใกล้เคียงเดิม คือ ความไว 80% , เนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไวเพิ่มขึ้น 81% แต่เมื่อดูผลบวกลวง คือ ผลบวกแต่มาตรวจลำไส้แล้วปกติ เพิ่มขึ้นกว่า 54%

 

ขณะเดียวกัน ในต่างประเทศ มีการตรวจอุจจาระ หาเลือดแฝงและดีเอ็นเออื่นๆ พบว่า ประสิทธิภาพการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นเป็น 92% เนื้องอกลำไส้ ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 42% และ ผลบวกลวงอยู่ที่ 12% 

 

ส่องกล้องลำไส้เสมือจริงด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ วิธีคือ ทานยาระบายเพื่อล้างลำไส้ ถัดมา คือ ใส่สายยางเป่าลมเข้าทางทวารหนัก เข้าเครื่องสแกนท่านอนหงายและนอนคว่ำ และมีโปรแกรมสร้างภาพลำไส้ 3 มิติ เมื่อดูประสิทธิภาพ พบว่า การวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ ความไว 96% เนื้องอกลำไส้ขนาดเกิน 1 ซม. ความไว 90% และผลบวกลวง 14%

 

กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ วิธี คือ ทานยาระบายเพื่อล้างลำไส้ กลืนกล้องแคปซูลและติดเครื่องรับสัญญาณภาพ ทานยาระบายเป็นระยะๆ นาน 8-10 ชั่วโมง และถอดสัญญานภาพเข้าโปรแกรมวิดีโอ ประสิทธิภาพ ความไวในการวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ใหญ่ 93% เนื้องอกลำไส้ 1 ซม. ความไว 91% และ ผลบวกลวง 3%

 

ส่องกล้องลำไส้ใหญ่ เป็นการวินิจฉัยที่เป็นมาตรฐานสูงสุด สามารถวินิจฉัยมะเร็งลำไส้ ความไว 100% และ เนื้องอกลำไส้ 1 ซม. ความไว 95%

 

แต่เดิมเรามีแค่กล้องธรรมดาในการส่อง ขณะที่ ปัจจุบัน มีการติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง เพื่อคลี่ลำไส้ ให้เห็นติ่งเนื้อที่ซ่อนในผนังลำไส้ นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด และ การรวมทั้ง 2 เทคนิคเข้าด้วยกัน เมื่อเทียบประสิทธิภาพ พบว่า

  • กล้องมาตรฐาน ค้นหาติ่งเนื้อเจอ 47%
  • ติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง ค้นหาเจอ 52.8%
  • เทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด 51.2%
  • ติดปีกซิลิโคนที่ปลายกล้อง + เทคโนโลยีการปรับสีให้คมชัด ค้นหาเจอ 57.2%

นอกจากนี้ ยังมี เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยหาติ่งเนื้อ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ช่วยให้การตรวจแม่นยำมากขึ้น ณ ปัจจุบัน ได้ร่วมมือกับ ทีมงาน ผศ.ดร.พีรพล เวทีกุล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์เรียกว่า DEEP GI

 

สรุปความไวในการตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่ 

  • ส่องกล้องลำไส้ 100%
  • ส่องกล้องลำไส้เสมือนจริง 96%
  • กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ 93%
  • อุจจาระหาเลือดและดีเอ็นเอ 92%
  • อุจจาระหาเลือดแฝง 79%

 

ความไวในการตรวจหาติ่งเนื้อลำไส้

  • ส่องกล้องลำไส้ 95%
  • ส่องกล้องลำไส้เสมือนจริง 90%
  • กล้องแคปซูลลำไส้ใหญ่ 91%
  • อุจจาระหาเลือดและดีเอ็นเอ 42%
  • อุจจาระหาเลือดแฝง 22%

 

สัญญานอันตราย ที่ควรตรวจมะเร็งลำไส้

 

นพ.ฐิติเทพ ลิ้มวรพิทักษ์ หน่วยศัลยศาสตร์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า การตรวจวินิจฉัยที่สำคัญ คือ การส่องกล้องลำไส้ใหญ่ ข้อดีคือ เห็นรูปร่างหน้าตาของก้อนมะเร็งชัดเจน และในกรณีที่มีก้อนมะเร็งมากกว่า 1 ก้อน ก็สามารถดูได้ และสามารถนำเนื้อไปตรวจ หรือ ตัดติ่งเนื้อในระยะก่อนเป็นมะเร็งได้ นอกจากการตรวจคัดกรองแล้ว สัญญานอันตรายอะไรบ้างที่ควรมาตรวจมะเร็งลำไส้ ได้แก่

  • ถ่ายเป็นเลือด ถ่ายเป็นมูก
  • ขับถ่ายผิดปกติ ท้องผูกสลับกับท้องเสีย อุจจาระลีบเล็ก
  • อ่อนเพลีย ซีด ความเข้มข้นของเลือดต่ำ
  • ปวดท้องเรื้อรัง
  • คลำได้ก้อนหน้าท้อง
  • เบื่ออาหาร น้ำหนักลด

 

การลุกลามของมะเร็งลำไส้ใหญ่

เนื่องจากมะเร็งเป็นเนื้อร้าย ที่ลุกลาม แพร่กระจาย โดยหลักๆ แล้วจะมี 3 วิธี คือ

  • ลุกลามไปอวัยวะข้างเคียง
  • แพร่กระจายไปต่อมน้ำเหลือง
  • แพร่กระจายไปทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการกระจายไปยังอวัยอื่นๆ ที่อยู่ไกลออกไป ทำให้ระยะของโรคเป็นมากขึ้น

 

การตรวจเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน การส่องกล้องยังไม่สามารถบอกระยะลุกลามของโรคได้ ดังนั้น จึงต้องเพิ่มเติมการตรวจทางรังสีวิทยา ได้แก่

  • CT Scan ทรวงอกและช่องท้อง มีความไวเพียงพอและรายละเอียดชัดเจน รวมถึงสามารถเห็นการแพร่กระจายไปที่ตับได้ และช่วงอกเมื่อมีการแพร่กระจายไปที่ปอด
  • MRI อุ้งเชิงกราน มักจะใช้กรณีที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย หรือลำไส้ตรง จะให้รายละเอียดที่ชัดเจนขึ้น

 

ระยะของมะเร็งลำไส้ใหญ่

  • ระยะต้น (Stage 1-2) ถือเป็นระยะต้น มะเร็งจำกัดแค่ในผนังลำไส้ หรือนอกลำไส้เล็กน้อย ลุกลามเข้าสู่อวัยวะข้างเคียงได้แต่ยังไม่กระจายไปส่วนอื่น
  • ระยะลุกลาม (Stage 3) มีการลุกลามของมะเร็งลำไส้ไปยังต่อมน้ำเหลืองที่รับของเสียจากลำไส้
  • ระยะแพร่กระจาย (Stage 4) ลุกลามไปยัง ตับ ปอด กระดูก หรือ อวัยวะอื่นๆ

 

การผ่าตัดรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่

มีบทบาทในทุกระยะ ได้แก่

 

1. ผ่าตัดเฉพาะเยื่อบุลำไส้ใหญ่

  • ผ่านการส่องกล้อง ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยเป็นมะเร็งระยะต้นไม่เกินผนังลำไส้ จะทำการตัดลอกเนื้อมะเร็งออก ซึ่งใช้ได้ในบางกรณี และบุคคล
  • ผ่านทางทวารหนัก กรณีนี้ก้อนมะเร็งต้องอยู่ใกล้ปากทวารหนัก ใช้ได้ระยะที่ 1 ในบางกรณีเท่านั้น

 

2. ผ่าตัดลำไส้ใหญ่ผ่านทางช่องท้อง

  • ผ่าตัดแบบเปิด เป็นมาตรฐานผ่าตัดทั่วไป ข้อเสียคือ ต้องผ่าตัดใหญ่ นาน ลำไส้ต้องออกมาเจออากาศเยอะ ลำไส้กลับมาฟื้นตัวช้า แผลใหญ่ เจ็บเยอะ
  • ผ่าตัดผ่านกล้อง รพ.จุฬาลงกรณ์ ใช้วิธีนี้เป็นหลัก โดยใช้เครื่องมือส่องกล้องเข้าหน้าท้องให้ท้องพองเพื่อให้มีพื้นที่ในการผ่าตัดมากขึ้น โดยมีเครื่องมือเป็นไม้ยาวๆ เข้าไปเพื่อทำการผ่าตัดต่อลำไส้ ลำไส้โดนอากาศน้อย แผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว

3. การผ่าตัดแบบเก็บหูรูดทวารหนัก ทำได้ในบางกรณี

4. การผ่าตัดเปิดทวารเทียม

ใช้ใน 3 กรณีหลัก ได้แก่

  • แก้ไขภาวะลำไส้อุดตัน
  • เปิดชั่วคราวหลังผ่าตัด
  • ทวารเทียมถาวร

ทั้งนี้ การป้องกันรักษา หากตรวจเจอตั้งแต่เป็นติ่งเนื้อ ยังไม่พัฒนาเป็นมะเร็งลำไส้ การรักษาก็สามารถตัดออกทางกล้องได้เลย ไม่ต้องมีแผลหน้าท้อง ไม่ต้องมีทวารเทียมหน้าท้อง ดังนั้น สามารถคัดกรองก่อนได้

 

รังสีรักษา กับมะเร็ง

 

นพ.เพชร อลิสานันท์ หน่วยรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย อธิบายว่า รังสีรักษา คือ การใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายสารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็งที่ทำหน้าที่ควบคุมการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง ไม่ร้อน ไม่มีความรู้สึก การรักษามะเร็งทวารหนักนิยมใช้การฉายรังสีภายนอก (External beam radiation therapy : EBRT)

 

ปัจจุบัน การฉายรังสีจากภายนอกสามารถเล็งเป้าหมายในร่างกายผู้ป่วยได้แม่นยำ ความคลาดเคลื่อนเพียง 1 มิลลิเมตร โดยมีหลักการสำคัญ เพื่อให้เซลล์มะเร็งได้ปริมาณรังสีมากพอเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง และเซลล์ปกติได้รับปริมาณรังสีให้น้อยที่สุด เพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา เซลล์ปกติส่วนมากสามารถฟื้นตัวหลังจากรังสีได้ดี ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะดีขึ้นหลังจากฉายรังสีไม่กี่สัปดาห์

 

บทบาทของรังสีรักษาในมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งทวารหนัก

  • ผู้ป่วยมะเร็งประมาณ 50% ได้รับการรักษาด้วยการฉายรังสี
  • ในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก รังสีรักษามีบทบาทมากในมะเร็งทะวารหนัก

 

ข้อบ่งชี้สำหรับรังสีรักษาในมะเร็งทวารหนัก ได้แก่

  • เป็นการรักษาหลักสำหรับมะเร็งปลายทวารหนัก (Anal cancer)
  • เป็นการรักษาเสริมก่อนการผ่าตัดมะเร็งทวารหนักเพื่อลดขนาดของก้อนมะเร็ง
  • เป็นการรักษาเสริมหลังการผ่าตัด กำจัดเซลล์มะเร็ที่อาจจะหลงเหลือและป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำ
  • อาจจะใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด เพื่อเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค
  • ใช้เพื่อการรักษาแบบประคับประคองในผู้ป่วยระยะแพร่กระจายเพื่อลดอาการเฉพาะที่ เช่น ปวด การกระจายไปที่ปอด หรือตับ

 

การฉายรังสีแต่ละครั้งเป็นอย่างไร

  • ผู้ป่วยจะได้รับการจัดท่าที่เหมาะสมบนเตียงสำหรับฉายรังสีโดยนักรังสีเทคนิค
  • เครื่องฉายรังสีจะหมุนรอบตัวผู้ป่วยเพื่อปล่อยรังสีไปยังเป้าหมายจากหลายทิศทาง
  • การรักษาส่วนมากจะทำ 5 ครั้งต่อสัปดาห์ วันจันทร์ – ศุกร์
  • ใช้เวลาครั้งละ 15-20 นาที
  • สำหรับมะเร็งทวารหนักจะมีการฉายรังสีจำนวน 25-28 ครั้ง หรือในบางรายอาจจะได้รับรังสี 5 ครั้ง
  • ระหว่างทำการฉายรังสีผู้ป่วยจะไม่รู้สึกเจ็บปวดหรือร้อนจากการฉายรังสี
  • ในแต่ละครั้งที่รับการรักษาผู้ป่วยจะนอนอยู่บนเตียง และสามารถสื่อสารกับทีมรักษาพยาบาลได้ตลอดเวลาผ่านไมโครโฟนและกล้องวงจรผิด

 

ผลข้างเคียงจากการฉายรังสี

โดยทั่วไปผู้ป่วยจะพบแพทย์สัปดาห์ละครั้งเพื่อติดตามการรักษาและผลข้างเคียง

สำหรับการฉายรังสีในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักอาจจะพบผลข้างเคียง ดังนี้

  • ผิวหนัง : มีความระคายเคืองหรือผิวแห้งบริเวณที่โดนรังสี แผลบริเวณนี้อาจจะหายช้า
  • คลื่นไส้
  • ถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น รู้สึกระคายเคืองเวลาถ่ายอุจจาระ
  • ปัสสาวะขัด
  • อ่อนเพลีย

ผลข้างเคียงส่วนใหญ่จะดีขึ้นและหายได้ในไม่กี่สัปดาห์หลังจากรักษาครบ

 

เนื่องจากมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จะใช้การรักษาด้วยรังสีร่วมกับการผ่าตัด เป็นการฉายรังสีเพื่อให้ก้อนมะเร็งเล็กลง ดังนั้น ปริมาณรังสีโดยรวมไม่สูงเท่ากับการฉายรังสีในมะเร็งอื่นๆ ผลข้างเคียงเกิดขึ้นจึงเป็นผลข้างเคียงชั่วคราว

 

ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับรังสี

1. รังสีทำให้เกิดความร้อน

  • ผู้ป่วยไม่รู้สึกร้อนขณะที่กำลังรักษาด้วยรังสี

2. รังสีทำให้ผมร่วง

  • ผมไม่ร่วง ยกเว้นผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณศีรษะเท่านั้น

3. ผู้ป่วยต้องแยกตัวจากผู้อื่นเนื่องจากมีรังสี

  • ไม่ต้องแยกตัวจากผู้อื่นเนื่องจากผู้ป่วยไม่มีการปล่อยรังสี

4. ผู้ป่วยที่ได้รับการฉายรังสีห้ามโดนแดด

  • สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

5. การฉายรังสีใช้สำหรับผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นมากแล้วเท่านั้น

  • รังสีรักษาสามารถใช้ได้ในผู้ป่วยมะเร็งทุกระยะ

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่ กับการรักษาด้วยยา

 

ด้าน พญ.นุสรา ภาคย์วิศาล ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย กล่าวว่า การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่ขึ้นกับปัจจัยหลักที่สำคัญ 2 ปัจจัย ได้แก่ ปัจจัยของตัวโรคมะเร็ง คือ ระยะของโรคมะเร็ง และ ปัจจัยของผู้ป่วย ได้แก่ สมรรถภาพความแข็งแกร่งของผู้ป่วย รวมทั้งโรคอื่นๆ

 

ยารักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก

 

1. ยาเคมีบำบัด

ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์ที่แบ่งตัวเร็วรวมถึงเซลล์มะเร็ง โดยบทบาทของยาเคมีบำบัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ได้แก่

  • การรักษาเสริมหลังการผ่าตัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะที่ 2 ที่มีความเสี่ยงสูง และระยที่ 3
  • ใช้ควบคู่กับการฉายแสงในมะเร็งลำไส้ตรง ระยะที่ 2 และ 3
  • การรักษาหลักในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักในระยะแพร่กระจาย

 

2. ยามุ่งเป้า

จัดเป็นยาชีววัตถุ (Biological product) คือ ยาที่ผลิตขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพ ออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในระดับโมเลกุล ซึ่งในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมียาสำคัญ 2 กลุ่ม ได้แก่

  • Anti-VEGF : ยับยั้งโมเลกุลในการสร้างเส้นเลือดไปเลี้ยงเซลล์มะเร็ง
  • Anti-EGFR : ยับยั้งโมเลกุลที่ส่งสัญญาณในการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง โดยใช้ยา Anti-EGFR มีความจำเป็นต้องนำชิ้นเนื้อมาตรวจการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน เพื่อประเมินโอกาสในการตอบสนองต่อการใช้ยาจึงจะสามารถใช้ยาได้

 

ใช้ "ยามุ่งเป้า" ในระยะใด

 

ยามุ่งเป้าในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีบทบาทเฉพาะ ในระยะแพร่กระจายเป็นหลัก เพื่อเสริมประสิทธิภาพของเคมีบำบัด หมายความว่า เคมีบำบัด ยังเป็นหลัก โดยพิจารณาการใช้ ดังนี้ 

1. พิจารณาให้ควบคู่กับยาเคมีบำบัดขนานแรก 

  • ผู้ป่วยที่มีการกระจายของมะเร็งไปที่ตับเพียงอวัยวะเดียว และศัลยแพทย์ประเมินว่ามีโอกาสผ่าตัดก้อนมะเร็งออกได้หม หากก้อนมะเร็งมีขนาดเล็กลง ซึ่งการผ่าตัดออกหมดจะเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ 
  • ผู้ป่วยที่แพทย์ประเมินว่ามีการกระจายของโรคมะเร็งปริมาณมาก โดยช่วยเพิ่มโอกาสในการควบคุมโรค 

2. พิจารณาให้ควบคู่กับยาเคมีบำบัดขนานที่ 2 หรือ 3 

  • ในกรณีที่ไม่สามารถควบคุมโรคมะเร็งด้วยยาเคมีบำบัดขนานแรก

 

3. ยาภูมิคุ้มกันบำบัด

  • เซลล์มะเร็ง นับว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย แต่มะเร็งสามารถหลบหลีกการถูกทำลายจากระบบภูมิคุ้มกัน โดยสร้างสารบางชนิดมาปิดกั้นการทำงานของเม็ดเลือดขาว ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถจำกัดเซลล์มะเร็งได้ 
  • ยาภูมิคุ้มกันบำบัด จะออกฤทธิ์ช่วยทำให้เม็ดเลือดขาวของผู้ป่วยกลับมาทำงาน และจัดการกับเซลล์มะเร็งในร่างกาย 

 

ยาภูมิคุ้มกันบำบัด ใช้ได้ทุกคนหรือไม่

 

การใช้ยาภูมิคุ้มกันบำบัดในมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักมีความจำเป็นต้องตรวจเพิ่มเติมก่อนว่า ผู้ป่วยมีโอกาสตอบสนองต่อการใช้ยาหรือไม่ โดยการตรวจ IHC for MMR protein หรือ MSI testing

 

ปัจจุบัน ยาภูมิคุ้มกันบำบัด มีบทบาทเฉาะในระยะแพร่กระจาย โดย พิจารณา ดังนี้ 

  • พิจารณาเป็นทางเลือกในการให้ยาขนานแรก ในผู้ป่วยที่ตรวจพบ MSI-high รหือ dMMR
  • พิจารณาเป็นยาขนานถัดไป ในกรณีที่ไม่ตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดในผู้ป่วยที่ตรวจพบ MSI-high รหือ dMMR 

 

ทั้งนี้ การรักษามะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก จำเป็นต้องมีทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสหสาขา ได้แก่ 

  • ศัลยแพทย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก: การส่องกล้อง ผ่าตัดลำไส้ ทวารเทียม
  • อายุรแพทย์มะเร็งวิทยา: ยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า ยาภูมิคุ้มกันบำบัด
  • แพทย์รังสีรักษา: การฉายแสง
  • ศัลยแพทย์ด้านตับ: การผ่าตัดตับ
  • แพทย์รังสีวินิจฉัย
  • พยาธิแพทย์
  • พยาบาล

 

มะเร็งลำไส้ใหญ่รักษาได้จริงหรือ 

 

ข้อมูล จาก ศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ โรคมะเร็งครบวงจร รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เกี่ยวกับ ระยะของโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ในระยะแตกต่างกันไป โดยการที่บอกว่าคนๆ หนึ่งรักษาหายขาดหรือไม่ ปกติดูที่อัตราการรอดชีพที่ 5 ปี พบว่า 

  • ระยะต้น (ระยะ 1-2) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 80% 
  • ระยะลุกลามเฉพาะที่ (ระยะ 3) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 60%
  • ระยะแพร่กระจาย (ระยะ 4) อัตราการรอดชีพ 5 ปี อยู่ที่ 20%

"หมายความว่าหากตรวจเจอ โรคมะเร็ง ตั้งแต่ระยะต้น มีโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้มากขึ้น เป็นเหตุผลว่า ทำไมต้องคัดกรอง ทั้งนี้ เนื่องจาก เดือนมีนาคม เป็นเดือนของการตระหนักถึงการเฝ้าระวังมะเร็งลำไส้ใหญ่ ขอให้เน้นเรื่องของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ การคัดกรอง การลดโอกาสการเกิด สำคัญกว่าการเป็นแล้วมารักษา " พญ.นุสรา กล่าวทิ้งท้าย

 

ไขข้อสงสัย \"มะเร็งลำไส้ใหญ่\" คัดกรอง วินิจฉัย รักษาได้จริงหรือ