“ภาวะ Long COVID” เกิดราว 15-30% มากกว่า 50 อาการ

“ภาวะ Long COVID” เกิดราว 15-30% มากกว่า 50 อาการ

จับตา!หลังสงกรานต์ 2565 เห็นชัดข้อบ่งชี้โควิด-19 กลายเป็นประจำท้องถิ่น  ระบุ “ยาฟาวิพิราเวียร์ ”รักษาผู้ป่วยได้ผลดี ส่วนอาการ ”Long COVID” เกิดประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงมากขึ้น

  เมื่อวันที่ 22 มี.ค.2565 ที่ โรงพยาบาลศิริราช ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ว่า ต้องจับตาประเมินสถานการณ์หลังเทศกาลสงกรานต์นี้ ที่จะเป็นจุดบอกว่าประเทศไทยพร้อมหรือไม่ ในการเข้าไปสู่โรคประจำท้องถิ่น ถ้าหากช่วงสงกรานต์ที่เป็นช่วงเสี่ยงสามารถผ่านไปได้ดี คนไทยเข้าใจโรค วิถีชีวิตในช่วงสงกรานต์นี้ที่จะให้เดินทางไปเยี่ยมครอบครัว เดินทางได้ โดยระวังในจุดที่พึงระวัง

      "ถ้าผ่านสงกรานต์ไปด้วยดี คนฉีดวัคซีนมากขึ้น สิ่งที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นในสังคมไทยคือ คนที่หายจากการติดเชื้อเฉลี่ยวันละ 2 หมื่นคน เท่ากับจะมีคนที่มีภูมิคุ้มกันมากเกิดขึ้น ทั้งจากวัคซีน และหายจากโรคมากมายในสังคม เชื่อว่าตอนนั้นจะเห็นข้อบ่งชี้ที่ทำให้โควิด-19 กลายเป็นประจำท้องถิ่น" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

    ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวอีกว่า การใช้ยารักษาผู้ป่วยโควิด-19 อาทิ โมลนูพิราเวียร์ แพกซ์โลวิด ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างการระบาดเดลตา แต่ขณะนี้เป็นโอมิครอน โดยข้อมูลทั่วโลกเห็นตรงกันว่า ผ่านมา 3 เดือนตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย.2564 พบว่า คนฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 โดสแล้วติดโอมิครอน ความรุนแรงของโรคน้อยลงมาก ทั้งนี้ แม้ว่ายา 2 ตัวมีรายงานว่ามีประสิทธิภาพดี แต่ยาฟาวิพิราเวียร์ ก็มีรายงานว่าได้ผลดีเช่นกัน เพียงแต่ไม่ได้พูดถึง มีการพูดถึงแต่ยาใหม่ ถ้าหากโอมิครอนรุนแรงกว่าเดลตา ตนเห็นด้วยที่จะพูดถึงยาใหม่ แต่ขณะนี้เชื้อมีความรุนแรงน้อยกว่า และคนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

"มีกระทั่งคำถามว่า ยายังมีความจำเป็นหรือไม่ เหมือนเป็นหวัด ปกติก็ไม่ได้ทานยา ใช้การพักผ่อนให้มาก เพียงแต่ตอนนี้ยาเหล่านี้เป็นตัวเลือกในกลุ่ม 608 ที่เสี่ยงต่ออาการมาก" ศ.ดร.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

ถามถึงอาการลองโควิด-19(Long Covid) ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้แม้มีการเคลื่อนสู่โรคประจำท้องถิ่น แต่ยังมีคำถามถึงลองโควิด-19 หรือ Post Covid-19 ซึ่งมีการสัมมนาใหญ่ที่สหรัฐ และอังกฤษ พบว่า โดยเฉลี่ยอาการลองโควิดไม่ว่าจากสายพันธุ์ใดเกิดขึ้นประมาณ 15-30% ของคนติดเชื้อ มีมากกว่า 50 อาการตั้งแต่เล็กน้อย ไปจนถึงมากขึ้น โดยข้อสรุปคือ อาการลองโควิดเป็นอาการจริง แต่เดิมที่มีคนตั้งข้อสังเกตว่าอาจเกิดขึ้นจากความกังวล
          ส่วนกลไกเกิดที่เคยคุยกันว่าอาจเกิดจาก 1.ไวรัส หรือ 2.ระบบภูมิคุ้มกันที่มีปฏิกิริยาต่อไวรัส หรือ 3.เรื่องจิตใจ โดยการสัมมนาทั้ง 2 แห่ง เห็นตรงกันว่า น่าจะเกิดจากระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ที่ยังมีการกระตุ้น ทำให้บางคนที่หายแล้วแต่ยังมีการอักเสบในร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการลองโควิด ทั้งนี้ ทั่วโลกกำลังศึกษากลไกการเกิดที่แท้จริง จากการติดตามผู้ป่วยที่หายเป็นระยะ  

     “ส่วนตัวยังพบรายงานเดียวจากการศึกษาแต่ยังไม่ได้รับการยืนยันเพิ่มเติมการศึกษาอื่นๆ ซึ่งพบว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 มีอุบัติการณ์เกิดอาการลองโควิดน้อยกว่าคนที่ไม่ได้ฉีด ซึ่งอาจเป็นหนึ่งในข้อคิดให้คนไปรับวัคซีน ดีกว่าติดเชื้อ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานต่างๆ โดย กระทรวงสาธารณสุข มีการกำหนดตั้งทีมติดตามอาการลองโควิด-19 และเฝ้าติดตามข้อมูลทั่วโลกในแนวทางการรักษาต่อไปด้วย ทั้งนี้ นิยามของลองโควิดคือ หายจากติดเชื้อแล้วแต่มีอาการติดตัวอยู่ บางส่วนขึ้นสมอง บางคนรู้สึกสมองตื้อตลอดเวลา ไม่กระฉับกระเฉง มีรายงานนักกีฬาในอังกฤษ พบว่ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรงเหมือนเดิม”ศ.นพ.ประสิทธิ์ กล่าว

 

 

 

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์